อื่นๆ

ข่าวสาร วัฒนธรรม และเรื่องอื่น ๆ

ยินดีต้อนรับ!

ยินดีต้อนรับทุกท่านนะครับ ผมเริ่มเขียนบทความแนะนำการพูดภาษาอังกฤษในเฟสบุคตั้งแต่ปี 2555 อยากจะเปลี่ยนมาทำเว็บไซต์นานแล้ว ในที่สุด ก็มีแรงบันดาลใจพอ เริ่มทำแล้วก็รู้สึกเรื่องเทคนิคมันเยอะ แต่ก็สนุกดี

ข้อปรับปรุงจากเฟสบุคเพจก็มีคร่าว ๆ ดังนี้ ครับ

  • เริ่มมีเสียง Laughing ผมก็หลีกเลี่ยงมานาน ด้วยความจงใจ สอนคนออกเสียง แต่ดันไม่ส่งเสียง ข้อดีก็คือทำให้พยายามเขียนให้มันละเอียด แต่ข้อเสียก็แน่นอนว่า คนอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง ได้ผลไม่คุ้มค่ากับเวลา  เวบไซต์นี้ก็เริ่มใส่เสียงเสียที ฟังเสียงผมได้ข้างล่างนี้


  • ผมอยากทำให้เป็นเวบของชุมชนนะครับ ไม่ใช่ของผม  ก็อยากจะเลิกเขียนคนเดียวซะที ผมรู้ว่าคนที่เก่งภาษาอังกฤษมีอยู่เยอะ อยากจะเชิญชวนอาสาสมัครนักเขียนมาช่วยกัน ใครที่สนใจก็ติดต่อมาได้
  • เนื้อหาเบื้องต้นก็จะแบ่งเป็นสามกลุ่มนะครับ
    • Blogs: ก็เป็นบทความอิสระ แต่จัดเป็นหมวดหมู่ (category)   หมวดหมู่อาจมีการเปลี่ยนแปลง และเพิ่มเติมในอนาคต ตามที่นักเขียนเห็นว่าเหมาะสม
    • หนังสือ: ก็เป็นเนื้อหาที่เรียบเรียงเป็นลำดับบท ๆ เหมือนหนังสือ เรื่องการออกเสียงที่ผมเริ่มในเฟสบุคก็จะได้รวมรวมมาไว้ที่นี้ และกำลังเขียนเพิ่มเติมให้สมบูรณ์
    • ห้องสนทนา: กระดานสนทนาอิสระ ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน

การทำเว็บไซต์อย่างนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีข้อผิดพลาดทางเทคนิค หรือทางเนื้อหาบ้าง โดยเฉพาะ เราไม่มีเวลาที่จะมาตรวจสอบทุกอย่างให้รัดกุมก่อนเปิดใช้ ก็ถึอว่าผู้ที่เข้ามาใช้แรก ๆ คือคนช่วยตรวจสอบ ใครเห็นอะไรไม่ถูกต้อง หรือมีข้อแนะนำ ก็ขอเชิญส่งข้อคิดเห็นมาได้ ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ

กรุณาอ่านเงื่อนไขการใช้งานเพิ่มเติมที่ About นะครับ

เฟสบุคเพจของเรา ก็จะแปรสภาพกลายเป็นแฟนเพจของไซต์นี้นะครับ ใครใช้เฟสบุคก็สามารถติดตามข่าวคราวได้ที่นั่น ใครไม่ใช้ก็ลองเสนอช่องทางอื่นครับ เดี๋ยวนี้มันมีเยอะเหลือเกิน ผมก็ไม่ทราบว่าคนไทยชอบใช้อะไร

Google

นนี้หุ้นของบริษัท Google ทะลุหนึ่งพันเหรียญสหรัฐเป็นครั้งแรกนะครับ บริษัทนี้ใกล้จะครองโลกขึ้นไปทุกที ทั้งที่อายุเพียงแค่สิบห้าปีเท่านั้น รู้ไหมครับคำว่า เนื่องจากคนส่วนใหญ่ใช้ Google ในการหาข้อมูลในอินเตอร์เนต คำว่า Google ก็ถูกใช้จนกลายเป็นคำศัพท์กริยาใหม่ในภาษาอังกฤษ แปลว่า ค้นหาข้อมูลในอินเตอร์เนตโดยใช้ Google แต่ผมคิดว่า คนบางส่วนที่ไม่ได้ใช้ Google หรือใช้ search engine อื่น ๆ ร่วมด้วย ก็อาจจะเริ่มใช้ศัพท์คำว่า to google บ้างแล้ว (เหมือนคนไทยใช้คำว่า แฟบ หมายถึงผงซักฟอก) ตัวอย่างการใช้เช่น• Let’s google and see if we can find anything on this.

