ทุกคนคงคุ้นเคยกับคำว่าสำเนียงกันดี ภาษาไทยเราก็มีสำเนียงต่าง ๆ คนมาจากที่ต่างท้องถิ่นก็มีสำเนียงไม่เหมือนกัน คำที่ใช้บางครั้งก็ไม่เหมือนกัน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องปกติของภาษาอังกฤษเช่นเดียวกัน ผมขอจำกัดความ ความหมายของสำเนียง ว่าเป็นการพูดคำ ๆ เดียวกัน หรือประโยคเดียวกัน แต่ออกเสียงไม่เหมือนกัน หรือมีท่วงทำนองแตกต่างกันนะครับ ส่วนการใช้คำที่ต่างกัน หรือคำเดียวกันแต่มีความหมายไม่เหมือนกันแล้วแต่ท้องที่ เรายังไม่พูดถึงในที่นี้
ภาษาอังกฤษนั้นเนื่องจากมีคนพูดทั่วโลก มันก็มีสำเนียงหลากหลายเต็มไปหมด ผมขอแบ่งเป็นสามกลุ่มใหญ่ ๆ คือ
1) คนที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่ (native speaker) ได้แก่ อังกฤษ อเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย และอื่น ๆ
2) คนที่ใช้เป็นภาษาที่สอง ซึ่งหมายถึงประเทศที่รัฐบาล หรือสังคมกำหนดให้มีการใช้ภาษาอังกฤษกันอย่างแพร่หลาย บางประเทศถึงกับตั้งให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ หรือ ภาษาในมหาวิทยาลัยก็มี ปัญญาชนในประเทศเหล่านี้ก็มักจะพูดได้ไม่มีปัญหา คนการศึกษาต่ำ หรือคนแก่อาจพูดไม่ได้ แต่คนจบมัธยมส่วนใหญ่จะพูดได้ ประเทศเหล่านี้ ได้แก่ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ คนยุโรปส่วนใหญ่ อินเดีย ฮ่องกง ปากีสถาน ศรีลังกา แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย และอื่น ๆ
3) คนต่างชาติอื่น ๆ ที่พยายามเรียนภาษาอังกฤษ แต่ไม่ได้มีระบบ หรือวัฒนธรรมในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษารอง บางประเทศก็มีสอนเป็นวิชาบังคับในโรงเรียน บางประเทศก็ไม่เป็นวิชาบังคับ กลุ่มนี้ว่ากันง่าย ๆ คือ เป็นกลุ่มที่พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยรู้เรื่อง เช่น ไทย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ลาว กัมพูชา แอฟริกาส่วนใหญ่ เมกซิโก และอเมริกาใต้ส่วนใหญ่ ประเทศในกลุ่มนี้ก็กำลังพยายามยกระดับตัวเองให้ไปอยู่ในกลุ่มที่สอง คนรุ่นใหม่ หรือคนการศึกษาดี ๆ ที่พูดภาษาอังกฤษได้ดีก็เริ่มมีมากขึ้น ๆ
คนจากแต่ละที่ก็มักจะมีสำเนียงที่แตกต่างกัน ไม่มากก็น้อย แม้ในประเทศสหรัฐอเมริกาเองก็มีหลายสำเนียง สำเนียงอเมริกันมาตรฐาน ก็ประมาณว่าเป็นสำเนียงในแถบภาคกลางตอนเหนือของอเมริกา หรือ Midwestern accent ซึ่งเป็นสำเนียงที่เราได้ยินจากสำนักข่าวดัง ๆ ของอเมริกัน เช่น CNN เป็นต้น คนที่เป็นเจ้าของภาษาเขามักจะฟังออกถึงความแตกต่างของสำเนียงที่ละเอียดอ่อน แต่สำหรับเราก็จะฟังออกเมื่อมันต่างกันมากหน่อย เช่น สำเนียงอเมริกันแบบลูกทุ่งทางใต้ สำเนียงคนดำ และสำเนียงอังกฤษ ก็ฟังแตกต่างจากสำเนียงอเมริกันมาตรฐานอย่างเห็นได้ชัด
