4. การใช้อักขระไทยแสดงการออกเสียงภาษาอังกฤษ

คุณเคยเห็น หรือได้ยินคำว่า phonetics ไหมครับ  สมัยผมเรียนในโรงเรียน มันเหมือนอยู่คนละโลกกันเลย  จำไม่ได้ว่าเริ่มรู้เมื่อไรว่า มีสิ่งที่เรียกว่า phonetics นี้อยู่ในภาษาอังกฤษอยู่ด้วย  พอรู้แล้วก็ปล่อยใจไปว่า ช่างมันวะ ไม่ต้องสนใจ มันไม่มีสอบ   จำได้อีกว่าตอน ม 4 เปลี่ยนไปเข้าโรงเรียนใหม่  อาจารย์ภาษาอังกฤษ เรียนไปสอบพูดกัน ตัวต่อตัว  แกก็ถามคำแรกว่า ผมหมายเลขอะไร  ผมก็บอก thirty-eight  แต่ออกเสียง th เป็นเสียง t  แกก็บอก พูดผิด พูดใหม่  ผมพูดยังไงก็ไม่ถูก  หลังจากแกเฉลยมา ผมก็ยังงง ๆ อยู่   เดินออกมาคิดว่า นี่เราอยู่ถูกโลกหรือเปล่านี่  อาจารย์ท่านนี้ก็พยายามสอนการออกเสียงบ้าง และอ้างอิง phonetics อยู่บ้าง  แต่ผมก็ไม่ค่อยซึมซาบเท่าไรครับ คิดว่า คงเป็นเพราะ มันไม่ประติดประต่อ  ไม่ครบถ้วน หรือ มันยากยังไงก็ไม่ทราบ   ที่สำคัญ คือ ไม่มีในข้อสอบ  นักเรียนก็เลยไม่ได้สนใจว่าต้องรู้เรื่อง

Phonetics คือ ระบบการออกเสียงในภาษาอังกฤษครับ  เนื่องจากภาษาอังกฤษนั้น บ่อยครั้ง เสียงกับรูปไม่ตรงกัน   แค่ตัว a ที่ใช้เป็นตัวสระนี่ บางทีก็อ่านเป็นสระเอ เช่น gay  บางทีก็เป็นแอ เช่น tan และบางทีก็เป็นอา เช่น car   แล้วถ้าเราไปเจอคำใหม่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าต้องออกเป็นเสียงอะไร  นี่ก็แสดงว่า ภาษาเขียนนี้เอามาใช้เป็นหลักในการออกเสียงไม่ได้  หรือไม่ค่อยได้ล่ะ   ภาษาอังกฤษก็เลยมีการบัญญัติระบบการเขียนเพื่อใช้ระบุการออกเสียงขึ้น  ให้รูปมันตรงกับเสียงโดยตรง  ซึ่ง ก็แน่นอนว่า อักขระ 26 ตัวในภาษาอังกฤษนั้น มันไม่พอใช้  จะเอาอักขระอะไรมาบอกว่า เป็นสระ เอ แอ หรือ อา   เขาก็บัญญัติสัญลักษณ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา ใช้สัญลักษณ์ของโรมันบ้าง ให้มันได้ครบทุกเสียง และให้มันไม่ทับซ้อนคลุมเคลือ   ทั้งเสียงสระ และเสียงพยัญชนะ   พจนานุกรมฉบับอังกฤษ-อังกฤษ ทั่วไป ก็จะใช้ตัวอักขระ phonetics นี้เพื่อระบุว่าคำแต่ละคำมันออกเสียงอย่างไร

