5. รูปประโยคแบบถูกกระทำ (Passive Voice)

ตัวอย่างรูปประโยคที่เราได้เห็นมาในบทก่อน ๆ เป็นแบบที่เรียกว่า active voice คือ ประธานเป็นผู้กระทำ อีกแบบหนึ่งที่จะพูดถึงในบทนี้ คือ เมื่อประธานเป็นผู้ถูกกระทำำ หรือเรียกว่า passive voice  ก็มีรูปแบบการใช้โดยมีกริยา to be ตามด้วยกริยาช่องสาม ลองมาแปลงเป็นประโยคกาลเวลาแบบต่าง ๆ ที่เราได้เห็นมาแล้วในบทก่อน ๆ ดูนะครับ เช่น

  • The dog is beaten.  สุนัขถูกตี
  • The dog is being beaten.  สุนัขกำลังถูกตี
  • The dog has been beaten.  สุนัขถูกตีมา หรือ สุนัขถูกตีแล้ว
  • The dog can be beaten.  สุนัขถูกตีได้
  • The dog should have been beaten.  สุนัขควรจะถูกตีไปแล้ว

 

Passive Voice กับภาษาไทย

ถ้าเทียบกับภาษาไทย ก็เหมือนคำว่า “ถูก” เป็นตัวอธิบายการถูกกระทำใช่ไหมครับ แต่ถ้าสังเกตให้ลึกอีกหน่อย บ่อยครั้งเราใช้แบบหลวม ๆ คือไม่เคร่งเรื่องไวยกรณ์นักว่าประธานเป็นผู้กระทำ หรือถูกกระทำ เช่น เราอาจพูดว่า บ้านนี้สร้างเมื่อปีก่อน ซึ่งก็มีความหมายเดียวกับ บ้านนี้ถูกสร้างเมื่อปีก่อน แต่ในที่นี้เราก็นิยมพูดแบบแรกมากกว่า  แต่ในภาษาอังกฤษประโยคนี้ต้องใช้เป็นประโยคแบบถูกกระทำ คือ

  • This house was built last year.

ถ้าจะบอกว่าทำโดยใคร ก็ใช้ by ง่าย ๆ เหมือนในภาษาไทย เช่น

  • The dog has been beaten by him.
  • This house was built by a famous man.

ภาษาอังกฤษก็พอมีเหมือนกันนะครับ ที่ไม่เคร่งครัด แต่มีน้อย ซึ่งขึ้นกับความหมายของศัพท์ ศัพท์บางคำมีความหมาย ในแบบกระทำ หรือ ถูกกระทำคล้าย ๆ กัน เช่น คำว่า hurt แปลว่า ทำร้าย หรือ ทำให้เจ็บ ก็ได้  แต่แปลว่า เจ็บ ตรง ๆ ก็ได้  ศัพท์คำนี้ก็เลยใช้กันได้หลวม ๆ เหมือนภาษาไทย เช่น

  • My leg is hurt.   ขาฉันเจ็บ (บังเอิญกริยาช่องสามของ ่hurt มีรูปเดียวกับช่องหนึ่ง)
  • My leg hurts.  ความหมายเดียวกันกับข้างต้น  My leg is hurting.  ขาฉันกำลังเจ็บอยู่

แต่มีน้อยครับ ปัญหาของเรานั้นก็จะเป็นที่ว่า คำหลาย ๆ คำในภาษาอังกฤษนั้นใช้แบบถูกกระทำได้ แต่คนไทยเราไม่ใช้กันแบบนั้น เช่น เราไม่พูดว่า อาหารถูกกิน หรือ คำถามถูกตอบ แต่ภาษาอังกฤษนั้นเขาใช้กันเป็นเรื่องปกติ และก็แยกแยะไวยกรณ์ระหว่าง passive กับ active voice อย่างชัดเจน เช่น

  • He was born in 2004.  เขาเกิดเมื่อปี 2004   born มาจากกริยา bear แปลว่าให้กำเนิด  เวลาบอกว่าเกิด ภาษาอังกฤษก็เลยต้องใช้ว่า to be born
  • It has been said that … “มีการกล่าวกันว่า …”
  • This drug must be taken with food. “ยานี้ต้องทานกับอาหาร”
  • This question has not been answered. “คำถามนี้ยังไม่มีใครตอบ”
  • Have you been served? เวลาเข้าไปในร้านอาหาร หรือร้านค้าก็อาจจะมีพนักงานมาถามคำถามนี้เรา ก็หมายถึงว่า “มีคนมาให้บริการหรือยัง” หรือ “คุณได้สั่งอาหารหรือยัง”

