5. เสียง R และ L

ถ้าจะให้เลือกพระเอก และนางเอกของรายการออกเสียงภาษาอังกฤษนี่ เห็นจะหนีไม่พ้นตัว R กับ L  เนื่องจากว่า 1) พบเห็นบ่อยมาก  2) คนไทยพูดผิดเยอะ  และ 3) เป็นเสียงที่ออกเข้มข้นมากเมื่อเทียบกับเสียงอื่น ๆ ไม่ว่าตัว R หรือ L จะอยู่ที่ต้นคำ กลางคำ หรือท้ายคำ คือ มันมีอิทธิพลต่อเสียงของคำนั้น ๆ มาก ว่างั้นเถอะ   ดังนั้น ผมถึงเลือกตัว R กับ L เป็นเรื่องแรกที่ต้องบอกกล่าวกัน  ผู้ที่ได้ออกเสียงผิดมาโดยตลอด ถ้าทำสองตัวนี้ให้ถูกได้  ภาษาอังกฤษคุณจะชัดขึ้นหลายขุม  มันเหมือนเป็นการเดินก้าวแรกได้แบบเป็นการก้าวกระโดดเลยนะครับ

 

เสียง L ลงท้าย

ขอเริ่มจากอันที่ง่ายก่อน เสียง L นี่เหมือนเสียง “ล” ของไทยเรา  แต่เราทำกันได้ถูกต้อง เฉพาะ เวลามันเป็นอักษรนำหน้าพยางค์ เช่น land -แลนด-   หรือ alone -อะ-[โลน] คำพยัญชนะควบกล้ำเราก็ยังทำได้ เช่น plan -แพลน-  เวลาออกเสียง -ล- ลิ้นเราจะแตะเพดานของปากตรงโคนฟันบน  ลองสังเกตการออกเสียง -แพน- กับ -แพลน-  คำแรกลิ้นไม่แตะเพดานปาก แต่คำที่สองจะแตะ   อันนี้เหมือนในภาษาไทยไม่มีผิด ทั้งเสียง ทั้งหลักการ  อ้าว แล้วมีปัญหาอะไรครับ  ปัญหาของ L นี้อยู่ที่เวลาเสียงนี้อยู่ที่อยู่ท้ายคำครับ  เพราะเราไม่ออกเสียงพวกนี้กันในภาษาไทย  แล้วมันแสบมาก  ผมจำได้สมัยไปอเมริกาใหม่ ๆ ไปว่ายน้ำ แล้วไม่รู้วางแว่นดำน้ำอยู่ไหน  บ่นกับคนว่ายน้ำข้าง ๆ ว่า I lost my goggle.  เขาฟังแล้วเขาตอบว่า What?  You lost your daughter?  ฮ่าฮ่า คนละเรื่องกันเลย  เสียง goggle กับ daughter มันก็ไม่ใกล้กันนักหรอก แต่เพราะผมไม่ได้ออกเสียง -ล- ลงท้ายนี่แหละ เขาเลยฟังไม่ชัด

ยกตัวอย่าง แค่พูดตัวอักษร L นี่ก็ผิดแล้ว ตัวนี้ออกเสียงว่า  -แอล-   เวลาคุณเจอเสียง -ล-  ลงท้าย คุณต้องตวัดลิ้นขึ้นมาแตะที่เพดานปากตรงที่ติดกับโคนฟันบน ทำท่าเหมือนจะออกเสียง -เลอะ- ตามออกมาแต่ไม่ต้องออก  แต่ให้ออกเป็นเสียงครางสั้น ๆ คล้าย ๆ เออะ หรือ อึอ อยู่ในคอออกมานิดหน่อย  การที่เราบังคับลิ้นให้มาแตะที่เพดานปากตอนท้าย  และเอื้อนเสียงนี้  จะมีผลทำให้คำยาวขึ้น และเสียงของคำก็เปลี่ยนไปอย่างชัดเจน  ลองออกเสียงเทียบกันดูนะครับ ระหว่าง -แอล- แบบสำเนียงไทยแท้ที่ไม่เอาลิ้นมาแตะเพดานปาก  และแบบที่ถูกต้อง  คุณควรจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน  ใครที่ทำแล้วอีดอัด จะเอาลิ้นขึ้นมาแตะแค่ด้านหลังฟันบนก็ได้ ไม่ต้องเอาสูงถึงเพดานปาก ก็จะช่วยให้ทำได้ง่ายขึ้น