ปัญหามันก็เลยมาตกอยู่ที่เราผู้เรียนภาษาว่า  เราเหมือนจะต้องไปเรียนอีกภาษาหนึ่ง คือ ภาษา phonetics นี้ ไม่งั้นเราก็อ่านคำอ่านจากพจนานุกรมไม่รู้เรื่อง  ปัญหาเพิ่มอีกอย่างก็ คือ อักขระ phonetics นี้ไม่มีการบัญญัติเป็นมาตรฐานกลาง  พจนานุกรมแต่ละเล่มก็จะใช้สัญลักษณ์ต่างกันบ้าง  มากบ้าง น้อยบ้าง  แถบบางทีบอกวิธีออกเสียงไม่ค่อยเหมือนกันด้วย เช่น ผมเห็นบางเล่มบอกให้แทรกเสียง h เข้าไปตรงนั้นตรงนี้  แต่เล่มอื่น ๆ ส่วนใหญ่ก็บอกไม่ต้องมี  ทุกเล่มก็จะต้องมีหน้าหนึ่งสรุปเป็นที่อ้างอิงว่า สัญลักษณ์ไหน หมายถึงเสียงอะไร  เรื่องของสัตว์ประหลาด phonectics มันก็เป็นมาอย่างนี้

ย้อนกลับมาว่า หนังสือเล่มนี้จะยึดเอาหลักเอาอย่างไรดี  ถ้าผมจะสอนแบบให้คุณฟังเสียงแล้วพูดตามอย่างเดียว  นึกไปนึกมามันก็ไม่ถูกต้อง ปัญหาตามมามันเยอะ เพราะเราสื่อสารกันด้วยการเขียน และอ่านเป็นส่วนใหญ่  แล้วหลักการก็อาจจะไม่แน่น   ถ้าจะใช้สัญลักษณ์ phonetic มันก็จะทำให้คนแขยง  และมันก็มีปัญหาเรื่องมาตรฐานตามที่ได้กล่าวมา  ตัวผมเองก็ไม่ชอบ พิมพ์ตัวพวกนี้ลำบาก   ด้วยเหตุดังนี้ ผมจึงได้บัญญัติการใช้อักขระภาษาไทยเพื่อใช้แทนตัว phonetics  ขึ้น เพื่อเราจะใช้กันในคอลัมน์นี้  ภาษาไทยเรามีข้อดีอย่างหนึ่ง คือ มีรูปสระที่หลากหลาย และครอบคลุมสระในภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมด  ถ้าไม่เหมือนทีเดียวก็ใกล้เคียง พอถูไถกันไปได้ ไม่ถึงกับทำให้ฟังไม่รู้เรื่อง  แต่สำหรับเสียงพยัญชนะนั้น ภาษาไทยเราไม่สามารถครอบคลุมเสียงในภาษาอังกฤษได้ทั้งหมด  ที่พอจะคล้าย ๆ มันก็ไม่เหมือนทีเดียว และก็จะทำให้พูดฟังกันไม่รู้เรื่อง  ดังนั้น จีงมีความจำเป็นที่จะต้องบัญญัติเสียงพยัญชนะให้ครอบคลุม  และไม่กำกวม

เนื่องจากเราก็ไม่มีมาตรฐานกลางในการใช้อักขระภาษาไทย เขียนบ่งบอกการออกเสียงภาษาอังกฤษ  ผมจึงบัญญัติขึ้นมาใช้เองในหนังสือเล่มนี้ (และในคอลัมน์ออนไลน์ที่ผมเขียน)  ซึ่งได้รวบรวมสรุปแสดงอยู่ในตารางในบทนี้  ผมก็พยายามจับกลุ่มให้เสียงที่คล้าย ๆ กันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน  จะมีเสียงที่ค่อนข้างนอกคอกไม่เหมือนใครก็คือ h กับ y  จะเห็นได้ว่า มีเสียงประมาณ 5 เสียงที่เราไม่มี ดูที่เสียงที่มีหมายเหตุดอกจันในตารางนะครับ ที่ต้องพูดว่าประมาณก็เพราะ เสียงอื่น ๆ ที่ไม่มีหมายเหตุ ถ้าคุณไปถามคนที่เขาเคร่งจริง ๆ เขาก็อาจจะบอกว่าไม่ใช่ มีมากกว่านี้ เสียงนั้นเสียงนี้ไม่เหมือนภาษาไทยทีเดียว เหมือนแค่ 80 – 90 % อะไรประมาณนั้น  แต่สำหรับผมตั้งเป้าว่า สำหรับภาษาอังกฤษสำเนียงไทยที่ถูกต้อง  ขีดเส้นเอาแค่นี้ ผมคิดว่า  ดีมากแล้ว  อย่างไรก็ดี รายละเอียดมีอยู่มากนะครับ ไม่เพียงแค่วิธีออกเสียง 5 เสียงนี้  แม้แต่เสียงที่เหมือนภาษาไทยก็มีรายละเอียดที่สำคัญอื่น ๆ อีก ซึ่งผมจะได้อธิบายในบทต่อ ๆ ไป

