3. องค์ประกอบของการออกเสียงในภาษาอังกฤษ

การพูดภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาใด ๆ ให้ได้ดีก็ต้องอาศัยทักษะทั้งทางด้านภาษา และการออกเสียง  ในบทนี้ ผมก็จะขอแยกแยะโดยสังเขปว่าทักษะเหล่ามีอะไรบ้าง

 

ทักษะทางด้านภาษา

ส่วนแรก คือ ทักษะทางด้านภาษา ซึ่งแบ่งย่อยได้เป็นสามข้อ คือ

1)    ไวยกรณ์ (grammar) ไวยกรณ์ก็เป็นกฎเกณฑ์ของการเรียบเรียงคำในภาษา เบื้องต้นที่เรารู้จักกัน และที่คล้ายกับในภาษาไทยก็คือ เรื่องประธาน กริยา และกรรม  แต่ไวยกรณ์ในภาษาอังกฤษมีเรื่องหยุยหยิมมากกว่าภาษาไทยเยอะมาก ซึ่งก็เป็นปัญหาสำหรับคนไทย ผมจะพูดถึงโดยละเอียดสำหรับความสำคัญ (และไม่สำคัญ) ของไวยกรณ์ในภาษาพูดในบทที่ 20

 2)    คำศัพท์ (vocabulary) ก็แน่นอนนะครับเรื่องศัพท์ คนไทยเราก็นิยมท่องศัพท์กันอยู่แล้ว  ขอย้ำอีกครั้งว่า การเรียนคำศัพท์ในภาษาอังกฤษ ซึ่งเด็ก ๆ มักจะท่องคำแปลกันเฉย ๆ  เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้องครับ มันใช้ได้กับศัพท์ง่าย ๆ เท่านั้นเอง เช่น dog แปลว่า หมา  วิธีที่ถูกต้องคือ

  • ต้องรู้ความหมาย ไม่ใช่คำแปล ความหมายนี้มันถึงกว่าคำแปลครับ มันคือ คุณรู้ว่าคำนั้น ๆ ใช้ในสถานการณ์ไหน แล้วหมายความว่าอะไร
  • ต้องรู้วิธีใช้   อันนี้ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องไวยกรณ์  เช่น บางทีคำต้องใช้แบบเป็นคำคุณศัพท์ หรือคำกริยา เช่น interested หมายความว่า รู้สึกสนใจ เวลาใช้ก็ต้องพูดว่า  I am interested ไม่ใช่ I interested เป็นต้น
  • ต้องรู้การออกเสียง  เห็นคำใหม่ ๆ อย่าไปทึกทักเอาเองว่า ออกเสียงอย่างนั้น อย่างนี้ ถ้าไม่แน่ใจ เปิดพจนานุกรมก่อนค่อยจำ  อันนี้ก็เป็นความผิดพลาดอีกอย่างหนึ่งของการเรียนศัพท์ของคนไทย ที่ไปใช้พจนานุกรมไทย-อังกฤษ บางฉบับก็ไม่มีคำอ่านให้ บางฉบับมีคำอ่านแต่ก็ไม่บอกว่าเน้นพยางค์ไหน และทุกฉบับก็ไม่มีมาตรฐานกลางว่า การใช้ภาษาไทยแทนการออกเสียงภาษาอังกฤษเป็นอย่างไร เรื่องนี้ก็เป็นส่วนที่หนังสือเล่มนี้จะมาช่วยแก้ไข ซึ่งผมจะกล่าวในบทต่อไป

3)    สำนวนของภาษาพูด   เรารู้คำศัพท์ และรู้ไวยกรณ์ ก็ยังไม่พอนะครับ  ยังต้องรู้สำนวนที่เขาใช้กันอีก  สำนวนในที่นี้ ผมไม่ได้หมายถึง สแลง (slang) อย่างเดียวนะครับ  สแลง คือ สำนวนที่พูดแล้วมีความหมายพิเศษ ไม่ตรงกับความหมายของการใช้คำนั้น ๆ โดยตรง ส่วนใหญ่ก็เป็นการใช้ในภาษาพูด หรือการใช้แบบไม่เป็นทางการ และ ก็มักเป็นการใช้เฉพาะในท้องถิ่น  ตัวอย่างเช่น คำว่า cool โดยปกติก็แปลว่าเย็น แต่ก็เอามาใช้อธิบายสถานการณ์ หรืออธิบายคนได้ แปลว่า เจ๋ง หรือเยี่ยม  อันนี้ก็เป็นสแลงของอเมริกัน ที่แผ่ขยายไปใช้กันทั่วโลกนะครับ

