7. เสียง s และ z

เสียงน้ำตก กับแมลงวัน

ตอนนี้เรามาว่าถึงเสียงตัวร้ายหน่อย คือ เจ้าตัวเสียงซ่านั่นแหละครับ  เสียงซ่าในภาษาอังกฤษมีอยู่สองเสียง คือ s กับ z  สำหรับของไทยเรามีเสียงเดียว คือเสียง ส หรือ ซ ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นเสียงเดียวกัน  เสียงนี้เทียบเท่าได้กับเสียง s ในภาษาอังกฤษ  ซึ่งผมก็ขอใช้  -ส- เป็นตัวระบุเสียงนี้นะครับในการเขียน phonetics โดยใช้อักขระไทยของเรา  สำหรับเสียง z ซึ่งเราไม่มีในภาษาไทย ก็จะขอใช้ -ซ- เป็นตัวระบุเสียงนี้   ขอย้ำอีกครั้งว่า ระบบการเขียนวิธีออกเสียงนี้ไม่ขึ้นกับเสียงวรรณยุกต์นะครับ  อักษร ส ในภาษาไทยบังเอิญเป็นอักษรสูงซึ่งผันได้แค่สามระดับวรรณยุกต์ (สา ส่า ส้า) ในการอ่าน phonetics เราก็พยายามอย่าไปอ่านแบบไทยซะทีเดียว  ให้ถือว่า เสียง -ส- แทนเสียง s  และเสียง -ซ- แทนเสียง z  ส่วนระดับเสียงนั้นก็ขึ้นกับสถานการณ์การใช้  เรื่องระดังเสียงนี้ผมพูดถึงในบทที่ 4 และบทที่19

คราวนี้เราลองมาทำเสียงซ่ากันดู  รากเสียงของเสียง -ส- หรือ s เป็นเสียงลมเฉย ๆ   ให้ลองเอามือจับตรงคอหอยตัวเอง แล้วส่งเสียงลมออกมา เหมือนกับจะพูดว่า สี่… หรือ ซี… ยาว ๆ   โดยไม่ให้มีเสียงที่คอเลย   ถ้ามือคุณไม่รู้สึกว่าคอสั่นก็ถึอว่าใช้ได้  เสียงจะเหมือนกับ เสียงน้ำตก หรือเสียงซ่าจากวิทยุเวลาหาคลื่นไม่เจอ   สำหรับเสียง -ซ- หรือ z ให้ทำปากเหมือนกันกัยเสียง -ส- ส่งเสียงซ่าออกมาเหมือนกัน  แต่คราวนี้ให้ส่งเสียงออกมาจากคอด้วย  เสียงจะเป็นเสียงซ่าแบบฮัม คล้ายกับเสียงแมลงวัน หรือผึ้งบินนั่นแหละครับ  ลองเอามือจับคอหอยดู และให้รู้สึกว่าคอสั่นตอนพูดเสียงนี้

ลองดูคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียงซ่าดูนะครับ  ถ้าเป็นเสียง s ก็พูดเหมือนเสียงแบบไทย ๆ ปกติ   แต่ถ้าเป็นเสียง z ให้ทำเสียงฮัมผสมอยู่ในเสียงพยัญชนะต้นด้วย

  • c  -สี-
  • z อเมริกันอ่านว่า -ซี-   อังกฤษอ่านว่า  -แซด-  คนไทยเราออกเสียงตามแบบอังกฤษแต่ไปใช้เสียงตัว s เป็น -แสด- แทน ลองออกเสียงให้ถูกโดยใช้ตัว -ซ-  ดูนะครับ   สำหรับอเมริกันเขาจะให้สระอีเหมือนตัว c เลย  ถ้าเราออกเสียง -ซ-  ไม่เป็นก็ฟังไม่รู้เลยว่าเป็น c หรือ z
  • sue  -สู-  คำกริยา แปลว่า ฟ้องศาล
  • zoo -ซู-  สวนสัตว์
  • center  -[เส่น]-เตอระ-
  • zipper -[ซิป]-เปอระ-  ที่เราเรียก ซิป  มาจากคำนี้   ถ้า zip เฉย ๆ  เป็นคำกริยา แปลว่ารูดซิป หรือเป็นคำนาม แปลว่าศูนย์ (ไม่มีอะไร) ก็ได้
  • sea  -สี-
  • zebra -[ซี]-บรา-
  • zone  -โซน-
  • soon  -สูน-
  • zoom  -ซูม-