วิธีออกเสียงตัว L

รูปปากของเสียง L หรือ -ล-

ลองดูตัวอย่างคำง่าย ๆ ข้างล่างนี้ที่เรารู้จักกันดีนะครับ  ลองออกเสียงเทียบกันระหว่างแบบไทยแท้ กับแบบที่ถูกต้อง  พอให้รู้จัก  เมื่อรู้จะแล้วก็ให้โยนแบบที่ผิดนั้นทิ้งถังขยะไปเลย  ฝึกแต่แบบที่ถูก   อ้อ ระวังนิดหนึ่ง ศัพท์บางคำเรามาใช้ทับศัพท์ในภาษาไทย เช่น แอปเปิ้ล  หรือ รีไซเคิ้ล  ถ้าเราไปออกเสียงแบบอังกฤษที่ถูกต้อง คนอาจจะมองหน้าหาว่าพูดดัดจริต  ก็ดูเอาตามกาละเทศะก็แล้วกันนะครับ จะออกเสียงเป็นแบบไทยแท้ หรือ กึ่ง ๆ เวลาพูดภาษาไทยก็ได้

  • apple   -[แอพ]-เพิล- หรือ -[แอพ]-เปิล-    ตัว -เปิล- นี้ในภาษาไทยเราออกเสียงลงท้ายเป็นแม่กน คือ -เปิน- อันนี้ไม่ถูกนะครับ ฝรั่งฟังไม่รู้เรื่อง  เสียง -น- ลงท้าย กับ -ล- ลงท้ายนั้นต่างกันมาก  ตัว -น-  เป็นเสียงที่ลิ้นแตะเพดานปากอยู่แล้ว แต่เสียงออกจมูก  แต่เสียง -ล- นั้นไม่มีลมออกจมูก แต่ให้ตวัดลิ้นขึ้นมาแตะที่เพดานปาก แล้วเอื้อนสั้น ๆ เหมือนตอนเราออกเสียงอักษร L นะครับ วิธีทดสอบนั้นง่ายมาก ลองเอานิ้วบีบจมูกให้มิดแล้วออกเสียงคำนี้ดู  ถ้าเสียงไม่ต่างกันระหว่างมือบีบ ก้บไม่บีบจมูก แสดงว่าคุณทำถูก   ถ้าเสียงเพี้ยนตอนบีบจมูก แสดงว่าคุณพยายามออกเสียง -น- อยู่  ลองใช้เทคนิคนี้ ตรวจสอบกับคำที่เราอาจจะเผลอออกเสียงแม่กนออกมานะครับ
  • cycle   -[ไซ]-เคิล-
  • Google  -[กู]-เกิล-
  • tool   -ทูล-
  • cool  -คูล-
  • call  -คอล-
  • pole  -โพล-   แปลว่า เสา  หรือ poll ที่แปลว่า ไล่ถาม หรือทำโพลสำรวจ นี่ก็เสียงเดียวกัน
  • well  -เวล-
  • full  -ฟูล-  หรือ -ฟุล-
  • smile  -สะ-[มายล]-   คำนี้เสียงสวยมาก เพราะเวลาทำเสียง มายนี่ปากจะอ้า ลิ้นจะตก เมื่อตวัดกลับมาแตะที่เพดานปาก เสียง -ล- จะเด่นมาก

