6. เสียง v f และ w

เสียงพยัญชนะที่คนไทยสับสนอีกตัวหนึ่ง คือ เสียงตัว v  ตัว v นี้จัดได้ว่าเป็นญาติพี่น้องกับตัว f  กับ w  ซึ่งตรงกับเสียงในภาษาไทย คือ เสียง -ฟ- กับ -ว-   สำหรับเสียงตัว v นั้นภาษาไทยไม่มี  ผมก็ขอใช้ตัว -ฯ- แทนเสียงตัว v เมื่อเขียนแสดงการออกเสียงด้วยอักขระไทยนะครับ  (กรุณาไปอ่านบทที่ 5 ก่อนนะครับ)  สาเหตุที่ใช้ตัว  -ฯ- แทนก็เพราะมันดูคล้ายตัว -ว- ดี และคนไทยก็ชอบสับสนเสียงตัวนี้กับเสียง -ว-

 

เสียง v

ลองมาออกเสียงของตัวญาติพี่น้อง คือ f กับ w ที่เราคุ้นเคยกันดีเสียก่อน เช่น -เฟอะ- กับ -เวอะ-  สองตัวนี้ออกเสียงแบบไทย ๆ ได้ไม่ต้องดัดอะไร  ลองสังเกตเวลาออกเสียงสองคำนี้ดูซิครับว่าเป็นอย่างไร  เสียง -ฟ- เป็นเสียงที่ลมต้องพ่นผ่านฟันบนออกมา เริ่มต้นฟันบนจะสัมผัสกับริมฝีปากล่าง แล้วตอนส่งเสียงผ่านฟันออกมา ปากก็เปิดออกและฟันก็แยกออกจากริมฝีปาก ผมไม่ได้พยายามสอนให้คุณพูดเสียง -ฟ- นะครับ เพราะคนไทยทุกคนทำได้อยู่แล้ว แต่ต้องการให้สังเกตลักษณะของปากเราเวลาพูดเสียงนี้ เพราะเดี๋ยวเราต้องใช้กัน ลองออกเสียง -เฟอะ- หลาย ๆ ที แล้วสังเกตดูครับ ให้คุ้นเคย  คราวนี้ลองทำเสียง  -เวอะ- แล้วเทียบกันดูว่า ปากมันไม่ได้คล้ายกันเลย ปากต้องห่อเป็นกลม ๆ แล้วเสียงก็ไม่ผ่านฟัน

คราวนี้มาดูวิธีออกเสียงตัว v หรือ -ฯ- กัน  ให้จำง่าย ๆ ว่า เสียง -ฯ- นี้ ทำปากเหมือนเสียง -ฟ- แต่พยายามพูดเป็นเสียง -ว-  ลองออกเสียงเทียบกันดูระหว่าง -เฟอะ- กับ -เฯอะ-  เวลาทำเสียง -เฯอะ- นั้น บังคับปากให้เหมือนเสียง -เฟอะ- ทุกประการ ทั้งตอนเริ่มต้น และตอนเปล่งเสียง  แต่ดันพยายามพูดเป็นเสียง -เวอะ- แทน  เสียง -ฯ- นี้ลมจะผ่านฟันน้อยกว่า -ฟ- หน่อย  มีความก้องมากกว่า และอาจยาวกว่านิดหน่อย   ลองทำสลับกันไปมาดูระหว่าง -เฟอะ- กับ -เฯอะ- ให้มันสบายปากไม่ต้องเกร็ง ใครจะลองส่องกระจกดูก็ได้ ให้มั่นใจว่ารูปปากทำเหมือนกันเวลาพูดสองคำนี้   ถ้ารู้สึกยาก ก็ลองพ่นเสียงผ่านฟันให้น้อยลง ไม่ต้องให้แรงเหมือนกับตัว -ฟ-

วิธีออกเสียงตัว V

รูปปากของเสียง f กับ v หรือ -ฟ-กับ -ฯ-

ลองฝึกฟังและออกเสียงคำที่ขึ้นต้นด้วย v ดูนะครับ  ฝึกให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนกับเสียง -ว-  ลองพูดให้เพื่อนฟังดูก็ได้ บอกเขาว่า นี่แหละเสียง v ที่คุณฟังเป็นเสียง ว แหวน

  • van  -แฯน-
  • voice  -ฯอยส-
  • verb   -เฯิรบ-
  • very   -[เฯ]-รี-
  • view   -ฯิว-
  • value  -[แฯ]-ลู-
  • divide  -ดิ-[ไฯด]-  division  -ดิ-[ฯิ]-ฉัน-
  • over   -[โอ]-เฯอระ-
  • David   -[เด]-ฯิด-
  • Vietnam  -เฯียด-นาม-  ถ้าออกเสียงในภาษาไทย ก็เป็น ว แต่ในภาษาอังกฤษเป็นเสียง -ฯ-