เกรงใจภาษาอังกฤษ พูดว่าอย่างไร

การแปลภาษาไทยเป็นอังกฤษนี่มันมีอันตรายเหมือนกันครับ เพราะ 1) ในสถานการณ์เดียวกัน บางครั้งวิธีพูดแต่ละภาษานั้นไม่เหมือนกันเลย ทั้งที่คนมีความรู้สึกเหมือนกัน 2) ถ้าเรามัวแต่ไปคิดถึงภาษาไทย เราก็จะเกิดอาการพยายามแปลภาษาไทยเป็นอังกฤษ ซึ่งมันทำให้เสีย เวลาผมคิดแปลไทยเป็นอังกฤษทีไร ผมพูดตะกุกตะกักทุกที ทางที่ถูก คือ ต้องคิดเป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็พูดเป็นภาษาอังกฤษ เรียนรู้สำนวนไว้มาก ๆ เรียนรู้วัฒนธรรมไว้มาก ๆ แล้วคำถามที่เหมาะสมกว่าก็คือ ต้องถามว่า สถานการณ์อย่างนี้ ภาษาอังกฤษควรพูดว่าอย่างไร

ตัวอย่างเช่น ชอบได้ยินคนถามว่า เกรงใจ พูดว่าอย่างไรในภาษาอังกฤษ มันก็ไม่มีคำแปลตรง ๆ มีที่ใกล้เคียงก็เช่น to be considerate แต่จริง ๆ แล้วควรถามว่า สถานการณ์อย่างนี้ คนไทยพูดว่าเกรงใจ ภาษาอังกฤษพูดว่าอะไร เช่น ถ้าคนซื้อของมาให้เรามาก ๆ คนไทยก็พูด “โอ้ย เกรงใจ ไม่ต้องก็ได้”

Mr President

พูดถึงคำนำหน้าชื่อ ก็นึกถึงการเรียกคนมีตำแหน่งสูงของอเมริกา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของวัฒนธรรม ขอมาเล่าสู่กันฟังเล่น ๆ

คนไทยเวลาเรียกนายกฯ หรือคนตำแหน่งสูง ๆ ก็มักใช้ว่า พณฯ ท่าน หรือ อย่างน้อยก็ต้องเรียกว่า ท่าน คำว่า พณฯ ท่าน ก็มีคำภาษาอังกฤษว่า Your Excellency (หรือ His/ Her Excellency ถ้ากล่าวถึงบุคคลที่สาม) เวลาเราร่างสุนทรพจน์เป็นภาษาอังกฤษ ก็มักจะใส่คำนี้ลงไปด้วย ก็ไม่แปลกครับ ตามที่ผมเข้าใจ อันนี้เป็นการใช้แบบคนอังกฤษ และยุโรป

คนอเมริกันเวลาเรียกประธานาธิปดีของเขาเอง เขาเรียกว่า Mr President หรือ President แล้วก็ตามด้วยนามสกุล ซึ่งแสดงถึงความเท่าเทียมกัน ถ้าแปลตามตัวอักษรก็คือ คุณประธานาธิปดี หรือ นายประธานาธิปดี ฟังดูแปลก ๆ ไหมครับ เช่นเดียวกัน คนอเมริกันเขาก็จะรู้สึกจักจี้หน่อยเวลาประธานาธิปดีเขาไปต่างประเทศ แล้วมีคนเรียกนำหน้าว่า His Excellency

อ้อ ที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ ถ้าผู้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้หญิง เขาก็ใช้คำนำหน้าว่า Madam (-[แม]-ดัม- แบบอเมริกัน หรือ-[มา]-ดัม- แบบอังกฤษ) ซึ่งเป็นคำที่ให้เกียรติมากกว่า Ms เช่น ตอนคุณคลินตันเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศก็เรียกว่า Madam Secretary (คนอเมริกันเรียก รัฐมนตรีว่า secretary นะครับ) ถ้าสักวันหนึ่งมีประธานาธิปดีหญิง ก็ต้องเรียกว่า Madam President ไม่ใช้ว่า Ms President นะครับ ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าทำไมให้เกียรติผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาจเป็นไปได้ว่า เมื่อก่อนไม่มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ พอมีขึ้นมาก็เลยยกย่องกันหน่อย หรือไม่ก็เพราะคำว่า Miss/Ms นี้เอาไปใช้เรียกในการประกวดนางงามต่าง ๆ ซะหมดแล้ว ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของคำนี้ลดลงไป

บทความอื่นที่เกี่ยวข้อง

Miss, Mrs, Ms

ภาษาอังกฤษมีคำนำหน้าชื่อสตรีว่า Miss (-มิส-) กับ Mrs (-[มิส]-สิซ- หรือ -[มิซ]-ซิซ-) ซึ่งตรงกับภาษาไทยเรา “นางสาว” กับ “นาง” ส่วนคำนำหน้าชื่อบุรุษมีแต่ Mr (-[มิส]-เตอร-) ตรงกับ “นาย”

สอน Phonetics ให้เด็กอนุบาล ?