มีคำจำนวนมากที่ลงท้ายด้วย -ful ทั้งหลาย  พวกนี้เป็นสระเออะเบา ๆ รวมกับเสียงปลาย -ล- แทน  ก็ออกเป็น -เฟิล- สั้น ๆ จะออกเป็น  -ฟุล-  ตามรูปเขียนก็พอได้ แต่ขอให้สั้น ๆ ไม่เน้น  สระตัวนี้เป็นสระที่เสียงเบา แทบไม่ค่อยได้ยิน เป็นเหมือนสระตัวประกอบเพื่อเชื่อมเสียงพยัญชนะ เราจะพูดถึงอีกครั้งในบทที่ 16  ตอนนี้เอาแค่ลองฝึกออกเสียง  -ล- ลงท้ายก่อน

  • useful  -[ยูส]-เฟิล-
  • hopeful  -[โฮพ]-เฟิล-

 

เสียง R นำหน้า

เสียง R เราจะใช้สัญลักษณ์แทนด้วย -ร- ครับ  แต่เราจะไม่ออกเป็น ร เรือ กระดกลิ้นแบบไทย   คนต่างชาติบางคนแถวตะวันออกกลาง หรือสเปน เขาชอบกระดกลิ้นบ้างเหมือนกันเวลาออกเสียง -ร- เพราะภาษาเขาคงมีการกระดกลิ้นเหมือนไทยเรา ถ้าเราจะกระดกลิ้นเป็นเสียง ร เรือ ฝรั่งที่คุ้นเคยกับสำเนียงเหล่านี้ก็อาจจะแยกแยะออก  แต่ผมคิดว่าเราควรฝึกทำเสียง -ร- ให้ถูกต้องจะดีกว่า เพราะ ฝึกง่าย และใช้คุ้ม

วิธีออกเสียง -ร- ให้งอลิ้นขึ้นมาให้มันอยู่กลาง ๆ ช่องปาก  ไม่ต้องเกร็งให้มันงอมากนักเองพอสบาย ๆ  ลิ้นไม่แตะอะไรทั้งสิ้น เหมือนมันเล่นโยคะอยู่กลางปากนี่  ค้างไว้อย่างงั้น  ลองดูสิ คราวนี้ครางเสียงจากคอออกมาว่า “เออ” ลองเปล่งเสียง เอออออ ออกมาให้ยาว ๆ โดยปากค้างอยู่อย่างนั้น เหมือนเรากำลังทดลองเสียงขลุ่ยอยู่  ลองเทียบเสียงกันดูระหว่างขลุ่ยไทย กับขลุ่ยฝรั่ง  ลองส่งเสียง เอออออ แบบไทย ๆ ที่ลิ้นไม่งอ เทียบกับเวลาที่ลิ้นคุณงอ ซึ่งเป็นเออที่มีเสียง -ร- ผสมด้วย กลายเป็นเสีย -เอรอ- เป็นไงครับสนุกไม๊  นี่แหละครับคือรากเสียงของ  -ร-  ไม่ยากเลย  ลองใช้เสียง -เอรอ- นี้เป็นการฝึกบริหารปากให้มันชินกันตัวนี้

วิธีออกเสียงตัว R

รูปปากของเสียง R หรือ -ร-

คราวนี้ลองดูเวลาที่เสียงนี้ปรากฏอยู่ในคำบ้าง เช่น term ที่เรายืมคำภาษาอังกฤษมาใช้ว่า เทอม ในภาษาไทย   ลองเทียบกันดูระหว่างเสียง “เทอม” กับ -เทอรม- ลิ้นเราจะงอตอนทำเสียงสระ เราก็จะได้ยินเจ้ารากเสียง -ร- และสระก็จะยาวออกมานิดหนึ่ง   ถ้ายังไม่แน่ใจว่าทำถูกไหม  ก็ลองเทียบเสียงแต่เสียงสระดูก่อนก็ได้ ระหว่าง  เออม  กับ  -เอรม- มันเหมือนเราเป่าขลุ่ยเออเมื่อกี้นี้ แต่เสียงจบลงปากปิด เสียงออกจมูกเป็นตัวสะกด ม ม้า หรือเสียง -ม- นี่แหละ   ลองหัดดูให้คล่อง แล้วทดสอบกับคำอื่น ๆ ที่มี -ร- ผสมในสระดู

