3. รูปประโยคอนาคตกาล

จากอดีตในบทที่แล้วก็มาสู่อนาคตกันในบทนี้ ว่าไปแล้วผมไม่อยากจะเรียกว่ารูปประโยคกาลเวลามีทั้งหมด 12 แบบเลย หนึ่งมันฟังดูเหมือนต้องจำเยอะแยะ สองมันก็เป็นความเข้าใจที่คับแคบไป (ที่จริงมีมากกว่านี้ !!) วิธีเรียนที่ถูก ต้องไม่ต้องจำมาก ให้ใช้ความเข้าใจ แล้วในที่สุดก็เปลี่ยนเป็นความเคยชิน ดังนั้น ควรเปลี่ยนมาจำว่า รูปประโยคมีพื้นฐานมีสี่แบบ คือ ทำ, กำลังทำ, ทำแล้ว, ทำมาอยู่  เมื่อเข้าใจสี่สหายนี้แล้ว ก็สามารถประยุกต์ไปเป็นการเข้าใจแบบอดีต และอนาคตด้วย  คิดในแง่ดีก็คือ ลงทุนเพิ่มอีกนิดเดียว ก็ได้ผลคูณสามเลย  แล้วมันก็ไม่ได้หมดแค่นี้ด้วย ในบทต่อ ๆ ไป คุณจะเห็นว่ามันประยุกต์ไปใช้ได้มากกว่านี้อีก ไม่ได้จำกัดแค่รูปประโยค 12 แบบนี้ เพราะฉะนั้น ถ้าใครไปท่องจำก็อาจจะปวดหัว Smile

แนะนำตัวละคร

ตัวละครใหม่สำหรับรูปประโยคแบบอนาคตกาล ซึ่งรูปแบบไวยกรณ์เป็นดังนี้

  1. Future Simple:           will do
  2. Future Continuous:   will be + doing
  3. Future Perfect:          will have + done
  4. Future Perfect Continuous:  will have been + doing

 

อนาคตธรรมดา กับอนาคตแบบเน้นการกระทำ

อนาคตแบบธรรมดา หรือ Future Simple Tense นี่ ตรงกับภาษาไทย  เราใช้คำว่า “จะ” เขาก็ใช้ “will”  ไม่ต้องเปลี่ยนรูปตามประธานด้วย เพราะฉะนั้น เข้ากับความรู้สึกของเราโดยตรง ไม่ต้องอธิบายกันมาก  ตัวที่ต้องทำความเข้าใจกันก็ คือ Future Continuous นี่แหละครับ มันเป็นอย่างไร will be doing เคยเห็นบางคนแปลว่า “จะกำลังทำ” ขอความกรุณาว่า เลิกแปลเป็นภาษาไทยตรง ๆ นะครับ ภาษาเราไม่มีใครพูดว่า “จะกำลังทำ” ฟังแล้วตลก แปลแล้วยิ่งทำให้ตัวเอง และคนอื่นงงเปล่า ๆ   แล้วแปลว่า “กำลังจะทำ” ได้ไหม ไม่ถูกครับ คนละความหมายกัน (“กำลังจะทำ” ในภาษาอังกฤษมีสำนวนว่า is/am/are about to do)

ตอนผมไปอเมริกาใหม่ ๆ ก็ฉงนใจในเรื่องภาษาหลายอย่าง หนึ่งในนั้นที่ชัดเจนมาก ก็คือ เห็นว่าคนใช้ Future Continuous Tense กันตลอดเวลา แต่เรานั้นไม่เคยใช้มาก่อนเลย  เราก็มองว่า มันพูดยากกว่า ไปใช้ทำไม แต่เจ้าของภาษานั้น เขาก็ใช้สลับกันไปมา เหมือนเขาใช้ Present Simple สลับกับ Present Continuous นะครับ เราเข้าใจแบบปัจจุบันกาลได้ง่าย ๆ ก็เพราะภาษาไทยมีเหมือนกัน แต่เราไม่เข้าใจ Future Continuous ซึ่งจริง ๆ แล้วก็มีหลักการคล้าย ๆ กัน

ยกตัวอย่างเช่น เราจะพูดว่า I’ll see you. หรือ I’ll be seeing you.  ความหมายก็เหมือนกันว่า เดี๋ยวเจอกันนะ  ต่างกันนิดเดียวว่า แบบหลังนี้เน้นให้เห็นการกระทำมากกว่า ในที่นี้คือ อาการเจอกัน  เช่น ถ้ามีการนัดแนะกันว่า จะเจอที่ไหน เมื่อไร แล้วอยากจะเน้นก็พูดว่า

