7. วลีที่มาจากกริยา

เราได้เห็นจากสองบทที่แล้ว แล้วว่า กริยาเติม ing กับ กริยาช่องสาม สามารถเอามาใช้เป็นคำคุณศัพท์ขยายนามได้ บทนี้เรามาขยายความกันต่อถึงการใช้คำกริยาเติม ing กับ กริยาช่องสามเพื่อทำเป็นวลี (กลุ่มคำที่ไม่ใช่ประโยค)  วลีนี้สามารถเอามาขยายประโยคในส่วนต่าง ๆ ได้

รูปต่าง ๆ ของวลีที่ขึ้นต้นด้วยกริยา

วลีที่มาจากกริยา สามารถขึ้นต้นด้วยรูปกริยาเหล่านี้

  1. ขึ้นด้วยกริยา ing (V+ing) เช่น kicking the dog.
  2. ขึ้นด้วยกริยาช่องสาม (V3) เช่น bitten by the dog
  3. ขึ้นด้วย to + กริยาช่องหนึ่ง (to V1) เช่น to do something
  4. ขึ้นด้วยกริยาช่องหนึ่ง (V1) เช่น do something

วลีเหล่านี้ สามารถทำหน้าที่เป็นส่วนต่าง ๆ ในประโยค เช่น เป็นนามก็ได้ เป็นตัวขยายนาม (คล้าย adjective) ก็ได้  เป็นตัวขยายการกระทำ (คล้าย adverb) หรือ บางทีก็เป็นส่วนเติมเต็มของประโยคก็ได้ บางทีก็มองได้หลายแบบว่าวลีหนึ่ง ๆ ทำหน้าที่อะไรในประโยค  ผมว่าอย่าไม่เครียดกับทฤษฎีมากเกินไป เราเน้นให้คุ้นเคย และเอาไปใช้ให้ถูกต้องได้ก็พอ

เมื่อใช้ขยายนาม

เราเห็นมาแล้วว่าถ้าเป็นคำ ๆ เดียวขยายนาม ก็มักจะใส่ไว้ข้างหน้านาม เช่น a running man  หรือ the driven car แต่พอมาเป็นวลี มักจะวางไว้ข้างหลังนาม  ตัวอย่างเช่น

  • I see a man running to the school.   ประโยคหลัก คือ I see a man  ส่วน running to the school ก็มาขยายว่า คนที่เราเห็นเขาเป็นอย่างไร
  • The man working at the school is my brother.  ผู้ชายคนที่ทำงานที่โรงเรียน(คนนั้น)เป็นพี่ชายฉัน
  • I see a man bitten by a dog.   เช่นเดียวกันครับ คราวนี้้ใช้กริยาช่องสาม เพราะ คนนั้นเป็นผู้ถูกกระทำ  bitten by a dog คือ ถูกหมากัด
  • The man bitten by the dog died last night.  ผู้ชายคนที่ถูกหมากัด เสียชีวิตแล้วเมื่อคืนนี้

หมายเหตุหน่อยว่า การใช้วลีที่ขึ้นด้วยกริยาเหล่านี้ คิดอีกแบบหนึ่งก็เหมือนการย่อมาของการใช้ประโยคย่อย เช่น a man running to the school ก็ความหมายคล้ายกับ a man who is running to the school.  ผมจะพูดถึงประโยคย่อยอีกทีในบทต่อ ๆ ไป ตอนนี้เอาแค่หมายเหตุเฉย ๆ ใครยังไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร

สำหรับวลีที่ขึ้นต้นด้วย to V1 ก็ใช้ได้ในลักษณะเดียวกัน แต่จะให้ความหมายคล้าย ๆ เป็นเรื่องอนาคต ว่าสิ่งที่ขยายนั้นจะทำอะไร หรือเพื่ออะไร เช่น

  • The is the food to feed the children.   อันนี้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงเด็ก
  • This is the right thing to do.  อันนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่ควรจะทำ
  • The shortest way to go to the office is through Sukumvit road.  ทางที่สั้นที่สุดที่จะไปที่ทำงานคือไปทางถนนสุขุมวิท

 