  • -เอร-
  • term  -เทอรม-
  • firm  -เฟอรม-
  • germ  -เจอรม-
  • barn  -บารน-
  • corn  -คอรน-
  • lord   -หลอรด-
  • cord   -คอรด-

คราวนี้ลองมามาดูเวลาเวลาเสียง -ร- ขึ้นต้นคำบ้าง  ออกเสียงคำนี้ดู  ring  -ริง-  ใครไม่แน่ใจว่าทำถูก ลองทำทีละขั้นอย่างนี้  งอลิ้นท่าเดิมแล้วเป่าเสียง ทำเสียง -เอรอ- สักพักแล้วผลักลม ผลักลิ้นลง และเปลี่ยนรูปปากให้เป็นเสียง -ริง-  ลิ้นเราจะไม่แตะกับอะไรทั้งสิ้นในคำนี้  เนื่องจากผมเลือกสระอิงมาใช้ในที่นี้ ซึ่งมันก็เป็นเสียงที่ลิ้นไม่แตะอะไรทั้งสิ้น  ลองใหม่อีกที  เอรอออออออ…ริง  เป็นไงครับ   เอ้า คราวนี้ตัดเสียง เออ ออกไปหรือให้เหลือแค่นิดเดียวแทนไม่ได้ยิน  แล้วก็ออก -ริง- ออกมาเลย  นี่แหละเสียง -ริง- ของเรา  พระเอกของเราออกมาเต็มตัวแล้ว  เทียบกับเสียง “ลิง” นี่มันต่างกันอย่างเห็นได้ชัด  แต่ตอนเราไม่รู้และไม่หัด เราก็แยกไม่ออก   ลองฝึกออกเสียงคำข้างล่างนี้ซึ่งมีเสียง -ร- เป็นเสียงต้นเหมือนกัน  ไม่ต้องทำเสียงเออตอนต้นแล้วนะครับ  ขอให้ทำลิ้นอยู่ถูกที่ตอนเริ่มต้นที่จะออกเสียง -ร- ก็ใช้ได้แล้ว

  • ring  rang  rung   -ริง-  -แรง-  -รัง-   จำได้ไหมครับ กริยาสามช่อง เวลา ring เป็นคำกริยา
  • run   -รัน-
  • rum   -รัม-
  • rag   -แรก-
  • red   -เรด-
  • read   -รีด-

สำหรับพยัญชนะที่กล้ำกับตัว r  ก็ให้งอเล้น แล้วกล้ำเข้าไปนะครับ  ลองสังเกตฟัง และพูดคำสามคำนี้ดู  ซึ่งแตกต่างกัน เฉพาะตัวกล้ำ   fry -ฟราย-    fly -ฟลาย-   fi   -ฟาย-   (เช่นใน wi-fi หรือ hi-fi)  ดูตัวอย่างเพิ่มของคำที่กล้ำด้วย -ร- นะครับ

  • friend -เฟรน-
  • print  -พรินท-
  • cry  -คราย-
  • tree   -ทรี-
  • train -เทรน-
  • dream  -ดรีม-
  • country  -[คัน]-ทริ-

ก่อนจบนี้ลองให้พระเอก R กับนางเอก L มาเจอในคำเดียวกันหน่อย รักมันจะหวานซื้ง  ตอนฝึกใหม่ ๆ ผมชอบหัดคำพวกนี้  มันสนุกดี

  • really   -[เรีย]-ลี่-    สังเกตนะครับว่า พยางค์แรกลิ้นไม่แตะเพดานปาก แต่พยางค์หลังแตะ
  • Larry   -[แล]-รี่-     สลับกับคำบน
  • correctly  -คอ-[เร็ค]-ลี่-    แปลว่า อย่างถูกต้อง