  • I’ll be seeing you at one o’clock.  เดี๋ยวเจอกันตอนหนึ่งโมงนะ

ใครจะพูดว่า I’ll see you at one o’clock.  ก็ได้ ไม่ได้ผิดอะไร ไม่ได้แปลกอะไร แต่ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องเน้นการกระทำ  เช่น เวลาจากกันชั่วครั้งชั่วควาว สำหรับคนไปมาหาสู่กัน ฝรั่งก็มักพูดลาแบบกันเอง ๆ ว่า See you.  บางคนก็พูดเต็มหน่อยว่า I’ll see you.  หรือ I’ll see you around.  หมายความว่า แล้วเจอกันนะ  อย่างนี้ก็ไม่ควรที่จะพูดเน้นว่า I’ll be seeing you around.  แต่ถามว่าผิดไหม ผมก็ว่าไม่ผิดอีก บางทีแล้วแต่สไตล์ส่วนบุคคล  บางทีคนก็ใช้สลับกันไปมา โดยไม่ตั้งใจนัก ดังนั้น ความคาบเกี่ยวของ ทำ กับ กำลังทำ แบบอนาคนนี้ค่อนข้างจะมีมาก เผลอ ๆ น่าจะมากกว่าแบบปัจจุบันกาลเสียอีก

ลองมาดูตัวอย่างเพิ่มเติมของการใช้ Future Continuous ให้ชินมากขึ้นกันอีกหน่อย ในกรณีที่ผู้พูดอยากเน้นให้เห็นภาพพจน์ของเหตุการณ์ หรือการกระทำนั้นว่ามันไม่ใช่แค่จุดเดียวในอนาคต แต่เป็นเหตุการณ์ หรือการกระทำที่กินเวลา ก็นิยมใช้ Future Continuous เช่น

  • สมมติผู้พูดเป็นวิทยากร กำลังบรรยายอะไรสักอย่าง แล้วกำลังเปลี่ยนจากการพูดมาเปิดวีดีโอให้คนดู เขาอาจพูดว่า In the next half hour, you will be watching a video about …  ในครึ่งชั่วโมงต่อไปนี้ คุณจะได้รับชมวีดีโอเกี่ยวกับ …   In the video, you will be seeing …  ในวีดีโอนี้ คุณจะได้เห็น …
  • สมมติว่า กำลังเดินทางอยู่ แล้วโทรศัพท์กลับบ้านบอกว่า จะกลับบ้านคืนนี้นะ  ก็พูดได้ว่า  I will be coming home tonight.   เป็นการเน้นถึงกริยาการกลับบ้านนี้ คือ คนพูดอาจจะจากบ้านไปนาน หรือคนฟังอาจจะเฝ้ารอการกลับอยู่  ใครมีอายุหน่อยอาจจำประโยคนี้ได้ จากเพลง Unchained Melody ในภาพยนตร์ดังสมัยสักยี่สิบปิก่อน ในเพลงมีคำพูดว่า “I’ll be coming home.  Wait for me.”
  • Will Thailand be doing fine in AEC?  ประเทศไทยจะไปด้วยดีไหมใน AEC

ลองมองหา Future Continuous ในสื่อต่่าง ๆ ที่คุณได้ฟัง และอ่านดูนะครับ รับรองว่ามีเจอเยอะมาก แล้วก็จะชิน แล้วก็ไม่ต้องแปล

 

อนาคตโดยใช้ To be going to

ประโยคแบบอนาคตนั้นมีอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเทียบเท่ากับ Future Simple และ Future Continuous  ก็คือ การใช้ to be going to แทน will  ซึ่งรูปแบบก็สรุปได้ดังนี้

  1. Future Simple แบบอ่อน:   is/am/are + going to + do
    ในภาษาพูดสามารถย่อได้เป็น      is/am/are + gonna + do
  2. Future Continuous แบบอ่อน: is/am/are + going to be + doing
    ในภาษาพูดสามารถย่อได้เป็น          is/am/are + gonna + do

การย่อ going to เป็น gonna (อ่านว่า -[กอน]-นา-) นี้  เป็นที่นิยมกันมากในภาษาพูด  ได้ยินตลอดเวลาทั้งอเมริกัน และชาติอื่น ๆ   เพราะมันพูดได้ง่ายกว่า เร็วกว่า   เช่น I’m going to do this.  ก็กลายเป็น I’m gonna do this. ซึ่งประโยคนี้มีความหมายเดียวกันการใช้ Future Simple  คือ I will do this.

