Phrasal verbs

Phrasal verb คือ กริยาวลี หรือ กริยาที่รวมกับบุพบท ที่เราได้ยกตัวอย่างมาหลายตอนที่ผ่านมา  ก็ขอเล่าเพิ่มอีกนิดในภาพรวม  บางคนถามว่า รู้ได้ยังไงว่า ตอนไหนมีความหมายพิเศษ และตอนไหนมีความหมายตามตัวอักษร  ขอตอบแบบยกตัวอย่างภาษาไทย เช่น คำว่า เข้าตา ส่วนใหญ่มีความหมายพิเศษ แต่ก็ใช้ความหมายตามตัวอักษรได้ เช่น ขี้ผงเข้าตา เราก็รู้ได้ไม่มีปัญหา จากสถานการณ์บ้าง รูปประโยคบ้าง ท่วงทำนองการพูดบ้าง บางทีพวกตลกก็เอามาเล่นเป็นมุขได้ เพราะมีความหมายได้สองแบบ  ในภาษาอังกฤษก็มีลักษณะเดียวกันเลย เช่น pull off ที่เพิ่งเล่าไปจะมีความหมายตามตัวว่าดึงให้หลุดออกมาก็ได้  หรือ ความหมายพิเศษว่าทำได้สำเร็จก็ได้   look up จะใช้ในความหมายตามตัวว่ามองขึ้นข้างบนก็ได้ หรือใช้ในความหมายพิเศษว่า เปิดหา ก็ได้

ภาษาอังกฤษก็มีวลีพวกนี้เรียกว่า มหาศาล ผมว่าน่าจะเป็นพัน  มาจากคำง่าย ๆ ที่เรารู้แล้วทั้งนั้น วลีหลายตัวเราก็คุ้นเคยอยู่แล้ว แต่ก็มีอีกมากที่เขานิยมใช้ แต่เราไม่คุ้นเคย  ตอนผมไปทำงานกับฝรั่งใหม่ ๆ ก็ต้องมาหัดใช้คำพวกนี้ตามเขา เพราะบางอย่างไม่มีคำศัพท์ที่ใช้แทนได้ หรือเขาไม่นิยมใช้กัน เช่น คำว่าส่งการบ้าน เราพูดว่าส่งการบ้านก็ไปแปลว่า send homework แต่จริง ๆ ไม่ใช่ คำว่า send ใช้เวลาส่งไปรษณีย์ หรืออีเมล ถ้าเราส่งวิธีนั้นก็ใช้ send ได้   แต่ถ้าเราส่งในห้องเรียน ต้องใช้ว่า hand in homework หรือ submit homework ก็ได้ (ไม่ระบุวิธีส่ง)

ลองดูความหลากหลายของกริยาพวกนี้ดู

  • กริยาวลีบางตัวก็มีความหมายพิเศษอย่างเดียว หรือไม่ค่อยนิยมแบบใช้ตามตัวอักษร เช่น take over แปลว่า เข้าครอบครอง
  • กริยาวลีบางตัวก็ไม่เชิงว่าเป็นความหมายพิเศษ เพราะใกล้เคียงกับความหมายตามตัวอักษร เช่น คำว่า come up  เราก็ควรรู้ว่านิยมใช้กับอะไร ตอนไหนบ้าง
  • กริยาวลีบางตัวก็ใช้แบบไม่มีกรรม เช่น get by   บางตัวใช้แบบมีกรรมเสมอ เช่น put on something บางตัวมีใช้แบบมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เช่น come by
  • กริยาวลีที่มีกรรมบางตัว ถ้ากรรมเป็นสรรพนาม ก็ต้องใช้อยู่ตรงกลางระหว่างกริยากับบุพบท เช่น  put it on, put them on  แต่ถ้าไม่ใช่สรรพนามจะวางตรงกลางหรือข้างหลังก็ได้ เช่น put a hat on หรือ put on a hat
  • กริยาวลีบางตัววางกรรมไว้ข้างหลังเสมอ ถึงแม้เป็นสรรพนามก็ตาม เช่น come across it, run into him
  • กริยาวลีบางตัวมีบุพบทสองตัวประกบ เช่น look forward to, come up with
  • กริยาวลีบางตัวมีกรรมสองตัว เช่น run something by someone

สรุปว่าไงครับ ผมว่าสรุปเป็นกฎไวยกรณ์ไม่ค่อยเหมาะ ที่เล่ามานี้เพื่อให้เห็นว่า มันมีรูปแบบหลากหลาย อย่าคิดว่าทุก ๆ คำมีรูปแบบการใช้ที่เหมือนกัน  ให้พยายามจำเป็นตัว ๆ ไปดีกว่า รู้ความหมาย รู้รูปแบบที่ใช้ รู้สถานการณ์ที่ใช้ หัดสังเกตให้คุ้นเคย แล้วก็หัดใช้เอา

Updated: 19 เมษายน 2014

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

seventeen − nine =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net