นอกจากเสียงพยัญชนะแล้ว ก็ยังมีกฎเกณฑ์อื่น ๆ ที่ต้องบัญญัติขึ้นอีก เพื่อให้การเขียน และการอ่านให้มีหลักการที่พอเอาไปใช้ระบุการออกเสียงภาษาอังกฤษได้ คือ เราจะไม่อ่านคำพวกนี้เหมือนการอ่านภาษาไทยซะทีเดียว ต้องอ่านแบบมีกฎเกณฑ์พิเศษเพิ่มเติม กฎเกณฑ์เหล่านี้ มีดังนี้

  • ให้ใช้เครื่องหมายขีดกลาง หรือ hyphen ในการขึ้นต้นคำ ลงท้ายคำ และคั่นระหว่างพยางค์
  • ให้ใช้เครื่องหมายปีกกาสี่เหลี่ยมในการแสดงการเน้นพยางค์ (stressing)  หากคำไหนมีการเน้นพยางค์มากกว่าหนึ่งพยางค์  ให้ใช้เครื่องหมายปีกกาสี่เหลี่ยมสองชั้นในการเน้นพยางค์ที่หนักกว่า เช่น information ออกเสียงว่า  -[อิน]-ฟอร-[[เม]]-ชัน-
  • การใช้รูปวรรณยุกต์สามารถทำได้  เพื่อช่วยชี้นำการออกเสียง โดยให้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ใช้ แต่ไม่มีผลโดยตรงต่อการอ่านออกเสียงของคำนั้น ๆ  กล่าวคือ ผู้อ่านอาจออกเสียงไม่ตรงกับรูปวรรณยุกต์ก็ได้ เช่น คำว่า big จะเขียนคำออกเสียงว่า -บิก- หรือ -บิ่ก- หรือ -บิ๊ก- หรือ -บิ้ก- ก็ได้

อีกอย่างคือ ภาษาไทยเรามีการแบ่งกลุ่มอักษรต่ำ อักษร และอักษรสูง  ซึ่งแต่ละกลุ่มมีหลักผสมวรรณยุกต์ไม่เหมือนกัน  หลักการใช้วรรณยุกต์นี้ให้ถือว่าเป็นโมฆะ โดยให้ยึดหลักว่า รูปวรรณยุกต์ตรงกับเสียงเสมอไม่ขึ้นกับว่าเป็นอักษรต่ำ กลาง หรือ สูง ตัวอย่างเช่น คำว่า same  อ่านว่า -เสม-  อันนี้ไม่ได้มีการสื่อว่าให้ออกเสียงจัตวา  ถ้าผู้เขียนต้องการชี้แนะว่า ควรออกเสียงจัตวาในคำ ๆ นี้ (ในประโยค หรือ สถานการณ์หนึ่ง ๆ ) ก็ควรเขียนเป็น –เส๋ม- หมายเหตุว่า ที่มาของกฎข้อ 3 นี้ ก็เนื่องจากว่าการเปลี่ยนระดับเสียงของพยางค์ หรือคำนั้น ไม่มีผลต่อความหมายของคำนั้น ๆ แต่อาจมีผลต่อความหมายโดยรวมของประโยค เมื่อคำนั้น ๆ ถูกใช้อยู่ในการพูดในสถานการณ์หนึ่ง ๆ  ตัวอย่างเช่น ประโยคว่า He is here.  ถ้าลงด้วยเสียงต่ำ (เสียงสามัญ) ก็เป็นการบอกเล่าปกติ  แต่ถ้าขึ้นเสียงสูง (เสียงจัตวา) ก็เป็นการพูดแบบแสดงความแปลกใจของผู้พูด เรื่องระดังเสียงของคำนี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีก ซึ่งจะได้กล่าวในบทที่ 19