ถ้าถามว่าให้ความรู้สึกต่างกันอย่างไร ระหว่าง I’m gonna หรือ going to … กับ I will …   ก็ตอบได้ว่า I will มีความหมายที่แข็งกว่าหน่อย กล่าวคือ ถ้าเป็นการกระทำของตัวเอง (I will …) ก็ให้ความรู้สึกว่าผู้พูดมีความมุ่งมั่นมากกว่า  ถ้าพูดถึงคนอื่น หรือสิ่งอื่น (Someone will… Something will…) ก็ให้ความรู้สึกว่า ผู้พูดมั่นใจมากกว่าว่าอนาคตนั้นต้องเกิดขึ้นแน่  อย่างไรก็ตาม ความหมายไม่ได้แตกต่างกัน แค่ความรู้สึกต่างกันหน่อย โดยทั่วไปใช้แทนกันได้  ไม่ต้องเครียดนัก  ตัวอย่างเช่น

  • They are (going to/gonna) go to school.   พวกเขาจะไปโรงเรียน
  • Are we (going to/gonna) go to school?
  • John is (going to/gonna) be here.  เดี๋ยวจอร์นจะมา
  • You are (going to/gonna) learn about this.

และสำหรับ Future Continuous  ผมขอใช้ตัวอย่างที่เคยยกไปแล้วนะครับ จะได้เทียบให้เห็นกัน

  • You are (going to/gonna) be watching a video about …    In the video, you are (going to/gonna) be seeing …
  • I am (going to/gonna) be coming home.

จำหนังเรื่อง Terminator หรือ คนเหล็กได้ไหมครับ  พระเอกอาร์โนล์ดมีพูดอยู่ประโยคหนึ่งว่า I’ll be back. ประโยคนี้กลายเป็นประโยคติดหู ใครพูดประโยคนี้แล้วทำเสียงต่ำ ๆ คนก็รู้กันว่า เป็นการพูดติดอารมณ์ขัน ซึ่งเอามาจากหนังเรื่องนี้   ถ้าอาร์โนล์ดไปพูดว่า I’m gonna be back. มันก็ฟังอ่อน ไม่เข้ากับบุคลิก และก็คงไม่กลายเป็นประโยคฮิต

 

อนาคตโดยใช้ Present Continuous

Present Continuous Tense หรือ ปัจจุบันแบบกำลังทำ โดยปกติ  จะใช้อธิบายเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน  แต่ก็สามารถใช้อธิบายการกระทำที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ได้  ผมพูดเกร่นไปทีหนึ่งแล้วไปในบทที่ 1 ขอซ้ำอีกที  การใช้แบบนี้นิยมมากอีกเช่นเดียวกันในภาษาพูด โดยทั่วไปจะใช้กับบุคคล และมักเป็นกริยาที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง (come, go, arrive, leave, …) แต่ก็ไม่จำเป็นเสมอไป  ให้ความรู้สึก เหมือนอนาคตนั้นกำลังเกิดขึ้นแล้วในใจผู้พูด และก็เน้นการกระทำคล้าย ๆ กับ Future Continuous ดูตัวอย่างครับ

  • What are you doing tomorrow?   พรุ่งนี้จะทำอะไร   I am going to school.  พรุ่งนี้จะไปโรงเรียน   ทั้งคำถาม และคำตอบนี้มีความหมายเป็นอนาคต เพราะผู้ถามใส่คำว่า tomorrow ลงไป เป็นการตั้งสถานการณ์ว่าเป็นเรื่องของวันพรุ่งนี้  แต่ถ้าไม่มีคำว่า tomorrow ในที่นี้ก็จะกลายเป็นถามว่า ตอนนี้ทำอะไรอยู่  การใช้ประโยคปัจจุบันกาลในความหมายอนาคต จึงมักต้องมีคำขยายแสดงความเป็นอนาคต หรือ มีสถานการณ์ที่ประกอบเป็นที่เข้าใจกันทั้งผู้พูด และผู้ฟังว่าเป็นอนาคต
  • I am coming home soon.  ก็ความหมายคล้ายกับ  I will be coming home soon.
  • I am traveling to Europe next week.  ฉันจะไปยุโรปสัปดาห์หน้า
  • When are you leaving? จะไปเมื่อไร อันนี้เป็นอนาคตโดยปริยาย
  • She’s having a baby.  เธอกำลังจะมีลูก อันนี้ก็เป็นอนาคตโดยปริยาย เป็นสำนวนพูดที่มี ความหมายเดียวกับ She’s pregnant. คือ เธอกำลังท้องอยู่

