ประชาธิปไตย

นาน ๆ ทีผมก็ขอนอกเรื่องภาษาหน่อย เรื่องของวัฒนธรรม และบ้านเมืองว่าไปแล้วก็เกี่ยวข้องกับภาษา เพราะถ้าเราไม่เข้าใจเขา บางทีก็คุยกันไม่รู้เรื่องก็มี วันนี้ผมขอพูดการเมืองสักหน่อย ในโอกาสที่คุณทรัมพ์ได้สาบานตนเข้าเป็นประธานาธิปดี หรือคนอเมริกันเรียกว่า inauguration ชัยชนะของเขาเป็นสิ่งที่ทำให้คนอเมริกัน และคนทั่วโลกอ้าปากค้าง เวลาผ่านไปสองเดือนแล้วก็ยังไม่อยากเชื่อกันอยู่ วันนี้ก็เลยมียังมีคนออกมาประท้วงกันมาก

ทรัมพ์ คือ ความล้มเหลวของประชาธิปไตย democracy หรือ?

หลักฐานมีอยู่ว่าชัดเจนว่า 1) คุณทรัมพ์มีหัวคิดที่ค่อนข้างล้าหลัง ไม่ว่าเรื่องการลัทธิชาตินิยม การเหยียดผิว และอื่น ๆ แม้แต่พรรคเดียวกันยังไม่ชอบในหลาย ๆ เรื่อง  2) คุณคลินตันชนะถึงกว่า 2.8 ล้านเสียง แต่นับคะแนนตัวแทนจากรัฐที่ใช้เลือกประธานาธิปดี (electoral vote กลับแพ้ขาดลอย ถ้าอย่างนั้นหมายความว่า ประชาธิปไตยล้มเหลวหรือถึงได้คนที่คนไม่ชอบมากมายขนาดนี้ขึ้นมาได้

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า หลายปีที่ผ่านมา คนอเมริกันมีความคิดแตกแยกกันมาก และคนสองฝ่ายนี้ก็แบ่งกันประมาณ 50/50 ดูที่การเลือกตั้งประธานาธิปดีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2000 นั้น แต่ละครั้งสูสีกันมาตลอด สมัยคุณโอบามาชนะนั้น ผมติดตามใกล้ชิดมาก และก็คิดว่าถ้าไม่มีวิกฤตเศรษฐกิจปิ 2008 คุณโอบามามีสิทธิแพ้มากกว่าชนะ ดังนั้น โอกาสที่ผลจะพลิกจากซ้ายเป็นขวา หรือขวาเป็นซ้ายนั้น มีมากกว่าที่คนคิดเยอะครับ ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน

ความกดดันของการเลือกตั้งครั้งนี้ มาจากความเบื่อหน่ายรัฐบาล และนักการเมือง ว่าทำอะไรก็ไม่ได้ดี แก้อะไรก็ไม่ได้ผล ทั้งที่เศรษฐกิจดี แต่คนรากหญ้า ชนชั้นล่างในชนบทนั้น มองว่าชีวิตเขาไม่ดีเหมือน 20 – 30 ปีก่อน เงินในระบบส่วนใหญ่ไปอยู่ในมือของคนรวย อันนี้เป็นแนวคิดที่เป็นกันทั่วโลกครับ ในไทยก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นการขึ้นมาของคุณทรัมพ์นั้น คือ การประท้วงของคนกลุ่มนี้ ในการไม่ยอมรับนักการเมือง และผู้สมัครที่ปัญญาชนส่วนใหญ่เห็นว่าดี  การประท้วงนี้เมื่อสำเร็จขึ้นมาโดยการเลือกตั้งแบบนี้ ก็เหมือนเป็นการปฏิวัติแบบประชาธิปไตยนั่นเองครับ

ถึงกระนั้น การประท้วงนี้ไม่น่าสำเร็จไปได้ เพราะแพ้เสียงส่วนใหญ่ถึง 2.8 ล้านเสียง  แต่ที่เขาชนะก็เพราะระบบเลือกตั้งของเขา ออกแบบมาให้คนกลุ่มน้อยมีเสียงที่ดังได้พอสมควร กล่าวคือ ถ้าคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ หรืออยู่รัฐใหญ่ออกมาใช้คะแนนกันล้นหลาม เสียงนั้นก็ได้คะแนนเต็มที่เท่ากับคะแนนที่เจียดให้กับรัฐนั้นไปเท่านั้นเอง ไม่ได้ให้คะแนนมากขึ้นตามจำนวนคนที่ออกมาหาเสียง คือ เขาให้คะแนนกันตามรัฐครับ เป็นรัฐ ๆ ไป  รัฐไหนใครชนะก็เทคะแนนให้คนชนะไป ที่ทำอย่างนี้ก็เพื่อให้รัฐที่มีคนน้อย ๆ มีคะแนนน้อย ๆ พอมีความสำคัญขึ้นมาบ้าง เพราะฉะนั้น การเลือกตั้งที่ผ่านมา คุณคลินตันชนะล้นหลามในรัฐที่ประชากรมาก เช่น แคลิฟอร์เนีย และนิวยอร์ก แต่แพ้สูสีในรัฐขนาดกลาง และขนาดเล็กหลายรัฐ  พอรวม ๆ กันแล้วคะแนนจากรัฐก็เลยสู้ไม่ได้ ถามว่ายุติธรรมไหม อันนี้แล้วแต่คนคิดครับ  แต่กฎเขาตั้งมาอย่างนี้ มีเหตุผลอย่างนี้ มีการถกเถียงจะให้เปลี่ยนกันแต่ก็ทำไม่ได้ ก็ต้องยอมรับผลกันไป