สำเนียงที่ต่างกันก็ไม่ใช่เฉพาะแค่ท่วงทำนองต่างกันเท่านั้น หลาย ๆ คำก็มีการออกเสียงที่ผิดเพี้ยนต่างกัน ใครจะหาว่า สำเนียงไหนพูดไม่ชัด มันก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องนัก เพราะถ้าคนส่วนใหญ่ทั่วโลกฟังแล้วเข้าใจ ก็แสดงว่าไม่ใช่การพูดไม่ชัด แต่กลับกลายเป็นเอกลักษณ์ของสำเนียงนั้น ๆ ไป ยกตัวอย่างเช่น คนอเมริกันจะออกเสียงพยางค์ของคำหลาย ๆ คำเป็นสระแอ แต่คนอังกฤษเป็นสระอา เช่น demand อเมริกันจะออกเสียงว่า “ดีแมน” แต่อังกฤษออกเสียงว่า “ดีมาน” คนทั่วโลกก็ฟังกันออกทั้งสองแบบครับ เพราะสำเนียงทั้งสองมีใช้กันอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างอีกอันหนึ่ง คือ คนอินเดีย มักออกเสียง k กล้ำระหว่าง “ก” กับ “ค” เช่น cat ออกเสียงฟังคล้าย ๆ แก๊ท แทนที่จะเป็น แค๊ท ตัว t เขาก็ออกเสียงคล้าย ๆ เสียง “ต” แทนที่จะเป็นเสียง “ท” และตัว p ก็ออกเสียงคล้ายเสียง “ป” แทนที่จะเป็นเสียง “พ” คนส่วนใหญ่ก็มักฟังออกเพราะ สำเนียงอินเดียก็มีการใช้อย่างแพร่หลายเช่นกัน คนอินเดียมีอยู่ทั่วโลกครับ และบริษัทอเมริกันหลายบริษัทก็ไปจ้างให้คนอินเดียทำงานให้ ถึงขนาดจ้างให้เป็นพนักงานตอบโทรศัพท์สำหรับลูกค้าในอเมริกาก็มีเยอะ
เอ้า พูดเยิ่นย้อมานาน ก็เพื่อสร้างประเด็นให้เห็นว่า การพูดผิดเพี้ยนไปบ้าง ก็ไม่ใช่ข้อเสีย หรือข้อน่าอับอายอะไร กลับเป็นเอกลักษณ์ของสำเนียงเสียด้วยซ้ำ เป็นสิ่งที่ควรภูมิใจ มากกว่าอับอาย ข้อสำคัญอยู่ที่การสื่อสารที่เข้าใจกัน ย้อนมาพูดถึงคนไทยบ้าง (รวมถึงคนในกลุ่มที่สามด้วย) คนไทยส่วนใหญ่พูดสำเนียงที่ผมเรียกว่า สำเนียงไทยแท้ หรือสำเนียงตามใจฉัน ก็เนื่องจากเราไม่มีต้นแบบมาตั้งแต่เด็ก ตามโรงเรียนสอนเน้นแต่ไวยกรณ์ และศัพท์ ครูก็ไม่ได้สอนเป็นภาษาอังกฤษในชั้น พอโตขึ้นมาก็ตัวใครตัวมัน พูดกันแบบไม่ได้สนใจว่า จริง ๆ แล้วต้องออกเสียงอย่างไร มันก็กลายเป็นสำเนียงไทยแท้อย่างที่เห็นกัน ฝรั่งฟังไม่รู้เรื่อง สำเนียงไทยที่ถูกต้องที่ผมจะนำเสนอต่อไป ก็คือ การที่เราออกเสียงหลัก ๆ ได้ถูกต้อง เสียงที่หัดได้ง่าย และไม่ขัดต่อความรู้สึกไทย ๆ นักก็ควรจะหัดกันให้ได้ แต่เสียงในรายละเอียดที่ทำได้ยากที่ไม่มีผลต่อการสื่อสารมากนัก ก็ไม่เป็นไร ทำผิดบ้างถูกบ้าง ช่างมัน (ใครที่เก่งจริง ๆ อยากจะทำพยายามทำที่ยาก ๆ ให้ได้ก็ลองดู) เท่านี้แหละครับ เราก็จะได้ภาษาอังกฤษสำเนียงไทยที่ถูกต้อง หนังสือเล่มนี้ก็จะมาแนะนำตรงนี้ว่าอะไรสำคัญที่คุณควรทำได้ และอะไรเป็นรายละเอียด ไม่จำเป็นต้องทำ