ดังนั้น  คุณคงเห็นแล้วว่า จริง ๆ แล้วเสียง -ฯ- คล้ายกับเสียง -ฟ- มากกว่าเสียง -ว- เสียอีก  ตัวอักษร v นี่ก็ต้องพูดว่า -ฯี- นะครับ ไม่ใช้ วี   ชื่อใครที่มีเสียง ว ก็ควรจะสะกดด้วยตัว w ไม่ใช่ตัว v  ถ้าคุณใช้ผิดไป เปลี่ยนได้ก็เปลี่ยน  เปลี่ยนไม่ทัน หรือไม่อยากเปลี่ยนก็ไม่เป็นไร  ไม่ใช่เรื่องใหญ่  ถ้าเราเจอฝรั่งที่มาเมืองไทย หรือฝรั่งที่สนิทกันหน่อย ออกเสียงคำไทยที่สะกดด้วยตัว v แบบตัว v  เราก็อาจจะให้ความรู้เขาหน่อยว่า คุณพูดชื่อฉันไม่ชัดนะ ถ้าเจอชื่อไทยที่สะกดด้วย v ให้ออกเสียงเป็น w  คือ แทนที่เราจะว่าเราสะกดชื่อตัวเองผิด ก็ให้กลับเป็นว่า เขาอ่านไม่ถูกเองต่างหาก  ฮ่า ฮ่า  จริงๆ แล้ว นี่ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องผิดปกติ หรือตลกอะไร เพราะคำในภาษาอังกฤษที่ออกเสียงไม่ตรงกับรูปมีมากมาย โดยเฉพาะคำที่มาจากภาษาอื่น เช่น คำที่มาจากภาษาสเปนที่สะกดด้วยตัว j ต้องออกเสียงเป็นตัว h  เช่น เมือง San Jose ต้องอ่านว่า -ส่าน- -[โฮ]-เซ่- เป็นต้น  ฝรั่งด้วยกันเองถ้าไม่คุ้นเคย เขาก็อ่านผิดก็มี

ทางฝรั่งเขาจะสอนว่า เสียง  -ฯ- เป็นเสียงก้อง (เสียงจากคอ) และเสียง  -ฟ- เป็นเสียงไม่ก้อง (เสียงลมผ่านฟันเฉย ๆ) คนไทยเราฟังก็ไม่ค่อยเข้าหูเท่าไร คือ เวลาพูดรากเสียง -ฯ- นั้นให้จับคอแล้วรู้สึกว่าคอสั่น  ส่วนรากเสียง -ฟ- นั้นให้คอไม่สั่น เป็นเสียงลมผ่านฟันเฉย ๆ   อันนี้เวลาไปเป็นเสียงนำหน้า แล้วผสมสระ คอมันก็สั่นเสมอนะครับ เพราะเป็นเสียงของสระ เช่น van กับ fan ก็เราเลยมองไม่เห็นความแตกต่างของการแยกแยะอันนี้ แต่เสียงก้องกับไม่ก้องนี้ ความแตกต่างจะชัดเจนมากขึ้นเมื่อเป็นเสียงลงท้าย ซึ่งผมจะกล่าวในตอนต่อไป

 

เสียงลงท้ายด้วย v หรือ f

เมื่อเสียง -ฟ- กับ -ฯ- เป็นเสียงลงท้าย เราต้องทำปากให้ถูกต้องตอนท้าย สำหรับตัว -ฟ- ให้ออกเสียงลมผ่านฟันออกมาเฉย ๆ  แต่ตัว -ฯ- ให้ครางออกมาเป็น -เฯอะ-  เล็ก ๆ อยู่ปลายคำแทบไม่ได้ยิน  ทั้งสองตัวนี้ออกเสียงคล้ายกันมาก เสียงที่ลงท้ายด้วย -ฯ- จะก้องกว่า และยาวกว่า  ถ้าใครทำให้ต่างกันไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรครับ ตามปัญญาน้อย ๆ ของผมคิดว่า ความแตกต่างนี้ไม่ค่อยมีผลต่อการเข้าใจของคนฟังนัก  ขอให้ทำปากให้ถูกก็แล้วกัน  แต่ถ้าใครทำได้ก็ดี  ลองออกเสียงคำเหล่านี้ดู

  • have  -แฮฯ-
  • half   -แฮฟ- หรือ -ฮาฟ- ก็ได้
  • live  -ลิฯ-
  • leave  -ลีฯ-
  • leaf  -ลีฟ-
  • serve  -เสิรฯ-  แปลว่า ให้บริการ
  • serf   -เสิรฟ-  แปลว่า เล่นโต้คลื่น
  • cave  -เคฯ-

ความแตกต่างของเสียงลงท้ายนี้จะเริ่มเห็นผลชัดเจน เมื่อมีเสียงสระเพิ่มขึ้นมา  ลองต่อท้ายตัว serve กับ serf ด้วย -er กับ -ing แล้วพูดดูครับ   เช่น  serve, server, serving

  • server  -เสิร-เฯอระ-
  • serving  -เสิร-ฯิง-
  • serfer  -เสิร-เฟอระ-
  • serfing  -เสิร-ฟิง-

คำที่ลงท้ายด้วย -gh บางคำ ก็ออกเป็นเสียง -ฟ- เหมือนกัน เช่น

  • tough  -ทัฟ-
  • cough  -คอฟ-

และคำที่มีตัวอักษร ph ติดกันก็มักออกเสียงเป็น -ฟ- แทบทั้งนั้น เช่น

  • phone  -โฟน-
  • phase   -เฟซ-  ที่เราเรียกทับศัพท์ว่า เฟส
  • hyphen  -[ไฮ]-เฟิน-  เป็นชื่อเรียก ตัวอักขระที่เป็น สัญลักษณ์ขีดกลาง
  • graph   -แกรฟ-  หรือ  -กราฟ-  ก็ได้

คนไทยเราบางทีไปเขียนทับศัพท์เสียง พ เป็น ph  เช่น คำว่า ภูเก็ต เราเขียนเป็น Phuket  เช่นเดียวกันครับ ถ้าเห็นคนต่างชาติพูดไม่ถูก ก็สอนเขาหน่อย ว่าคำนี้ออกเสียงเหมือน p เฉย ๆ

» แบบฝึกหัดออกเสียง

» ไปบทถัดไป 7. เสียง s และ z    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 30 มิถุนายน 2014

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

one × one =

Copyright © 2013-2025 betterenglishforthai.net