1. อ่านแล้วจะช่วยให้พูดชัดขึ้นได้อย่างไร

ถ้าถามว่าอ่านหนังสือนี้แล้วจะช่วยให้ออกเสียงได้ถูกต้องจริงหรือทำได้อย่างไรขอตอบว่าถ้าอ่านอย่างเดียวก็คงไม่ช่วยอะไรแม้อ่านได้เข้าใจก็ยังไม่ช่วยขอพูดดังๆว่ากุญแจสำคัญอยู่ที่ คุณจะออกเสียงได้ก็ต่อเมื่อคุณฟังเสียงได้ ขอขยายความหน่อยว่าคำว่า “ฟังเสียงได้” มีความหมายอย่างไร ปัญหาที่คนส่วนมากเป็นก็คือเรามักฟังภาษาแต่ไม่ได้ฟังเสียงตัวอย่างเช่น ถ้าเราได้ยินประโยคว่า

  • I’m riding a van to Berkeley.


คุณได้ยินว่าไงครับ คนไทยทั่วไปพอฟังความหมายออกว่าพูดว่าอะไร แต่พอถามว่าเราก็ได้ยินอะไร ก็มักจะได้ยินว่า “อาม ไล ดิง อะ แวน ทู เบิ๊ก เล่” ซึ่งจริง ๆ แล้วคลาดเคลื่อนไปเยอะ แต่เราฟังไม่ออก สมองไม่รับรู้เสียงที่เราไม่คุ้นเคย นี่คือปัญหาครับ เพราะ พอฟังคลาดเคลื่อนเราก็จะพูดคลาดเคลื่อน ทักษะทั้งสองนี้ผูกกันอยู่  ประโยคนี้ อย่าว่าแต่จะฟังให้ถูกเลย แค่จะเขียนคำอ่านเป็นภาษาไทยให้ถูกต้องมันก็ยากอยู่แล้ว  หนังสือเล่มนี้ก็จะมานำเสนอว่า จะทำให้ถูกพอสมควรได้อย่างไร  ในที่นี้ผมก็ยังไม่เฉลยว่า ฟังเป็นเสียงว่าอย่างไร ก็ขอให้ลองอ่านต่อดู แล้วลองกลับมาฟังใหม่นะครับ

เวลาเราฟังเพื่อจะตีความหมายว่าที่ได้ยินนั้นหมายความว่าอะไร เมื่อเราได้ยินเสียงที่ใหม่ แล้วพยายามตีความว่า คนพูด ๆ ว่าอะไร สมองเราก็จะแปลงเป็นเสียงที่เราคุ้นเคยในภาษาเราเองตัวอย่าง เช่น เสียง v ซึ่งไม่มีในภาษาไทยมีแต่เสียง “ว” ซึ่งเทียบเท่ากับเสียง w  เวลาเราได้ยินเสียง v เราก็เหมาเอาว่าเป็นเสียง “ว” เหมือนกัน  เวลาฝรั่งพูด van เราได้ยินเป็นแวน (wan) แล้วก็นึกว่า อ้อ แวนแปลว่ารถตู้ คำนี้ฉันรู้จัก  อันนี้มันก็เหมือนเราฟังเสียงv ไม่ได้ยินนั่นเอง  เป็นการได้ยินความหมายแต่ไม่ได้ยินเสียง เพราะสมองมันไม่รับ มันไปแปลงเป็นสิ่งที่รู้จักคุ้นเคยอยู่ก่อน

ปรากฏการณ์เดียวกันนี้ ก็ยังเกิดขึ้นแม้แต่เสียงที่เราทำได้ แต่ว่าเราไปจำการออกเสียงผิด ๆ มา  สมองเราก็บันทึกไว้แล้วว่าคำนี้แปลว่าอย่างนี้ ออกเสียงอย่างนี้  เช่น คำว่า  medley ซึ่งจริง ๆ แล้วต้องออกเสียงว่า “เมดลี่” แต่คนไทยส่วนใหญ่ออกเสียงเป็น “เมดเล่” เวลาเราไปได้ยินการออกเสียงที่ถูก ซึ่งมันพอจะคล้าย ๆ กัน  สมองก็เกิดการสั่งงาน ว่า อ้อ คำนี้ คือ “เมดเล่” ฉันรู้จักแล้ว ไม่มีปัญหา ฉันฟังเข้าใจว่าเขาพูดว่าอะไร