แล้วสำเนียงอเมริกันเ กับสำเนียงอังกฤษ เราจะใช้แบบไหนเป็นต้นแบบดี คำตอบก็คือ แบบไหนก็ได้ อย่างที่ว่า ทั้งสองแบบคนทั่วไปฟังรู้เรื่องเหมือนกัน เนื่องจากผมคุ้นเคยกับสำเนียงอเมริกัน หนังสือนี้ก็จะตามแบบอเมริกันเป็นหลักนะครับ ถ้าผมรู้ว่าอังกฤษเขาพูดไม่เหมือนอย่างไรก็จะบอก แต่บางทีผมก็ไม่รู้ ขอแทรกความรู้สึกส่วนตัวหน่อยว่า สำเนียงอเมริกันจริง ๆ แล้ว ผมว่าปรับเข้ากับสำเนียงไทยได้ดีกว่า เพราะฉะนั้น คนไทยน่าจะหัดได้ดีกว่า แต่อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว จะว่าลำเอียงก็คงไม่ผิด แต่ข้อเสียของสำเนียงอเมริกันเมื่อเทียบกับสำเนียงอังกฤษก็คือมีการลดรูปเสียงเยอะกว่า คนที่ไม่คุ้นเคยก็จะมองว่า คนอเมริกันพูดเร็ว ฟังยากกว่า ซึ่งมันก็จริง สำหรับคนที่ไม่คุ้นเคย หนังสือเล่มนี้ก็จะมาช่วยแนะนำในส่วนนี้ด้วยว่า สำเนียงอเมริกันมีการลดรูปเสียงอะไรอยู่บ้าง
เมื่อเราพยายามหัดพูดให้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษามากขึ้น คนส่วนใหญ่ที่มาหัดตอนโตแล้ว พูดคล่องยังไงก็ยังติดสำเนียงไทยอยู่บ้างไม่มากก็น้อย แล้วแต่ความสามารถ และพรสวรรค์ส่วนบุคคล ผมก็เคยเข้าใจผิดว่า คนที่ไปอยู่เมืองนอกนาน ๆ เขาจะพูดได้สำเนียงเหมือนฝรั่ง 100% ก็เป็นความเข้าใจที่ผิดครับ ต้องมีความพยายามจริง ๆ หรือมีพรสวรรค์จริง ๆ ถึงจะทำได้ คนส่วนใหญ่ที่ไปตอนโตแล้วทำไม่ได้ ซึ่งก็อย่างที่บอกว่า ไม่ใช่เป็นข้อเสียหายอะไร คุณจะหาตัวอย่างคนไทยที่พูดได้ดีมากมายใน Youtube เช่น คุณอานันท์ ปัญญารชุน หรือ คุณมีชัย วีรไวทยะ หรือ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หรือ สำเนียงที่ผมพูดให้ฟัง ซึ่งก็สามารถใช้สำเนียงเหล่านี้เป็นต้นแบบก็ได้ ถึงแม้คนเหล่านี้จะมีข้อได้เปรียบที่ได้ไปใช้ชีวิตอยู่เมืองนอกนาน ก็อย่าได้ท้อใจว่าถ้าเราไม่ได้ไปแล้ว เราจะทำไม่ได้ ผมว่าถ้าสมัยยี่สิบปีก่อนก็อาจจะทำยาก แต่สมัยโลกาภิวัฒน์นี้อยู่เมืองที่ไหนก็หัดพูดภาษาอังกฤษได้สบาย ๆ ขอให้มีความตั้งใจ และความพยายามเท่านั้นครับ
» ไปบทถัดไป 3. องค์ประกอบของการออกเสียงในภาษาอังกฤษ » กลับไปที่ สารบัญ