เวลาออกเสียง -ซ- มันจะฝืน ๆ หน่อย เป็นธรรมดาเพราะภาษาเราไม่มี  แต่ฝึก ๆ ไปก็จะทำได้เอง โชคดีที่คำที่ขึ้นต้นด้วย z มีไม่มากเท่าไร   ตอนหน้าเรามาพูดต่อ ตอนเสียงซ่าอยู่ที่กลางคำ และท้ายคำนะครับ ซึ่งคราวนี้โชคจะไม่ค่อยดีเท่าไร

 

เสียง s และ z  เมื่ออยู่ภายในคำ

เวลาเสียงซ่าอยู่ที่พยางค์แรกของคำ รูปมักจะตรงกับเสียง  แต่ว่าเวลาอยู่ที่พยางค์อื่น หรือเป็นเสียงลงท้ายนี่สิ  มีหลายคำที่สะกดด้วยตัว s แต่ดันออกเสียงเป็นตัว z  เรื่องนี้ทำให้เป็นปัญหาสำหรับคนไทยเรา เพราะ เราเติบโตมาจากการเรียนคำศัพท์ จำตัวสะกด แล้วมาเรียนเสียงกันทีหลัง  ดังนั้น ถ้าบางตัวออกเสียง s บางตัวเสียง z และสองเสียงนี้มันก็ไม่ต่างกันมากนัก ถ้าเราไม่ได้รู้ และฝึกฝนคำนั้น ๆ มาก่อนอย่างช่ำชอง ก็จะทำให้เป็นปัญหาพูดได้ถูกบ้างไม่ถูกบ้าง   เรื่องนี้ผมไม่แนะนำให้ไปท่องจำให้เหนื่อย  ให้ทำความรู้จักกับมันไว้ก่อนว่าเสียงเป็นอย่างไร  หัดไปบ้างเป็นบางตัวที่ใช้ประจำ แล้วก็ค่อย ๆ ฝึกเพิ่มไปเวลาเราได้ยินคำใหม่ ๆ   เวลาเอาไปใช้ ถ้าพูดถูกบ้าง ผิดบ้าง ก็พออนุโลมว่า เป็นเอกลักษณ์หนึ่งของภาษาอังกฤษแบบสำเนียงไทย  ไม่ต้องไปเครียดนัก  ถ้าเราพูดตะกุกตะกัก ไม่มั่นใจ หรือ มัวไม่นั่งคิดว่ามันเป็นเสียงอะไร มันจะส่งผลเสียมากกว่า

การพูดเสียง z หรือ -ซ- ผิดกลายเป็นเสียง s หรือ -ส- นั้นไม่ถึงกับส่งผลเสียทำให้ฟังกันไม่รู้เรื่อง  โดยเฉพาะเวลาเสียงนี้ซ่อนอยู่ภายในคำ เช่น คำว่า easy ออกสียงว่า -[อี]-ซี- เวลาพูดให้พยายามเน้นเสียงคอหนักหน่อยตั้งแต่ปลายพยางค์ -อี- แล้วเสียงคอก็จะกล้ำเข้ามาเป็นเสียงคอสั่นของพยางค์ -ซี-  ถ้ารู้สึกยากก็ลองลดเสียงคอลงหน่อยก็ได้ เอาพอให้ได้ยินก็ใช้ได้  ที่สำคัญ คือให้มันสบาย ๆ ไม่ต้องเกร็ง (ให้เหมือนความหมายของคำ ๆ นี้ที่แปลว่า ง่าย ฮิ ฮิ)   ที่นี้ถ้าเราออกเสียงผิดเป็น -[อี]-สี- มันก็ไม่ถึงกับเลวร้ายนัก  เขาฟังออกว่าเราพูดไม่ชัด แต่ไม่ถึงกับฟังไม่รู้เรื่อง  ฝรั่งเหมือนกันเวลาพูดเร็ว ๆ บางทีก็ฟังคลุมเคลือเหมือนกัน บางคำก็ออกเสียงได้ทั้งสองแบบ แล้วแต่สำเนียงท้องถิ่น  ลองดูตัวอย่างเพิ่มนะครับ