เมื่อใช้เป็นนาม

สำหรับวลีที่ทำหน้าที่คล้ายคำนาม อาจเป็นวลีที่ขึ้นต้นด้วย V+ing หรือ to V1  ส่วนอีกสองแบบนั้น ไม่น่ามีใช้นะครับ  V+ing ที่ทำหน้าที่คล้ายคำนามก็มีความหมาย คล้ายกับในภาษาไทยว่า “การ”  เช่น walking to work  การเดินไปโรงเรียน  เช่น

  • Walking to work will save you some money.  การเดินไปทำงานจะช่วยประหยัดเงินคุณได้บ้าง
  • Walking is a good exercise.  การเดินเป็นการออกกำลังกายที่ดีอย่างหนึ่ง  ผมเอาแบบคำ ๆ เดียวมาให้ดูบ้าง จะวลี หรือคำเดียวก็ใช้งานได้เหมือนกันนะครับ
  • He likes watching TV.   เขาขอบดูโทรศัทน์
  • The is the food for feeding the children.  อันนี้เป็นอาหารสำหรับเลี้ยงเด็ก  ต่างกันที่ว่า feeding the children คราวนี้เป็นนาม ก็เลยต้องนำด้วยคำบุพบทเพื่อให้ได้ความหมายเหมาะสม  for feeding the children
  • We can make the world better by being kind to others.   เราสามารถทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้นด้วยความใจดีแก่ผู้อื่น

ส่วน to V1 ก็มีความหมายเป็นอนาคต คล้าย ๆ “การจะ” เช่น

  • To climb the mountain like that is crazy.   จะปีนเขาแบบนั้นก็บ้านะซิ
  • To love is not to possess.   การรัก ไม่ใช่การจะเป็นเจ้าของ
  • To have done something like that is crazy.   ทำอะไรอย่างน้้นมาก็บ้านะซิ   ผมลองใช้แบบ perfect tense (ทำแล้ว) ให้ดูนะครับ ก็ใช้ได้เหมือนกันแบบนี้
  • I want to go to school.   ฉันอยากจะไปโรงเรียน

 

เมื่อใช้เป็นการขยายการกระทำ

ในประโยคเราสามารถใส่คำวิเศษณ์ adverb เพื่อขยายการกระทำได้ใช่ไหมครับ อันนี้อาจจะมองยากหน่อย เพราะคำวิเศษณ์วางได้หลายที่ เช่น เราบอกว่า

  • He told the story quickly.   เขาเล่าเรื่องอย่างรวดเร็ว
  • He quickly told the story.   วางใกล้กริยาก็ได้
  • Quickly, he told the story.  วางข้างหน้าก็ได้

เวลาเอามาวางไว้ข้างหน้าประโยค เป็นการเน้นอาการนั้น ๆ ก็นิยมตามด้วยคอมมา ( , )  ถ้าเป็นการพูดก็ควรเว้นจังหวะนิดหนึ่ง

คราวนี้มาประยุกต์ใช้ วลีที่นำด้วยกริยาบ้างในประโยคเดียวกัน เช่น

  • He told the story thinking about his family.   เขาเล่าเรื่องขณะที่คิดถึงครอบครัวเขา
  • He, thinking about his family, told the story.
  • Thinking about his family, he told the story.

อันนี้ก็เช่นเดียวกัน เราคิดได้ว่า thinking about his family ย่อมาจาก while thinking about his family หรือ ทำเป็นประโยคย่อยก็ได้ คือ while he was thinking about his family เรื่องนี้เราจะพูดกันอีกครั้งในบทที่ 11

เวลาคำขยายวางข้างหน้า บางทีเราอาจก็จะมองเหมือนเป็นการขยายประธานก็ได้นะครับ เพราะส่วนใหญ่เป็นการอธิบายเพิ่มเติมถึงการกระทำของประธานนั้น ดูตัวอย่างเพิ่มเติมเช่น