เด็กเล็ก ๆ ที่สมองเขาว่าง ๆ นี่ เขาถึงเรียนพูดภาษาอะไรก็ได้  ส่วนใหญ่ไม่กี่ปีก็พูดได้ชัด  เพราะว่า เด็กฟังเสียงครับ ไม่ได้ฟังภาษา เวลาเขาฟังเสียงพูดที่ไม่เคยได้ยิน เขาก็เก็บสียงนั้นไว้ในสมองโดยไม่จำเป็นต้องรู้ความหมาย ไม่จำเป็นต้องตีความอะไร ฟังบ่อย ๆ เข้า เขาก็รู้เริ่มรู้ว่ามันหมายความว่าอะไร แล้วก็เริ่มพูดตามได้ ใช้ตามได้  ถ้าเปรียบเทียบว่าสมองมีหน่วยความจำเหมือนเป็น แฟ้มเก็บเอกสาร ก็คือ เขาสามารถสร้างแฟ้มใหม่ขึ้นมา แยกประเภทเก็บเสียงที่ได้ยินใหม่ ๆ ได้โดยอัตโนมัติ  แต่สำหรับเราที่โตขึ้นมาแล้วกับภาษาไทย แล้วไม่ได้เรียนรู้การออกเสียงภาษาอังกฤษที่ถูกต้องมาแต่เล็ก ๆ  มันก็มีแต่แฟ้มที่เป็นการออกเสียงภาษาไทยอยู่ในหัวสมอง สร้างใหม่ไม่เป็น  เมื่อได้ยิน v และ w มันคล้ายกับตัว ว ที่สุด  ก็จับโยนเข้าแฟ้ม ว เหมือนกันหมด

ไม่เพียงแต่เรื่องเสียง แม้แต่เรื่องไวยกรณ์ หรือสำนวนพูด เด็ก ๆ ก็สามารถพูดได้เองโดยไม่ต้องเรียนกฎไวยกรณ์เลย เขาเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายามในการจำเลย ผมว่าจุดตัดอยู่ที่ประมาณสัก 10 ขวบ  อันนี้ก็ขึ้นกับตัวบุคคลนะครับ ผมไม่ได้ไปเก็บสถิติ หรือวิจัยมา  แค่สังเกตจากที่ได้เห็นมา  คนดัง ๆ ที่มาอยู่อเมริกา แต่ไม่ได้เกิดที่อเมริกาก็มีเยอะ ผมก็สังเกตว่า คนที่มาตอนที่โตสักหน่อยแล้ว เช่น 8 – 9 ขวบ  โตขึ้นมาก็ยังพูดได้ชัดไม่มีสำเนียง  มีเพื่อนคนหนึ่งก็พาลูกมาเข้าโรงเรียนตอนอายุประมาณนั้น อยู่ได้สองปี จากที่พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้เลย ก็พูดได้คล่อง และชัด   มีเพื่อนอีกคนหนึ่งมาตั้งแต่อายุ 15 ปี อยู่มายี่สิบกว่าปี แต่ก็ยังพูดมีสำเนียง และไม่ค่อยชัดอยู่  ผมก็เดาเอาว่า จุดตัดสำหรับคนส่วนใหญ่คงอยู่ที่ประมาณ 10 ขวบ

