10. เสียง p และ b

เสียง p กับ b ก็เป็นคู่หูกัน  ลักษณะเหมือนกับคู่หู t กับ d ที่ได้อธิบายไปแล้ว คือ ทำปากเหมือนกัน แต่ตัวหนึ่งเป็นเสียงลมเฉย ๆ หรือเสียงไม่ก้อง อีกตัวหนึ่งเป็นเสียงก้อง  เมื่อเทียบเสียงกับภาษาไทยแล้ว เสียง p ก็เหมือนเสียง -พ- ยกเว้นในบางคำบางจุดจะมีเสียงเหมือน -ป- (ซึ่งผมจะได้อธิบายต่อไปในตอนหน้าว่าเมื่อไรจึงเป็น -ป-) และเสียง b ก็เหมือนเสียง -บ-  คนไทยเราเวลาออกเสียงพวกนี้ เราก็ว่ากันตามพยัญชนะ พ พาน  ป ปลา หรือ บ ใบไม้ ว่ากันไป  ไม่มีปัญหาอะไร ไม่เคยต้องเรียนว่ามันทำปากเหมือนกัน  ใครสนใจ ก็ลองออกเสียง แล้วสังเกตปากตัวเองดู ก็จะเห็นตามที่ฝรั่งเขาสอนว่า มันทำปากเหมือนกันเป๊ะ    สำหรับเรื่องเสียงก้อง หรือไม่ก้องนั้น  เราก็ไม่ต้องไปใส่ใจมากนัก  ยกเว้นเรื่องเดียว คือ เวลา p กับ b เป็นเสียงลงท้าย ซึ่งจะส่งผลให้เสียงที่ออกมาแตกต่างกัน อันนี้ภาษาไทยเราไม่มี ก็ต้องฝึกฝนกัน

 

เสียง p และ b  ลงท้าย

ลองเทียบคำที่สะกดด้วยสระเดียวกัน แต่ลงท้ายต่างกัน เช่น tap กับ tab   คำว่า tap ออกเสียงว่า -แท็พ- สระเสียงจะสั้น (ผมใช้ไม้ไต่คู้เน้นให้เห็นว่ามันสั้น) และลงท้ายด้วยเสียงเป่าลมเหมือนจะพูด เพอะ ออกมา  เวลาคุณพูด เพอะ ตอนท้ายนี่ลองจับคอดู คอต้องไม่สั่น    สำหรับ tab ออกเสียงว่า -แทบ-  สระเสียงจะยาวกว่า และลุ่มลึกกว่า  ตอนท้ายก็เอื้อนเป็นเสียง เบอะ ออกมาพอได้ยิน   ถ้าจับคอดู คอก็จะสั่นตอนพูด เบอะ  จะว่าคล้ายพูดเป็นสองพยางค์ -แทบ-เบอะ- ก็พอจะได้    ลักษณะของความแตกต่างเมื่อพยัญชนะลงท้ายเป็นแบบเสียงก้อง หรือไม่ก้องนี้ ก็คล้ายกับคู่หูคู่อื่น ๆ ที่เราได้เห็นกันมาแล้ว เช่น t กับ d  หรือ f กับ v   ลองฟัง และพูดคำเหล่านี้ดู

  • tap  -แท็พ-    tab  -แทบ-
  • cap  -แค็พ-    cab  -แคบ-
  • mop  -ม็อพ-   mob  -มอบ-
  • top  -ท็อพ-     job  -จอบ-
  • rope  -โรพ-    robe  -โรบ-
  • step   -สะ-[เต็พ]-     stab  -สะ-[แตบ]-

 

เมื่อ p เพี้ยนเป็น “ป”

คนอินเดีย และอีกหลาย ๆ ประเทศ เวลาเขาพูดเสียง p เขาจะออกเป็นเสียง ป  ปลา  เข้าใจว่าภาษาเขาคงไม่มีเสียง พ พาน  ภาษาไทยเราก็ถือว่าโชคดีมีทั้งสองเสียง  มันก็เป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้เราได้ยินว่า ฝรั่งเองบางคำก็ออกเป็นเสียง -พ-  บางคำก็ออกเป็นเสียง -ป-   ซึ่งผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้ตัวว่าเขาออกเสียงเป็น -ป- ยกเว้นแต่จะไปจี้ถามเขา ในพจนานุกรมก็มีเฉพาะเสียง phonetics สำหรับ -พ- ไม่มี -ป-  ในการบัญญัติใช้ภาษาไทยเพื่อเขียน phonetics นี้ ผมจึงแนะว่าให้ใช้ตัว -ป- ที่เรามีให้เป็นประโยชน์  ตรงไหนออกเสียงเหมือน ป ปลา มากกว่า ก็เขียนเป็น -ป- เสียเลย  ก็ขอให้เข้าใจว่าทั้ง -พ- และ -ป- มาจาก phonetics ตัวเดียวกัน คือ ตัว p ในภาษาอังกฤษ   ถ้าคุณได้อ่านเกี่ยวกับตัว t มาแล้วก็จะพบว่า เรื่องราวของการเพี้ยนเสียง -พ- เป็น -ป- นี้ ก็เหมือนกับการเพี้ยนเสียง -ท- เป็น -ต- ของตัว t นั่นเอง