 

จะทำอะไรแล้วในอนาคต

สำหรับรูปประโยคแบบ Future Perfect กับ Future Perfect Continuous  คิดว่ามาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะเดาได้แล้วนะครับ ว่า คือ การใช้ในการอธิบายถึงการกระทำ หรือเหตุการณ์ ซึ่งจะไปเสร็จสิ้นเมื่อถึงจุดใดจุดหนึ่งในอนาคต หรือ ดำเนินการมาจนถึงจุดใดจุดหนึ่งในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราจะพูดว่า เดือนหน้าฉันจะทำโปรเจคเสร็จ เราอาจพูดได้สองแบบ

  1. I will complete the project next month.
  2. I will have completed the project (by) next month.

ทั้งสองประโยคก็สื่อความหมายเดียวกัน แต่ให้ความรู้สึกต่างกันหน่อย แบบแรกใช้ Future Simple เป็นการบอกอนาคตแบบปกติว่า เมื่อถึงจุดนั้นจะเกิดอะไรขึ้น แบบที่สองใช้ Future Perfect เราบอกว่าเมื่อถึงจุดนั้นในอนาคต อะไรจะเกิดขึ้นไปแล้ว

สังเกตว่า คำขยายเวลาสำหรับ Future Perfect หรือ Future Perfect Continuous มักจะใช้คู่กับ by  ถ้าเราบอก by next month มันเหมายถึง เมื่อถึงเดือนหน้า  เหตุการณ์ที่จะบอกอาจเกิดก่อนจุดนั้นก็ได้ แต่เราบอกว่าเมื่อถึงจุดนั้นอะไรจะเกิดไปแล้ว อันนี้มันก็เลยเหมาะสมกับรูปประโยค Future Perfect หรือ Future Perfect Continuous อย่างมาก  แต่เราจะใช้ by กับ Future Simple ก็ได้ เช่น I will get this done by the end of today.   ฉันจะทำอันนี้ให้เสร็จภายในวันนี้

ดังนั้น ส่วนใหญ่ Future Simple ใช้แทน Future Perfect ได้นะครับ  สถานการณ์ หรือ คำขยายมันมักก็ช่วยในการสื่อความอยู่แล้ว  Future Perfect แค่เป็นการพูดเน้นถึงการดำเนินการมา และความแล้วเสร็จของเหตุการณ์นั้น ๆ  ลองดูตัวอย่างเพิ่ม

  • The party will have been over by the time you come.   กว่าคุณจะมาถึง งานเลี้ยงก็เลิกไปแล้ว  เช่น อันนี้ คือ คนที่เราพูดด้วยเขาคงบอกว่าจะมาสาย เราก็พูดเน้นไปว่า โอ้ย ถ้าสายขนาดนั้นงานเขาเลิกไปแล้ว ไม่ต้องมาหรอก
  • We will have spent all of our money by then.   เมื่อถึงตอนนั้นก็ใช้เงินหมดเกลี้ยไปแล้วนะสิ

มาดูตัวอย่าง Future Perfect Continuous บ้าง ก็ในหลักการเดียวกันกับแบบปัจจุบัน Present Perfect Continuous คือ เราใช้ Future Perfect Continuous  แทน Future Perfect ได้ ถ้าต้องการเน้นเติมถึงการดำเนินการ และความต่อเนื่องของเหตุการณ์ ไปจนถึงจุดนั้นในอนาคต เช่น

  • By 2020, we will have been living here for 15 years.   เมื่อถึงปี 2020 เราก็จะอยู่ที่นี่เป็นเวลา 15 ปี
  • We will have been driving for 4 hours by the time we get to Lop Buri.   ถึงลพบุรีเราก็จะขับรถไปแล้วสี่ชั่วโมง  ในที่นี้ คงจะถกกันถึงเรื่องความยาวของการขับรถอยู่ เช่นขับถึงไหนถึงจะพักกินข้าว อะไรทำนองนั้น

» ไปบทถัดไป 4. Would, could, should, etc    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 27 มกราคม 2017

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

seventeen − one =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net