ดังนั้น ถ้าถามผม ทรัมพ์ไม่ใช่ความล้มเหลวของประชาธิปไตย ประชาธิปไตยสะท้อนสิ่งที่ประชาชนคิด เมื่อมันออก 50/50 อย่างนี้ก็มีสิทธิพลิกได้อย่างนี้  ถ้าจะล้มเหลวก็ต้องเป็นความล้มเหลวของประชาชน ซึ่งอันนี้เรายังตัดสินไม่ได้ เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ ถ้าเขาทำให้ประเทศและโลกดีขึ้น ก็จะกลับกลายเป็นความสำเร็จของประชาชนไป แทนที่จะเป็นความล้มเหลว

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับประชาธิปไตย

บางคนคิดว่าประชาธิปไตย คือระบบการสรรหาผู้ปกครองโดยประชาชน เพราะเห็นบทบาทตัวเองมีแต่การไปเลือกตั้งออกเสียง แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ ประชาธิปไตยที่แท้ คือ ระบบการปกครองตนเองของประชาชน  ฟังดูอาจไม่เข้าใจว่าต่างกันอย่างไง แต่ต่างกันมากครับ แบบที่หนึ่งเป็นแนวคิดการปกครองแบบ top-down คือ คิดว่าการเปลี่ยนแปลง ความเจริญ หรือความเสื่อมมาจากผู้ปกครอง หรือรัฐบาล ถ้าได้ผู้ปกครองดีประเทศถึงจะดี  แต่อีกแบบหนึ่งเป็นความคิดการปกครองแบบ bottom-up คือ คิดว่าการเปลี่ยนแปลง ความเจริญ หรือความเสื่อม มีรากฐานมาจากประชาชน  ผู้ปกครองเป็นเพียงผลสะท้อน และก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นของระบบ ถ้ามีประชาชนที่ดี ที่มีส่วนร่วม ประเทศถึงจะดี

สังคมประชาธิปไตยที่แท้นั้น จำเป็นต้องมีประชาชนที่มีบทบาทครับ ไม่ใช่เพียงแค่มีสิทธิ และเสรีภาพ  บทบาทในที่นี้ก็เริ่มตั้งแต่ท้องถิ่น เพื่อนบ้านช่วยหลือกัน ทำงานส่วนรวมด้วยกัน จนกระทั่งไปถึงการออกความเห็น  การรณรงค์เรื่องต่าง ๆ การต่อสู้เรียกร้องสิทธิที่ควรจะมี  การมีสื่อมวลชนที่อิสระ การติดตามการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ  ฯลฯ จนถึงระดับสูงสุดก็คือ การอาสาเข้ามารับใช้บ้านเมืองเอง  อเมริกันก็เรียกคนที่เข้ามาทำงานข้าราชการ หรือการเมืองว่า เป็น public servant แปลเป็นไทย ก็ผู้รับใช้สาธารณะ งานพวกนี้ก็เรียก เป็น public service  เพราะถือเป็นงานส่วนรวม

เมื่อใดเราเริ่มเห็นว่า คนที่เลือกเข้าไปทำงาน เป็นตัวแทนของเรา ไปอาสาทำแทนเราจริง ๆ เมื่อนั้นเราก็จะเริ่มเข้าใจประชาธิปไตยครับ  และในเมื่อคนมีความคิดแตกต่างกัน มีความเห็นแก่ตัวกันก็มากอยู่ ตัวแทนของคนก็ยังมีปัญหาเดียวกันอยู่  ทางออกของประชาธิปไตยก็มีทางเดียวครับ คือ การใช้กลไกของประชาธิปไตยในการพัฒนาคุณภาพของคนให้เจริญขึ้น  ผมมองว่า ประชาธิปไตยของอเมริกาก็ยังไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เต็มใบครับ เป็นระบบที่กำลังพัฒนาเหมือนกัน และกำลังถูกกดดันด้วยโลกที่เปลี่ยนแปลง ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม  การได้มาซึ่งประธานาธิปดีคนใหม่นี้ ถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ดี ก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกตินัก เพราะการพัฒนาบางทีก็มีบวกมีลบ มีลองผิดลองถูก คนลองซ้ายแล้วก็ลองขวามั่ง เพื่อดิ้นรนหาทางออก ขออย่างเดียวว่า เมื่อมีความผิดพลาด บทเรียนที่เกิดขึ้น ควรจะได้มาศึกษาและแก้ไข เพื่อจะได้ทำให้ดีขึ้นในอนาคต  ถ้าคนไม่เรียนรู้ หรือไม่สนใจ หรือ ไม่เข้าใจบทเรียนที่เกิดขึ้น ประชาธิปไตยก็ไม่สามารถนำมาซึ่งความเจริญได้ในระยะยาวได้

 

 

Updated: 21 มกราคม 2017

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

6 + 6 =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net