  • Having run to the school, he became so tired.   หลังจากวิ่งไปโรงเรียน เขาก็เหนื่อยเอามาก  สังเกตว่า แทนที่จะใช้ running ในที่นี้ ผมใช้ Having run เป็นการประยุกต์ใช้รูปประโยคแบบทำแล้วมาเป็นแบบวลี  Having run to the school ก็ยังไม่ใช่ประโยคอยู่ เป็นแค่วลี  ส่วนประโยคแท้ กริยาแท้อยู่ที่ he became so tired.  ในที่นี้ ผมใช้ become ซึ่งเป็นกริยาที่สามารถตามด้วยคุณศัพท์ได้
  • Attracted by the flowers, the bees keep on coming.  พวกผึ้งมันหอมกลิ่นดอกไม้ ก็เลยพามากันใหญ่

To V1 บางตัวมีความหมายว่า เพื่อที่จะ หรือแทนได้ว่า in order to V1 เช่น

  • He went home to get his bag.   เขาไปบ้านเพื่อจะไปเอากระเป๋า เหมือนกับ He went home in order to get his bag.
  • To succeed in this project, we must work hard.  จะทำโครงงานนี้ให้สำเร็จได้ เราต้องขยันมาก  เหมือนกับ In order to succeed in this project, we must work hard.

 

การใช้ที่ควบคู่กับกริยาหลักในประโยค

ผมยังไม่ได้พูดถึงวลีที่ขึ้นด้วยกริยา V1 โดยไม่ต้องมี to เพราะที่ใช้จำกัดกว่า โดยมากจะใช้ควบคู่กับกริยาหลัก ตัวอย่างเช่น คำว่า make

  • I make him do this task.  ฉันทำให้เขาทำงานนี้   
  • I have him do this task.   ฉันให้เขาทำงานนี้
  • I get him to do this task.  ฉันเอาให้เขาทำงานนี้  
  • I order him to do this task.  ฉันสั่งให้เขาทำงานนี้  

ดูสิครับ ประโยคข้างต้นทั้งหมดความหมายคล้าย ๆ กัน มีวลีกริยาเป็นตัวขยายการกระทำ แต่ถ้ากริยาหลักเป็น make หรือ have ต้องใช้ V1  ถ้ากริยาหลักเป็น get หรือ order ต้องใช้ to V1  ถามว่าใช้ผิดคนอื่นจะฟัง หรืออ่านรู้เรื่องไหม ก็คงรู้เรื่อง แต่เขาไม่ใช้กัน กลายเป็นกฎไวยกรณ์ที่ขึ้นกับกริยานั้น ๆ ไป  นี่ก็เป็นปัญหาสำหรับผู้เรียนหน่อย ผมก็แนะนำว่าให้ทำความคุ้นเคยเป็นคำ ๆ หรือเป็นสำนวน ๆ ไป ฝึกให้คุ้นเคย และก็จะได้ใช้ไม่ผิด

บางทีก็ไม่ถึงกับผิด แต่นิยมใช้แบบเดียว เช่น

  • I suggest you go to the movie.   เราไม่นิยมใช้ I suggest you to go to the movie.
  • I advise you to go to the movie.   เราไม่นิยมใช้  I advise you go to the movie.

คำกริยาหลาย ๆ คำ ก็ใช้ได้มากกว่าหนึ่งแบบ และก็ให้ความหมาย หรือความรู้สึกแตกต่างกันไป โดยเฉพาะพวก to V1 กับ V+ing สองแบบ เช่น

  • I like to learn new things. กับ I like learning new things.  ใช้ได้ทั้งสองแบบ ความหมายต่างกันหน่อย แบบแรกคล้าย ๆ อยากจะเรียน  แบบที่สอง คือ ชอบเรียน (เหมือนเป็นนิสัย)
  • I see a man run to the school. กับ I see a man running to the school.  ใช้ได้ทั้งสองแบบ แบบที่สองก็เน้นการกระทำที่เห็นมากกว่า  นอกจาก see แล้วศัพท์ที่เกี่ยวกันการสัมผัสก็ใช้ได้ทำนองเดียวกัน เช่น watch, hear, smell, feel  เป็นต้น
  • He stopped to eat lunch.   เขาหยุดเพื่อกินข้าวเทีี่ยง กับ He stopped eating lunch.  เขาหยุดกินข้าวเทีี่ยง  สำหรับ stop สองแบบนี้ความหมายตรงกันข้ามกันเลย

» ไปบทถัดไป 9. กริยาแท้ และส่วนประกอบในประโยค    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 24 มกราคม 2017

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

eighteen − thirteen =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net