  • busy  -[บี]-ซี-
  • fussy  -[ฟัส]-สี-  คำนี้ออกเสียง -ส- ธรรมดา  เป็นคำคุณศัพท์แปลว่า หงุดหงิด อารมณ์เสียง่าย
  • fuzzy  -[ฟัซ]-ซี-  เป็นคำคุณศัพท์แปลว่า คลุมเคลือ ไม่ชัดเจน   ลองเทียบกับคำว่า fussy ดูซึ่งเป็นเสียงสระเดียวกันเป๊ะ
  • exact  -เอ็ก-[แซก]-    exactly -เอ็ก-[แซก]-ลี-
  • reason -[รี]-เซ็น-
  • Jason  -[เจ]-เส็น-
  • result  -ริ-[ซัลท]-
  • receive  -ริ-[สีฯ]-
  • pizza  -[พีท]-ส่า-   คำนี้รูปเป็นตัว z แต่ดังเป็นเสียง s
  • present  เป็นกริยาออกเสียงว่า -พริ-[เซน]-  เป็นคำนาม ออกเสียงว่า -[เพร]-เซน-

 

เสียง s และ z  ลงท้าย

สำหรับเสียง -ส- กับ -ซ- ที่เป็นเสียงลงท้ายคำ  เสียง -ซ- ลงท้ายนอกจากคอจะสั่นแล้ว ยังจะทำให้เสียงสระนั้นฟังดูยาวขึ้นครับ   เราจะเห็นกันอยู่ตลอดเวลานะครับว่า เสียงพยัญชนะที่เป็นเสียงก้อง เช่น v หรือ z (และตัวอื่น ๆ ที่ยังไม่พูดถึง)  เมื่อลงท้ายคำต่อกับเสียงสระ ก็จะทำให้คำนั้นยาวกว่าแบบไม่ก้อง  ลองดูตัวอย่าง และเปรียบเทียบคำที่ลงท้ายด้วย -ส- กับ -ซ- กันดู  สังเกตว่ารูปไม่ตรงกับเสียงเสมอไป

  • this -[ดิส]-  these -[ดีซ]-
  • bus -[บัส]-  buzz -[บัซ]-
  • race -[เรส]-  แปลว่า วิ่งแข่ง   raise  -[เรซ]- แปลว่า ยกขึ้น
  • loose -[ลูส]-  แปลว่า หลวม   lose  -[ลูซ]- แปลว่า ทำหาย  หรือ พ่ายแพ้
  • amaze   -อะ-[เมซ]-   amazing  -อะ-[เมซ]-ซิง-
  • exercise  -[[เอ็ก]]-เสอ-[ไสซ]-   คำนี้สนุกหน่อยมีสอง -ส- แต่ลงท้ายด้วย -ซ-

สำหรับเสียง -ส- กับ -ซ- ที่เป็นเสียงลงท้ายคำ ความแตกต่างไม่เด่นเหมือนตอนเป็นเสียงต้น และความสำคัญก็ไม่เท่า  ถ้าพูดผิด -ซ- กลายเป็น -ส- ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็เป็น ไม่ใช่แค่สำเนียงไทย ก็ไม่ถึงกับทำให้ผิดความหมายไป  ใครทำได้ก็ทำนะครับ ใครทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เอาให้เป็นเสียงซ่าก็ถึอว่าใช้ได้   ผู้หญิงส่วนมากก็จะออกเสียงคอได้ไม่ชัดเท่ากับผู้ชาย ดังนั้นจะทำเสียง -ซ- ไม่ชัดเท่า อันนี้เป็นเรื่องปกติ