เพราะฉะนั้น สรุปว่าเราก็ต้องทำความคุ้นเคยกับคำศัพท์นะครับ ศัพท์บางคำก็มีความนิยมใช้ไม่เหมือนกัน  บางคำเช่น bear เราคิดเป็นแบบกระทำในภาษาไทย แต่ฝรั่งเขาใช้เป็นแบบถูกกระทำ ก็ต้องใช้ให้ถูกตามเขา ให้เข้าใจความหมาย อย่าไปแปล  ถ้าต้องแปลก็อย่าไปแปลตามตัวอักษรจนเกินไป

 

การมองกริยาเป็นคำคุณศัพท์

สังเกตไหมครับ ว่ารูปประโยคแบบถูกกระทำนี้ คล้ายกับรูปประโยคอะไร  มองในแง่หนึ่ง มันคล้ายกับรูปประโยคกำลังทำ (Continuous tense)  เพราะมีกริยาช่วย to be เหมือนกัน ต่างกันที่ใช้กริยาช่องสาม หรือกริยาตามด้วย ing เช่น

  • The car is running fast.   รถกำลังวิ่งเร็ว
  • The car is driven fast.   รถถูกขับเร็ว

เราจะมองแบบปกติว่า running กับ driven เป็นคำแปลงมาของกริยาเหมือนที่อธิบายมาก็ได้ หรือ ในอีกมุมมองหนึ่ง เราจะมองว่ามันทำหน้าที่คล้ายคำคุณศัพท์ (adjective) เพื่อบอกอาการ หรือลักษณะของรถก็ได้ แล้วกริยา to be ตรงนี้ก็เป็นกริยาแท้มีความหมาย เป็น/อยู่/คือ  เหมือนเราพูดว่า The car is fast.  fast ก็เป็นคำคุณศัพท์บอกลักษณะรถ ในที่นี้ก็เช่นเดียวกัน running กับ driven ก็มองได้ว่าเหมือนเป็นคำคุณศัพท์บอกลักษณะรถ ว่ารถคันนี้วิ่งอยู่ หรือถูกขับอยู่

ในภาษาอังกฤษนั้นก็ถือว่า กริยาช่องสาม และกริยาเติม ing สามารถทำหน้าที่เทียบเท่าคุณศัพท์ได้ ซึ่งนอกจากใช้ในรูปประโยคกับ verb to be แล้ว ก็ยังเอามาขยายคำนามตรง ๆ ได้ด้วย เช่น

  • The running car is not mine.  รถที่วิ่งอยู่ไม่ใช่ของฉัน
  • The driven car is a Honda.  รถที่(มีคน)ขับเป็นยี่ห้อฮอนด้า

ในที่นี้ running และ driven ทำหน้าที่ขยาย car  มันยังคงความหมายของมันว่า ถ้าเป็นกริยา ing ก็คือ สิ่งที่ขยายเป็นผู้ทำ ถ้าเป็นกริยาช่องสามก็คือเป็นผู้ถูกกระทำ  ผมจะพูดขยายความให้กว้างกว่านี้อีกในบทต่อ ๆ ไป  ตอนนี้เอาแค่ง่าย ๆ อย่างนี้ก่อน

ถ้าเราสังเกตดี ๆ การใช้ passive voice หลาย ๆ ครั้ง ไม่เชิงมีความหมายว่าถูกกระทำ แต่กลับกลายเป็นการบอกลักษณะ หรืออาการของประธาน เช่น My leg is hurt. ที่ยกมาข้างต้น จะคิดว่ามีอะไรมาทำให้เจ็บก็ได้ (is hurt by something) หรือ มีอาการเจ็บเองก็ได้ ดูตัวอย่างเพิ่มเติม เช่น

  • I am done.  ฉันทำเสร็จแล้ว  ไม่ได้แปลตามรูปประโยคว่า ฉันถูกทำ  มันก็กลายมาจาก The work is done.  งานนี้เสร็จแล้ว (คือ งานนั้นถูกทำเสร็จ)  แต่ก็เอามาใช้กับคนว่า คนทำเสร็จได้
  • He is gone.  เขาจากไปแล้ว
  • He is drunk.  เขาเมาเหล้า

ประโยคข้างต้น คำที่ตามมาก็ทำหน้าที่เป็นคำคุณศัพท์  เราไม่ต้องไปเครียดว่า จะต้องมองแบบไหน เป็นคุณศัพท์ หรือเป็น passive voice เพราะทั้งสองแบบเทียบเท่ากัน บางทีก็กลมกลืนกัน แยกไม่ออก เหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน แต่มองคนละมุม

» ไปบทถัดไป 6. กริยาบอกความรู้สึก    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 27 มกราคม 2017

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

eighteen − 17 =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net