รูปนี้มาจากหนังสือเรียนภาษาอังกฤษชั้นอนุบาลของเมืองไทย ไปใช้ตัวขยึกขยือ phonetics ทำไมครับ ผมเองก็อ่านไม่ออก เด็กอเมริกันก็อ่านไม่ออก ทำเด็ก กับครู งงและหลงทางกันเปล่า ๆ การออกเสียงภาษาอังกฤษได้ถูกต้องไม่จำเป็นต้องอ่านตัวพวกนี้ได้ ปล่อยเป็นเรื่องของคนเรียนสาขาเฉพาะทางภาษาไปเถอะ

ผมแนะนำว่า ถ้าเด็กเล็กก็ออกเสียงให้เขาฟัง ถ้าเด็กโตก็สอนวิธีออกเสียง และใช้อักขระไทยแทนการเขียนคำออกเสียง

การแก้ปัญหาเด็กเรียนจบประถม มัธยม แล้วพูดภาษาอังกฤษกับฝรั่งไม่รู้เรื่อง ต้องแก้โดยการปรับเปลี่ยนหลักสูตร และวิธีวัดผลให้เน้นการตีความได้ สื่อสารได้ คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน ผมว่าภาษาอังกฤษต้องวัดผลเหมือนการเรียนดนตรี ไม่ใช่ทำข้อสอบได้ก็จบกัน ต้องเล่นดนตรีให้ได้ด้วย การปรับปรุงหลักสูตร ต้องทำพร้อมกับการปรับปรุงคุณภาพครูไทยให้พูดได้อย่างถูกต้อง ได้อย่างมั่นใจ จะเป็นสำเนียงไทยก็ได้ ไม่ต้องไปกลัวว่าเราออกเสียงไม่เหมือนฝรั่งเป๊ะ แต่ควรกลัวว่าเราออกเสียงแบบตามใจฉัน stress ไม่ถูกต้อง ออกเสียง R เสียง V ไม่เป็น อย่างนี้เป็นต้น

เรียนภาษาอังกฤษไปทำไม

อยากเก่งภาษาอังกฤษไปทำไมครับ?

หลายคนคงตอบว่า เพื่อความก้าวหน้าทางการงาน ซึ่งก็ไม่ผิด ผมทำงานกับคนต่างชาติเยอะ ทั้งชาติที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี (เช่น อินเดีย ปากีสถาน ยุโรป) และก็ชาติที่มักพูดไม่ค่อยได้ดี (เช่น จีน เวียดนาม ไทย) ก็สังเกตอย่างหนึ่งว่า พวกที่ได้เป็นผู้จัดการ ผู้บริหาร ถ้าไม่ใช่อเมริกัน ก็ต้องเป็นคนที่ใช้ภาษาได้ดีทั้งนั้น ดังนั้น ถึงแม้คนจีนในอเมริกามีมากกว่าคนอินเดีย แต่คนอินเดียได้เป็นผู้บริหารตำแหน่งสูง ๆ มากกว่าคนจีนเยอะเลย นี่ก็เป็นความได้เปรียบ เนื่องมาจากความสามารถทางภาษา

นอกจากเรื่องการงาน หรือเงินแล้ว สิ่งที่เป็นผลพลอยได้ ที่ผมคิดว่า เผลอ ๆ อาจจะสำคัญมากกว่าเรื่องเงินด้วยซ้ำ ก็คือ

  1. เป็นกลไกในการเรียนรู้ หรือรับรู้สิ่งใหม่ ๆ เนื่องจาก สื่อ ข้อมูล และบทเรียนต่าง ๆ ในยุคอินเตอร์เนทนี้ เป็นภาษาอังกฤษมากที่สุด และส่วนใหญ่ก็ฟรี (ถ้าเรามีอินเตอร์เนท) ถ้าเราไม่สามารถไปรับสื่อพวกนี้ได้โดยตรง ต้องอาศัยพื่งคนแปลให้ก่อน แปลเพี้ยนหรือเปล่าก็ไม่รู้ โลกของเราก็จะแคบลงไปเยอะครับ
  2. เป็นกลไกในการสร้างมิตรภาพ และความเข้าใจระหว่างคนต่างชาติ ต่างวัฒนธรรม เราไปเที่ยวต่างประเทศ ถ้าพูดภาษาเขาได้ก็สนุกมากกว่ากันเยอะ

เทคโนโลยีการแปลภาษาอัตโนมัติในปัจจุบัน ถึงแม้ดีขึ้นมาก ก็ยังห่างไกลความสามารถของมนุษย์อยู่เยอะครับ แค่เป็นไปได้แน่นอนที่ในอนาคตการเรียนภาษาจะกลายเป็นเรื่องดึกดำบรรพ์ เพราะเทคโนโลยีสามารถทำได้ดีเท่าคน แต่ผมเดาเอาว่าอย่างน้อยต้องอีกสัก 20 ปี ก็ด้วยคิดอย่างนี้ ผมเลยส่งให้ลูกไปเรียนภาษาจีนด้วยเป็นภาษาที่สาม ตัวเองก็เรียนด้วยเป็นงานอดิเรก แต่ไม่ได้คาดหวังอะไรนัก

คุณละครับคิดว่าอยากเรียนภาษาไปเพื่ออะไร

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net