มีคำหลายคำที่เป็นคำประกอบ พบเห็นอยู่เป็นประจำ เช่น is was has does as because  คำพวกนี้จริง ๆ แล้วลงท้ายด้วยเสียง -ซ- ถึงแม้มีรูปเป็นตัว s ก็ตาม  ก็ขอแนะนำว่า ลองไปฟัง และฝึกดูตามอัธยาศัย แต่เช่นเดียวกันว่า ไม่ต้องเครียดอะไร  ทำได้บ้างไม่ได้บ้างไม่ใช่เรื่องใหญ่  ข้อสังเกตอีกอย่างคือ เวลาคำเหล่านี้ไม่เป็นคำที่เน้นในประโยค เสียง -ซ- ก็จะฟังเหมือน -ส- เราไปเน้นพูดเน้นชัด ๆ กลับจะทำให้ผิดปกติไป (บทที่ 18 ผมจะพูดเรื่องการเน้นคำในประโยคโดยละเอียดอีกที)  ตัวอย่างของประโยค เช่น

  • He is coming soon.  -ฮี-อีซ- … หรือ He’s coming soon.  -ฮีซ- …  ประโยคนี้ is เป็นกริยาช่วย เวลาพูดก็ไม่เน้นมากนัก เสียง -ซ- บางครั้งก็อาจจะไม่ชัดมาก
  • What we want is that … ประโยคนี้ is เป็นกริยาหลัก เสียง -ซ- ก็มักจะได้ยินชัดมากกว่า  บางครั้งผมก็ได้ยินคนพูดเหมือนเพิ่มอีกหนึ่งพยางค์เลย เป็น -[อี]-ซึ- ถ้าเขาพูดยาน ๆ หน่อยตรง is

 

เสียงจากการเติม s หรือ es ลงท้าย

ตอนนี้ใช้ความรู้จากตอนอื่น ๆ ด้วยนะครับ ก็ขอแนะนำว่า ถ้างงก็ไปอ่านตอนอื่นก่อนแล้วกลับมาอ่านตอนนี้ใหม่ก็ได้

สำหรับการเติมอักษร s ข้างหลังคำนั้น ก็ปรากฎอยู่ในไวยกรณ์ภาษาอังกฤษพอสมควร ได้แก่

  • เมื่อคำนามเป็นพหูพจน์ เช่น I have two dogs.
  • เมื่อคำกริยาใช้กับประธานเอกพจน์บุคคลที่สาม เช่น He works hard.
  • เมื่อแสดงความเป็นเจ้าของ เช่น  John’s car  หรือ  world’s tallest building

วิธีออกเสียงถ้าเสียงลงท้ายเป็นเสียง  s, z, ch, sh, j ก็ให้เติม es แล้วออกเสียงเพิ่มอีกหนึ่งพยางค์เป็น -อึซ- หรือ -อืซ- ตัวอย่างเช่น

  • buses   -[บัส]-สึซ-
  • taxes   -[แทค]-สึซ-
  • raises   -[เร]-ซึซ-
  • touches -[ทัช]-ชึซ-
  • pushes  -[พุฉ]-ฉึซ-
  • judges -[จัด]-จึซ-    คำนี้ลงด้วย ge แต่เป็นเสียง j นะครับ  ก็เลยต้องออกอีกพยางค์