ทีนี้จะมีวิธีแก้ไขได้อย่างไร (โดยไม่ต้องไปเกิดใหม่ Laughing) ถ้าอ่านหนังสือนี้แล้วจะช่วยได้อย่างไร  วิธีแก้ที่จะแนะนำนี้ไม่ยากครับ คือ คุณต้องลองหัดฟังเสียง ลองไม่เน้นคิดถึงความหมายของสิ่งที่ฟังสักพัก และหันมาสังเกตที่เสียงแทน  ให้เหมือนนักดนตรีฟังเสียงดนตรี หรือนักธรรมชาติฟังเสียงนกร้อง  ขอให้ใช้หนังสือนี้เป็นเหมือนการชี้ทางลัดให้เห็น  ถ้าคุณไปหัดฟังเองโดยไม่มีใครชี้ทาง มันก็ใช้เวลามากกว่าจะเห็นผล   หนังสือนี้ก็จะช่วยชี้ทางว่า เสียงนั้นเสียงนี้มีลักษณะอย่างไร ต้องออกเสียงอย่างไร และคล้ายกับภาษาไทยตรงไหน  อ่านแล้วก็ลองฟังตัวอย่างที่ผมพูดดู แล้วก็พูดตาม เมื่อคุณได้รู้ตรงนั้นแล้ว คุณก็ลองไปฟังดูในสื่อต่าง ๆ  ฟังให้ได้ยินชัดเจน แล้วก็พูดตามเขา อ่านแล้วไม่ต้องเชื่อผม 100%  ให้ลองไปฟังดูก่อนว่าจริงไหม คุณอาจค้นพบวิธีพูดที่ดีกว่า หรือถูกต้องกว่าที่ผมแนะนำก็ได้  จะลองเป็นตัว ๆ ไปก็ได้ เช่น ถ้ากำลังเรียนเรื่องการออกเสียงตัว v ก็ไปลองเน้นฟังเสียงตัว v ดู  ฟังแล้วก็ลองพูดตามเขา ฝึกให้ได้ยินชัดเจน และให้พูดได้ช่ำชอง ให้ทำได้โดยที่ไม่ขัดปาก   เรียนรู้เรื่องอะไร ก็ให้เน้นฟังให้ได้ยินในเรื่องนั้น และฝึกพูดในเรื่องนั้น ผมแนะนำว่า สำหรับผู้ที่ยังใหม่อยู่ ค่อย ๆ ฝึกเป็นเรื่อง ๆ ไป จะดีกว่าอ่านรวดเดียวจบ

เดี๋ยวนี้หาสื่อภาษาอังกฤษฟังได้ง่ายมาก ทั้งพจนานุกรมพูดได้ โทรศัทท์ วิทยุ และอินเตอร์เนต   youtube นี่ดีมากครับ เพราะเนื้อหาหลากหลาย และเล่นซ้ำได้  ควรเลือกเรื่องที่เราสนใจ และมีความรู้พื้นฐานอยู่บ้างแล้ว ใครสนใจข่าวอะไรก็เปิดดู ใครชอบนักร้อง นักแสดงคนไหน ก็ไปหารายการสัมภาษณ์เขานั้น ๆ ดู  ใครชอบทำอาหารก็หารายการสอนทำอาหาร ใครชอบกีฬา ก็หารายการกีฬาดู เป็นตัน ไม่แนะนำให้ดูภาพยนตร์เพราะส่วนใหญ่เสียงแอกชั่นมันเยอะไป  ผมเป็นคนชอบฟังข่าว และก็พวกสารคดีทางวิทยุ  เวลาทำงานบ้าน หรือทำสวน ก็ใส่หูฟัง ทำไปฟังไป สนุกดี  และได้ประโยชน์  ใครที่สนใจก็ลองไปหาฟังได้ทางอินเตอร์เนต หรือ ทางแอพของโทรศัพท์มือถือ  ถ้าใครชอบฟังข่าวทางวิทยุเหมือนผม ก็ลองค้นหาคำว่า NPR (National Public Radio) ดู อันนี้เป็นสถานีของอเมริกา ใครชอบของอังกฤษก็หาคำว่า BBC Radio ครับ สองสถานีนี้ดีทั้งคู่

การใช้หนังสือเล่มนี้แบบไม่ถูกต้องนัก ก็คือ การพยายามจำสิ่งที่ผมสอน แล้วก็เอาไปใช้ด้วยความจำ  การใช้ที่ถูกต้องขึ้น ก็คือ การฝึกฝนพูดให้ชำนาญ แล้วก็นำไปใช้  แต่การใช้ที่ถูกต้องที่สุด คือ การเอาสิ่งที่เรียนรู้ ไปหัดสังเกตฟังในชิวิตประจำวัน ฟังแล้วก็พูดตาม เหมือนเรากลับไปเป็นเด็กใหม่อีกครั้ง ถ้าชีวิตประจำวันเราไม่มีโอกาสได้ฟังภาษาอังกฤษเลย ก็ต้องหาสื่อที่ชอบดังที่กล่าวมา แล้วก็พยายามแทรกให้มันอยู่ในชีวิตประจำวัน  คุณจะได้ทั้งทักษะฟัง และพูดไปพร้อม ๆ กัน  ใหม่ ๆ ตอนเริ่มสร้างพื้นฐานนี้อาจจะลำบากนิดหน่อย ใครจะเก่งกว่าใตรก็ตรงที่การฝึกนี่แหละครับ  ใครตั้งใจก็ควรได้ผลดีกว่าคนทำเล่น ๆ   ใครให้เวลาฝึกมากกว่าก็ควรได้ผลมากกว่า ใครฝึกสม่ำเสมอทีละเล็กละน้อย ก็จะได้ผลดีกว่าคนที่ฝึกนาน ๆ ที ทีละเยอะ ๆ  การเรียนภาษาเขาแนะนำว่าต้องทำทีละเล็กละน้อย แต่สม่ำเสมอ ทุก ๆ วัน