 

เสียง R ลงท้าย

ตอนนี้ลองมาดูเสียง -ร- ที่อยู่ท้ายคำกัน  อักษรตัว R นี่เวลาอ่าน ต้องออกเสียงว่า  -อาร- นะครับ ที่ปลายคำให้งอลิ้น แล้วออกเสียงครางเอื้อนตอนท้ายนิดหน่อยเป็นเออ หรือ อือ เอานิดเดียวพอได้ยิน ลองออกเสียงคำพวกนี้ดู ซึ่งพยางค์ท้ายจะเป็นพยางค์ที่เน้น และลงด้วยเสียง -ร-  ปิดท้ายในทำนองเดียวกันนี้

  • far     -ฟาร-
  • fire     -ฟายร-
  • tire    -ทายร-
  • more    -มอร-
  • door    -ดอร-
  • before   -บิ-[ฟอร]-
  • deter   -ดิ-[เทอร]-
  • desire   -ดิ-[ซายร]-

คำจำนวนมากในภาษาอังกฤษ จะมีพยางค์สุดท้ายสะกดด้วย -er หรือ -or  เช่น พวกคุณศัพท์ที่ทำเป็นขั้นกว่าทั้งหลาย better faster higher และอื่น ๆ   คำพวกนี้พยางค์หลังจะไม่เป็นพยางค์ที่เน้น และจะเป็นเสียงสระแค่เบา ๆ  คล้ายเสียงสระ เออะ แต่มีเสียงตัว -ร-  ปนอยู่ด้วย และเสียง -ร-  ก็ไม่แรงเหมือนกับคำข้างต้นที่เป็นพยางค์เน้น จะไม่ถึงกับมีเสียงเอื้อนตอนท้ายให้ได้ยิน  ลองฝึกดูครับ

  • dinner  -[ดิน]-เนอระ-
  • bigger  -[บิก]-เกอระ-
  • faster  อเมริกันอ่านว่า -[แฟส]-เทอระ-    คนอังกฤษอ่านว่า -[ฟาส]-เทอระ-
  • butter   -[บัท]-เทอระ-
  • rubber   -[รับ]-เบอระ-
  • ruler  -[รูล]-เลอระ-   คำนี้มี เสียง r แล้ว l แล้ว r อีก

ลองทบทวนเทียบกับเสียงลงท้ายด้วย -ล- ดูนะครับ

  • labor -[เล]-เบอระ-  ลองเทียบกับคำที่เป็นเสียงเดียวกันแต่ลงท้าย -ล- คือ label -[เล]-เบิล-
  • wonder  -[วัน]-เดอระ-   wonderful  -[วัน]-เดอระ-เฟิล-

 

คำที่ลงท้ายด้วย L ที่คล้ายเพิ่มอีกหนึ่งพยางค์

ตอนนี้เป็นตอนสุดท้ายของการแนะนำเสียง R กับ L นะครับ  ก็ไม่มีหลักการพิเศษอะไรเพิ่มเติมหรอกครับ  ได้แนะนำกับไปหมดแล้วสำหรับเสียง R กับ L  ตอนนี้ขอแค่นำเอาตัวอย่างแสบ ๆ ของตัว L มาให้ดูกัน

คำลงท้ายด้วย L บางคำ รูปดูเหมือนพยางค์เดียว  แต่ออกเสียงเอื้อนเหมือนคล้าย ๆ เป็นสองพยางค์  จะออกเสียงเป็นสองพยางค์ก็ได้ หรือพูดให้เร็วหน่อยออกเสียงเป็นพยางค์เดียวแล้วเอื้อน ๆ ตอนหลังหน่อยก็ได้  ถ้าอ่านแล้วไม่เข้าใจ ลองฟังจากพจนานุกรมที่พูดได้ ประกอบดูด้วยนะครับ