ถ้าลงท้ายด้วยเสียงพยัญชนะอื่น หรือเสียงสระ ก็จะไม่ออกเสียงเพิ่มพยางค์ แต่ให้เติมเสียงซ่าลงท้ายไปเฉย ๆ   ตามตำราแล้วเขาบอกว่า ถ้าเป็นคำที่ลงท้ายด้วยพยัญชนะเสียงไม่ก้อง ได้แก่  f, k, p, t, th  ก็ให้เติมเสียง -ส- เข้าไป   แต่ถ้าลงท้ายด้วยตัวอื่น ก็ให้เติมเสียง -ซ- แทน  ในทางปฏิบัติ ผมแนะนำว่า ไม่ต้องไปเครียด หรือไปจำให้ปวดหัว ให้ปล่อยไปตามธรรมชาติ แล้วก็ทำเป็นเสียง -ส- ไป  เวลาเสียงลงท้ายเป็นเสียงก้อง ถ้าเราทำได้ถูกต้อง คอมันก็จะสั่นอยู่แล้วตอนปลายเสียง เวลาเติมเสียงซ่าต่อท้าย ก็จะกล้ำออกเป็น -ซ- อยู่นิดหน่อย แล้วก็เปลี่ยนเป็น -ส- ตอนท้าย  ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็พูดประมาณนี้   ถ้าเป็นแบบสำเนียงไทยจะพูดเป็น -ส- เลยก็ได้  ไม่แตกต่างกันมากนัก  เพราะฉะนั้น ก็เอาเป็นว่า ไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะพูดถูกหรือไม่ ให้มีเสียงซ่าออกมาตอนท้ายเป็นใช้ได้

ลองมาดูตัวอย่างสักคำ ใครทำได้ก็ให้ลองดูนะครับ ใครไม่ได้ก็ให้อ่านผ่าน ๆ ไป เช่น  kit -คิท- ถ้าไม่เติม s เราจะออกเป็น ทึอ ตอนท้ายเป็นเสียงลมเฉย ๆ พอได้ยิน  พอเติม s เป็น kits -คิทส- ให้ทำปากตอนท้ายเหมือนจะทำเสียง -ท- แต่ไม่ต้องออกทึอ แต่ให้ออกเป็นเสียงซ่าแทน  ก็เหมือนเราพูดด้วยตัวสะกดแม่กดแบบไทย ๆ นี่แหละแล้วก็ใสเสียงซ่าตามหลังเข้าไป    สำหรับ kid -คิด-  เสียงจะยาวและลุ่มลึกกว่า ตอนท้ายก็เอื้อนเป็นเสียงคราง เดอะ พอได้ยิน  (มาจากบทที่ 9)  พอเติม s เข้าไปเป็น kids -คิดซ- หรือ -คิดส- ก็ไม่ต้องครางเสียง เดอะ แต่ให้เอื้อนเป็นเสียงซ่าแทน  ตอนต้นก็จะกล้ำเป็น -ซ- อยู่หน่อย แล้วก็เปลี่ยนเป็น -ส- ตอนท้าย  จะเห็นได้ว่า ข้อสำคัญจริง ๆ อยู่ที่การออกเสียง kit หรือ kid ให้ถูกต้องต่างหาก  ส่วนเสียง s ก็ปล่อยไปตามสบาย ๆ

  • kits   -คิทส-
  • kids   -คิดซ-
  • rips   -ริพส-
  • ribs   -ริบซ-

 

S ที่ไม่ออกเสียง (Silent S)

ศัพท์บางตัวมีเสียง s แต่ไม่ออกเสียงนะครับ เช่น

  • island -[ไอ]-แลนด-
  • debris -ดิ-[บรี]- ซากปรักหักพัง
  • aisle -ไอล- หรือถ้าพูดยาน ๆ หน่อยก็ -[ไอ]-อล- หมายถึง ช่องทางเดินแคบ ๆ เช่น ทางเดินในเครื่องบิน รถทัวร์ ทางเดินระหว่างตู้หนังสือในห้องสมุด หรือ ทางเดินระหว่างชั้นวางของในซุปเปอร์มาเกต

 

» แบบฝึกหัดออกเสียง R และ L

» ไปบทถัดไป 8. เสียง ch และ sh    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 3 กุมภาพันธ์ 2017

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

19 + two =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net