สแลงถือเป็นส่วนน้อยของสำนวนการพูดครับ  มีสำนวนอีกเยอะแยะที่เป็นพื้นฐานที่เขาใช้กันทั้งไป ทั้งภาษาพูด และภาษาเขียน ตัวอย่างเช่น การขอร้องให้คนช่วยพูดอย่างไร  การพูดแนะนำเส้นทางพูดอย่างไร เป็นต้น  อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ การใช้คำคู่ต่าง ๆ ก็มีมากมาย ซึ่งบางครั้งก็มีที่ใช้พิเศษของมัน เช่น เวลาเปิดไฟ ปิดไป เขาก็พูดว่า turn on the light กับ turn off the light   ไม่ได้พูดว่า open หรือ close

สำหรับเรื่องของคำศัพท์ และสำนวนนี้ ไม่ใช่ประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญ ทักษะนี้เป็นสิ่งที่ต้องสะสมกันไปไม่มีที่สิ้นสุดครับ ผมเองก็เรียนคำใหม่ ๆ สำนวนใหม่ ๆ อยู่แทบทุกวัน ผมก็เห็นว่า มีผู้ที่ตีพิมพ์ข้อมูลเกี่ยวกับคำศัทพ์ และสำนวนอยู่มากแล้ว ทั้งบนแผงหนังสือ และในอินเตอร์เนต  ผมเองก็เขียนอยู่เหมือนกัน ซึ่งผู้อ่านสามารถติดตามอ่านได้ฟรีที่ betterenglishforthai.net หรือ www.facebook.com/betterenglishforthai

 

ทักษะทางด้านการออกเสียง

ส่วนที่สองก็คือทักษะทางด้านการออกเสียงให้ถูกต้อง ซึ่งเป็นประเด็นหลักของหนังสือเล่มนี้ ซึ่งจะว่ากันในรายละเอียดในบทต่อ ๆ ไป ทักษะนี้ก็แบ่งเป็นข้อย่อย ๆ ได้ดังนี้

1)    เสียงพยัญชนะ (consonant)  เสียงพยัญชนะส่วนใหญ่คนไทยทำได้ แต่ก็มีหลายเสียงที่เราต้องหัด เข่น r, v, th เป็นต้น

2)    เสียงสระ (vowel) ข้อนี้ไม่มีอะไรยากนัก  สระในภาษาไทยมีเยอะและครอบคลุมสระในภาษาอังกฤษเกือบทั้งหมด ถ้าว่ากันในแง่วิชาการ บางเสียงก็ไม่ถึงกับถูกต้องเป๊ะ แต่ก็ถือว่าใช้ได้ และไม่มีผลต่อการสื่อสารนัก  ส่วนใหญ่ที่เราออกเสียงสระผิดเป็นเพราะไม่รู้ หรือพูดตามกันผิด ๆ เช่นคำว่า medley ที่เคยยกตัวอย่างมา อ่านว่า เมดลี่ แต่เราดันพูดว่า เมดเล่ เป็นต้น

3)    เสียงลงท้ายของคำ (ending sound)  ข้อนี้สำคัญมากครับ  ภาษาไทยเรามีแต่เสียงลงท้ายที่เนื่องด้วยตัวสะกด ซึ่งครอบคลุมแค่ส่วนน้อยของภาษาอังกฤษ และการออกเสียงก็ไม่เน้นมากเหมือนเขา  เสียงพยัญชนะลงท้ายในภาษาอังกฤษนั้น เขาออกเสียงค่อนข้างเด่นชัด ไม่แพ้เสียงพยัญชนะขึ้นต้นเลยก็ว่าได้  อันนี้เป็นทักษะที่เราต้องฝึกให้มี โดยเฉพาะเสียงลงท้ายที่ไม่มีในตัวสะกดของไทย เพราะว่า ถ้าเราไม่ออกเสียงลงท้าย หรือออกผิด คนอาจฟังเป็นคนละเรื่องเลยไปเลยก็ได้  มีแต่คนไทยด้วยกันเท่านั้นที่ฟังออกกันเอง  เช่น lock กับ log     fuel กับ fuse   Mar กับ ma   fire กับ find  แต่ละคู่นี่ออกเสียงต่างกันมาก

4)    เสียงเชื่อมคำ (linking sound)  คือ เสียงที่เกิดจากการพูดคำสองคำติดกัน เมื่อคำต้นลงท้ายด้วยพยัญชนะ  แต่คำหลังขึ้นต้นด้วยเสียงสระ เสียงพยัญชนะจะกล้ำกับเสียงสระ ตัวอย่างที่เรามักคุ้นเคยกันดี และพูดถูก  คือ  thank you  พูดเหมือน แธ็ค-ควิ้ว ไม่ใช่ แธ็ค-ยู   come on  พูดเหมือน คัม-มอน ไม่ใช่ คัม-ออน   หลักการนี้ใช้กับการพูดทั่วไปเลยครับ ไม่ใช่แค่คำบางคำ  เช่น this is a car   พูดติดกันกลายเป็น ดีส-สี้ด-เซ่-คาร์