  • oil    ออกเสียงเป็น  -[ออย]-ยล-   หรือ พอพูดให้เร็วขึ้นหน่อยกลายเป็น -ออยล-
  • coil  เช่นเดียวกัน ออกเสียงเป็น  -[คอย]-ยล- หรือ -คอยล-
  • fuel   ออกเสียงเป็น -[ฟิว]-อล- หรือ  หรือพูดเร็วหน่อยเป็น  -ฟิวอล-
  • dual   เช่นเดียวกัน ออกเสียงเป็น -[ดู]-อล- หรือ -ดูอล-

คำบางคำออกเสียงในทำนองเดียวกับที่กล่าวข้างต้น แต่คราวนี้ ดูรูปเหมือนเป็นสองพยางค์ และคนไทยก็ชอบออกเสียงผิด เพราะไปพยายามออกเสียงตามรูป  ดูตัวอย่างนะครับ

  • towel    แปลว่า ผ้าเช็ดตัว  ออกเสียงว่า -[ทาว]-อล- หรือ พอพูดให้เร็วขึ้นกลายเป็น -ทาวอล-
  • Powell    อันนี้เป็นชื่อเฉพาะที่เราอาจเคยเห็น เช่น อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐชื่อ Collin Powell  ในเมืองไทยก็เคยมีคนเอาชื่อนี้มาตั้งเป็นชื่อร้านค้าบ้าง  เราดันอ่านว่า โพเวล  เข้าป่าไปเลย   คำนี้ จริง ๆ แล้วออกเสียงเหมือน towel เลย แค่เปลี่ยนเป็นเสียง -พ- เท่านั้น เพราะฉะนั้น ออกเสียงว่า  -[พาว]-อล- หรือพูดเร็วหน่อยเป็น -พาวอล-

 

คำที่มี L แต่ไม่ออกเสียง

ตัวอย่างแสบ ๆ ของ L กลุ่มถัดมา คือ เป็นคำที่ตัว L ไม่ออกเสียง เช่นพวกลงท้ายด้วย lf, lk, lm ทั้งหลาย พวกนี้ส่วนใหญ่เป็นคำง่าย ๆ ทั้งนั้น แล้วก็ออกเสียงง่าย ๆ คือ ออกเสียงเหมือนไม่มีตัว L อยู่ในคำนั้นเลย   พวกเราที่มาเรียนรู้วิธีออกเสียงตัว L แล้ว ก็ขอให้ระวังคำพวกนี้ ให้รู้ไว้ แล้วอย่าไปใส่เสียง -ล- เข้าไป

  • half  อเมริกันออกเสียงว่า -แฮฟ-  อังกฤษออกเสียงว่า  -ฮาฟ-
  • calf  -แคฟ- แปลว่า ลูกวัว
  • talk  -ทอค-
  • walk  -วอค-
  • chalk  -ชอค-
  • folk  -โฟค-
  • calm  -คาม-
  • palm  -พาม-
  • salmon  -[แซ]-เมิน- หรือ -[ซา]-เมิน- ปลาชนิดหนึ่ง  ที่เราเรียกว่า ปลาแซลมอน
  • almond  คำนี้จะออกเสียง L หรือไม่ก็ได้ มีคนพูดทั้งสองแบบ -[ออล]-เมินด- หรือ -[อา]-เมินด-
  • กริยาช่วย would -วูด-, could -คูด-, should – ชูด-   พวกนี้โชคดีเราออกเสียงถูกอยู่แล้ว

แต่ก็ไม่เสมอไปนะครับ มีคำที่มีลงท้ายด้วย lm แต่ต้องออกเสียง L เหมือนกัน เช่น

  • film  -ฟิลม-   วิธีออกเสียงคำนี้ ให้ลองออกเป็นสองพยางค์  -[ฟิ]-ลม- แล้วก็พูดให้เร็วขึ้นกลายเป็นพยางค์เดียว -ฟิลม-

» แบบฝึกหัดออกเสียง

» ไปบทถัดไป 6. เสียง v f และ w    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 30 มิถุนายน 2014

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

four × 2 =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net