เริ่มกันก่อนที่คำที่ควรจะเป็นเสียง -พ- แต่คนไทยบางคนดันไปออกเสียง -ป- เนื่องจากเราไปใช้คำทับศัพท์แล้วเขียนเป็นตัว ป ในภาษาไทย อันนี้ก็ไม่ถึงกับว่าออกเสียงผิด แต่เรียกว่าพูดไม่ชัดโดยไม่จำเป็นดีกว่า คือ พูดเป็นแบบสำเนียงอินเดียไป เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะพูดชัด ก็ให้ระวังเวลาพูดภาษาอังกฤษให้เปลี่ยนเป็นตัว -พ- แทน ตัวอย่างเช่น

  • ชื่อเฉพาะทั้งหลายที่ขึ้นต้นด้วย P ควรออกเสียงเป็น -พ- เช่น  Poland -[โพ]-แลนด-  Peru -เพ-[รู]-  Peter -[พี]-เตอระ-
  • program  -[โพร]-แกรม-
  • promotion  -โพร-[โม]-ฉั่น-
  • professor  -โพร-[เฟส]-เสอระ-
  • process  -[พรอ]-เสส- หรือ -[โพร]-เสส-   เช่นเดียวกัน คำที่มาจากรากศัพท์เดียวกัน เช่น   processor  -[พรอ]-เสส-เสอระ-
  • piano  -[เพีย]-โน-
  • party  -[พาร]-ตี-
  • pound   -พาวนด-   ที่แปลว่า หน่วยน้ำหนักปอนด์ หรือ เงินปอนด์อังกฤษ  คำนี้เราพูดเพี้ยนทั้งเสียงสระและพยัญชนะ  ถ้าไปพูดว่าปอนด์ในภาษาอังกฤษ คนอาจจะฟังไม่รู้เรื่องนะครับ

สำหรับเสียง p ที่เป็น -ป-  กฎแรกที่ชัดเจน คือ เมื่อ s ตามด้วย p ก็จะทำให้เสียง  p เป็น -ป-  อันนี้ เราทำถูกกันอยู่แล้ว เช่น

  • spring  -สะ-[ปริง]-
  • spot  -สะ-[ปอท]-
  • speak  -สะ-[ปีค]-
  • despite  -ดิส-[ไปท]-
  • Casper  -[แคส]-เปอระ-
  • expense  -อิคส-[เปนส]-
  • expect  -อิคส-[เปคท]-

กฎข้อที่สอง ซึ่งไม่ชัดเจนเท่าข้อแรก และก็ไม่สำคัญเท่า คือ เมื่อพยางค์ที่อยู่กลาง หรือท้ายคำ เป็นพยางค์ที่ไม่เน้น เสียง p ก็จะฟังคล้ายเสียง -ป-  เช่น คำว่า  super ก็ออกเสียงเป็น -[สุพ]-เปอระ- ได้  ถ้าพยางค์นั้นเป็นพยางค์ที่เน้น เช่น คำที่คล้าย ๆ กัน superb -สุพ-[เพอรบ]- ก็ต้องออกเสียงเป็น -พ- เท่านั้น ไม่มีเพี้ยน   การเพี้ยนเป็นเสียง -ป- นี้เข้าใจว่าทำให้พูดได้ถนัดปากมากขึ้น เหมือนกับที่เขาพี้ยนเสียง -ท- เป็นเสียง -ต- และคิดว่าสำเนียงอเมริกันก็จะเป็นมากกว่าสำเนียงอื่นในข้อนี้   ใครจะไม่สนใจในข้อนี้ก็ได้ครับ ก็ทำเป็นเสียง -พ- ไป หรือ แล้วแต่ถนัดเป็นคำ ๆ ไป ไม่ต้องเครียด เพียงแต่ให้เข้าใจว่าคนที่เขาออกเสียงเป็น -ป- ก็ไม่ได้ถือว่าพูดไม่ชัดแต่อย่างไร  ดูตัวอย่างเพิ่มเติม เช่น

  • open   -[โอ]-เปิน-  หรือ -[โอ]-เพิน-
  • happen  -[แฮพ]-เปิน-  หรือ -[แฮพ]-เพิน-
  • operate  -[[ออพ]]-เปอะ-[เรท]-  หรือ  -[[ออพ]]-เพอะ-[เรท]-
  • copper  -[คอพ]-เปอระ-  หรือ  -[คอพ]-เพอระ-
  • shopping  -[ฉอพ]-ปิง-  หรือ  -[ฉอพ]-พิง-
  • taping -[เทป]-ปิง-  หรือ  -[เทพ]-พิง-
  • copy  -[คอพ]-ปี-  หรือ  -[คอพ]-พี-

แบบฝึกหัดการออกเสียง P และ B

» ไปบทถัดไป 11. เสียง k และ g    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 19 มกราคม 2017

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

5 × one =

Copyright © 2013-2025 betterenglishforthai.net