ข้อนี้ดูเหมือนเป็นเรื่องยาก ขัดกับความรู้สึกคนไทย เพราะภาษาไทยพูดคำแต่ละคำแยกกัน  แต่จริง ๆ แล้วไม่ยากเท่าที่คิด  กุญแจสำคัญ คือ ถ้าเราทำเสียงลงท้ายได้  เสียงเชื่อมคำก็จะค่อย ๆ เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  ถึงแม้ภาษาไทยไม่มีลักษณะเสียงเช่นนี้ แต่เรามีธรรมชาติของมันซ่อนอยู่ สังเกตจากการออกเสียงคำไทยบางคำ เช่น คำว่า สิบเอ็ด  เวลาเราพูดเร็ว ๆ แล้วไม่ระวัง บางคนก็พูดเป็น สิบเบ็ด  ก็คือเสียงของ บ ไปเชื่อมกับพยางค์ที่สองนั่นเอง  ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับเสียงเชื่อมคำในภาษาอังกฤษเลยครับ

อีกอย่าง คือ ถ้าเราไม่ออกเสียงเชื่อมคำ ฝรั่งส่วนใหญ่ก็พอฟังออก  ส่วนมากเป็นปัญหาที่เราฟังเขาไม่รู้เรื่อง มากกว่าเขาฟังเราไม่รู้เรื่อง  เพราะฉะนั้น ปล่อยไปตามธรรมชาติ ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง  เบาบ้างหนักบ้าง ไม่เป็นไร ไม่ต้องเครียดนัก

5)    การเน้นเสียงพยางค์ (stress)  ข้อนี้สำคัญมากเช่นกัน คำแต่ละคำมีการเน้นพยางค์ไม่เหมือนกัน  ส่วนใหญ่เน้นแค่พยางค์เดียว แต่บางคำก็เน้นสองพยางค์ มีพยางค์ที่เน้นหนักที่หนึ่ง กับหนักที่สอง  เช่น information อ่านว่า [อิน]-ฟอร์-[[เม้]]-ชั่น  ผมขอใช้สัญลักษณ์ [] เพื่อแสดงการเน้นนะครับ  [[ ]]  ก็เน้นมากกว่า  [ ]  ใครมีพจนานุกรมที่ออกเสียงได้ ลองฟังเสียงของคำนี้ดู

ข้อนี้คนไทยทำได้ไม่ยาก แต่ปัญหาอยู่ที่การเน้นผิดพยางค์ หรือ ไม่เน้นพยางค์ไหนเลย  ตัวอย่างเช่น คำว่า effect ซึ่งบางคนยืมมาใช้ทับศัพท์ในภาษาไทย เวลาพูดในภาษาอังกฤษก็ไปออกเสียงเน้นพยางค์แรก หรือทั้งสองพยางค์ว่า เอฟเฟค แต่จริง ๆ แล้วคำนี้ต้องเน้นที่พยางค์ที่สอง โดยออกเสียงว่า  -อิ-[เฟคท]- หรือ -เอะ-[เฟคท]-  เพราะฉะนั้นเวลาเรียนคำศัพท์ใหม่  ๆ ให้สนใจไม่ใช่เฉพาะออกเสียงพยัญชนะ และสระเท่านั้น  เราต้องสนใจว่าเน้นพยางค์ไหนด้วย

6)    ท่วงทำนอง (intonation)  คือ การเน้นคำ หรือทำเสียงสูงต่ำเมื่อพูดเป็นประโยค  (หรือไม่เต็มประโยคก็ได้) ตัวอย่างเช่น ประโยคคำถามที่ต้องตอบใช่หรือไม่ใช่  ต้องลงท้ายด้วยเสียงสูง  เช่น  Are you Thai?   คำแรกเป็นคำที่เสริม (functional word) โดยทั่วไปก็พูดแบบไม่ต้องเน้น  ส่วนคำหลังสุดต้องออกเสียงตรี หรือถ้าคนถาม ถามแบบแปลกใจนิด ๆ (แบบว่าหน้าไม่เหมือนไทย คนไทยหรือวะ) จะขึ้นสูงเป็นเสียงจัตวาเลยก็ได้  เรื่องนี้ยังมีรายละเอียดอีก ซึ่งผมจะได้กล่าวถึงในบทที่ 19

ที่เล่ามาในบทนี้ ก็เหมือนเป็นแผนผังในภาพรวมนะครับ  เวลาเล่ากันในรายละเอียดตอนต่อไป ๆ จะได้ไม่หลงกัน  องค์ประกอบทั้งหมดที่สำคัญมันก็มีอยู่แค่นี้เอง

» ไปบทถัดไป 4. การใช้อักขระไทยแสดงการออกเสียงภาษาอังกฤษ    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 25 มีนาคม 2014

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

14 + three =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net