  • ไม่มีการใช้ตัวการันต์  อักขระที่ต้องออกเสียงก็ต้องเขียนอยู่ในคำออกเสียงนั้น ๆ  แต่อักขระที่ไม่ต้องออกเสียงก็ต้องไม่มีอยู่ เช่น
    • bend  อ่านว่า -เบนด-
    • palm  อ่านว่า -พาม-   เนื่องจากไม่ออกเสียง L ในคำ ๆ นี้

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า การเขียน และอ่านคำออกเสียงที่เขียนด้วยภาษาไทยนี้ มีกฎเกณฑ์ที่ต่างจากภาษาไทยโดยทั่วไป และต่างจากการเขียนทับศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยอย่างชัดเจน  ถ้าคุณอ่านยังไม่ค่อยได้ตรงนี้ไม่เป็นไรครับ  แค่ดูให้คุ้นเคยไว้ก่อน และให้เข้าใจกฎเกณฑ์  เราจะค่อย ๆ เรียนรู้วิธีออกเสียงแต่ละตัวในตอนต่อ ๆ ไป  แม้แต่เสียงพยัญชนะที่ภาษาไทยมีตรงกัน หลายตัวก็ยังมีเรื่อง และรายละเอียดที่ต้องพูดถึงพอสมควร  ดังนั้น เวลาอ่าน หรือเขียนคุณจะต้องใช้ความรู้เรื่องการออกเสียงที่ถูกต้องควบคู่ไปด้วย  และก็ใช้พจนานุกรมที่พูดได้ช่วยเป็นตัวอย่าง   บางทีก็เหลือบมองตัว phonetics ต้นฉบับเป็นอ้างอิงบ้างก็ได้เหมือนกัน  ท้ายนี้ขอบอกว่า คำว่า phonetics อ่านว่า -เฟอะ-[เน]-ทิคส-

ตารางสรุปการใช้เป็นอักขระไทยแทนเสียงในภาษาอังกฤษ (ดาวน์โหลด pdf)

อักขระในภาษาอังกฤษ* ตัวแทนเสียงในภาษาไทย ตัวอย่างคำ
r   ร ** run  -รัน-
l long  -ลอง-
w we  -วี-
v    ฯ *** van  -แฯน-
f, ph fan
phone
 -แฟน-
-โฟน-
s, c sun
race
-สัน-
-เรส-
z   ซ ** zoo  -ซู-
ch cheap picture   -ชีพ- -[พิค]-เชอระ-
sh   ฉ ** shop
nation
-ฉอพ-
-[เน]-ฉั่น-
j, ge  jeep
judge
-จีพ-
-จัดจ-
th (strong)   ธ **  thin  -ธิน-
th (weak)   ด **  the  -เดอะ-
d  den  -เดน-
t  tin  -ทิน-
(s) t  stop  -สะ-[ต็อพ]-
g  gun  -กัน-
k, c  king
cut
-คิง-
-คัท-
(s) k  skip  -สะ-[กิพ]-
b  big  -บิก-
p  pig  -พิก-
(s) p  speak  -สะ-[ปิก]-
m  man  -แมน-
n  nap  -แนพ-
ng  ping  -พิง-
h  hat  -แฮท-
y yes
use
 -เยส-
-ยูส-

หมายเหตุ

  • * เนื่องจาก บางครั้งในภาษาอังกฤษมีเสียงไม่ตรงตามรูป อักขระภาษาอังกฤษที่แสดงนี้ จึงเป็นการแสดงให้เห็นที่เป็นโดยส่วนใหญ่เท่านั้น อาจมีข้อยกเว้น หรือแตกต่างบ้าง ขอให้ยึดที่เสียงจากพจนานุกรมเป็นหลัก
  • ** เสียงเหล่านี้ ไม่เหมือนเสียงในภาษาไทย แต่มีความคล้ายบ้าง มากน้อยแล้วแต่กรณี ๆ ไป
  • *** อักขระเหล่านี้ ตั้งขึ้นเฉพาะกิจเพื่อใช้แทนเสียงพิเศษที่ไม่มีในภาษาไทย และหาอักขระไทยที่เหมาะสมมาใช้ไม่ได้
Updated: 5 มีนาคม 2015

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

20 − sixteen =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net