วิธีที่แนะนำมานี้จะได้ผลหรือไม่อย่างไร คุณต้องเป็นคนพิสูจน์เอง แล้วก็มาเล่าให้ฟังแล้วกัน  นี่เป็นวิธีที่ผมใช้ได้กับตัวเองมาแล้ว  และก็เป็นวิธีที่แนะนำในหนังสือ “Better English Pronunciation” แต่งโดย  J.D. O’Connor   อ้อ มีเรื่องต้องระวังนิดหนึ่ง คือ ตอนฝึกฟังเสียงเป็นหลัก ความหมายเป็นรองนี่ ระวังอย่าไปใช้ในเรื่องที่สำคัญ  เช่น ใครมีเจ้านายเป็นฝรั่ง ถ้าเขาสั่งงานแล้วเราไปมัวพิศมัยเสียงเขาอย่างเดียว เดี๋ยวไม่รู้เรื่องว่าเขาพูดอะไร จะซวยเอา   ถ้าเรื่องสำคัญให้เปลี่ยนโหมดเป็น ฟังความหมายเป็นหลักตามปกติ  ไว้เวลาฝึกเองที่บ้าน ดูทีวี อินเตอร์เนต ก็ลองหัดฟังเสียงดู

 

พจนานุกรมพูดได้ (Talking Dictionary)

เครื่องมือหนึ่งที่ทุกคนควรมีใช้ ก็คือ พจนานุกรมที่พูดได้ หรือ talking dictionary มันเป็นทางลัด ทำให้เราไม่ต้องอ่านสัญลักษณ์ phonetics ให้ออก การเรียนคำศัพท์ใหม่โดยรู้แค่คำแปลเท่านั้น หรือ แค่รู้ที่ใช้เท่านั้น ถือว่าไม่สมบูรณ์ เพราะศัพท์หลาย ๆ คำ อ่านออกเสียงไม่ตรงกับที่เขียน ดังนั้น เราควรต้องรู้วิธีออกเสียงคำนั้น ๆ ด้วย ถ้าไม่รู้แล้วไปออกเสียงผิดเสียแต่แรกมันก็จะทำให้แก้ทีหลังลำบากกว่า ผมอาจจะพูดถึง phonetics บ้างบางตัว แต่ไม่สอนอ่านหรอก เพราะ ตัวเองก็ไม่ชอบ แต่จะใช้ภาษาไทยถูไถสะกดตัวออกเสียงกัน ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบทที่ 4

พจนานุกรมควรใช้แบบแปลอังกฤษเป็นอังกฤษ และถ้ามีตัวอย่างการใช้ให้ด้วยก็จะดีมาก ส่วนพจนานุกรมที่แปลอังกฤษเป็นไทย ก็ใช้เป็นส่วนประกอบได้ อย่าใช้เป็นหลักโดด ๆ  พจนานุกรมออกเสียงได้ในที่นี้ ในปัจจุบันนี้ก็มีอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ได้แก่ เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์แบบพกพา หรือ เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ เป็นโปรแกรมแอพบทโทรศัพท์มือถือ หรือ จะเป็นเวบไซต์ก็ได้   ก็จะเลือกรูปแบบไหนก็ได้ หาไว้ใกล้ ๆ ตัวให้ใช้สะดวก  มีข้อสังเกตนิดหนึ่ง คือ เสียงของพจนานุกรมแต่ละอันนั้น ไม่เหมือนกันซะทีเดียว  บางอันเป็นสำเนียงอเมริกัน (American English) บางอันเป็นสำเนียงอังกฤษ  (British English) เรื่องสำเนียงนี้ก็เลือกแล้วแต่ชอบนะครับ  แต่ที่ต้องระวังคือ พจนานุกรมบางอันมีคุณภาพเสียงไม่ค่อยดี หรือ เป็นเสียงแบบสังเคราะห์ (synthesized voice) ซึ่งไม่ใช่เสียงคนจริง ๆ  ถ้าหลีกเลี่ยงพวกเสียงสังเคราะห์ได้ ก็จะดี เพราะหลาย ๆ คำเขาจะออกเสียงไม่ชัด ไม่เหมาะสำหรับคนที่กำลังหัดออกเสียงอย่างเรา

โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผมเคยใช้ประจำก็คือ American Heritage Dictionary ของบริษัท Softkey แต่บริษัทนี้เจ๋งไปแล้ว ถ้าใครสนใจก็ยังอาจจะหาซื้อจากของเก่าได้  ส่วนพจนานุกรมที่อยู่ออนไลน์ในอินเตอร์เนตนั้นมีอยู่มากมาย ได้แก่

  • http://dictionary.reference.com เป็นอังกฤษแบบอเมริกัน
  • http://www.thefreedictionary.com  เป็นอังกฤษแบบอเมริกัน
  • พิมพ์ define ตามด้วยคำ ที่ http://www.google.com ก็ได้   เป็นอังกฤษแบบอเมริกันเช่นกัน
  • http://www.macmillandictionary.com  เป็นอังกฤษแบบอังกฤษ
  • http://dictionary.cambridge.org   เป็นของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ที่อังกฤษ มีวิธีออกเสียงให้ทั้งแบบอังกฤษ และแบบอเมริกัน
  • http://www.oxfordlearnersdictionaries.com  เป็นของอังกฤษ แต่ก็มีวิธีออกเสียงทั้งแบบอังกฤษ และอเมริกันให้

ถ้าสงสังว่าพจนานุกรมเป็นสำเนียงอเมริกัน หรืออังกฤษ ก็ทดลองง่าย ๆ โดยหาคำว่า demand ถ้าเขาออกเสียง -ดิ-[มาน]- ก็เป็นสำเนียงอังกฤษ  ถ้าออกเสียง -ดิ-[แมน]- ก็เป็นสำเนียงอเมริกัน

พจนานุกรมที่แปลเป็นไทย และก็มีเสียงพูดด้วยก็มี ได้แก่

  • http://translate.google.com เป็นอังกฤษแบบอเมริกัน
  • http://dict.longdo.com  อันนี้เป็นเสียงสังเคราะห์  แต่มีคำแปลไทยเยอะดี รวบรวมจากหลาย ๆ พจนานุกรม

ใครใช้ browser บนคอมพิวเตอร์อ่านภาษาอังกฤษ ขอแนะนำให้ติดตั้ง พวก dictionary add-on หรือ plugin เวลาคุณเจอคำไหนที่ไม่รู้จัก ก็แค่ใช้เมาส์เลือกที่คำนั้น แล้วเปิดหาใน dictionary ได้ทันทีเลย สะดวกขึ้นแยะ  บางตัวก็เปิดเป็น pop-up window เล็ก ๆ ขึ้นมา บางตัวก็เปิดเป็นหน้าใหม่ไปที่เวบพจนานุกรมที่เราตั้งไว้ แล้วหาคำนั้นให้เลย

ตัวอย่าง Dictionary Extensions ใน Google Chrome Browser (ไปที่ Tools->Extensions)

 

ตัวอย่าง Dictionary Add-ons ใน Firefox Browser (ไปที่ Tools->Addons)

ในโทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์แทบเบล็ท ก็มี App พจนานุกรมมากมาย แต่ส่วนใหญ่ที่พูดได้ต้องใช้ตอนที่เครื่องเราต่อกับอินเตอร์เนตอยู่ มีบางตัวก็ใช้แบบ offline ได้ ลองหาตัวที่ชอบดูนะครับ  เช่น App ที่ผมใช้อยู่ก็คือ Offline English Dictionary – Offline (by Livio)  บน Android ข้อเสีย คือเป็นเสียงสังเคราะห์ แต่ข้อดีคือมีขนาดฐานข้อมูลเล็ก และไม่จำเป็นต้องต่อกับอินเตอร์เนตก็ใช้ได้ และที่ผมชอบอีกอย่าง คือ มันจำประวัติของคำที่เราเคยหาไว้ในเครื่องไว้ด้วย ทำให้เราเปิดทบทวนได้ เวลาเรียนศัพท์ใหม่ ๆ ผมต้องเห็นซ้ำ ๆ หลาย ๆ ที่ถึงจะจำได้ ทั้งความหมาย และก็ทั้่งการออกเสียง เมื่อมีเทคโนโลยีช่วยจำด้วยอย่างนี้ ก็ทำให้ความจำดีขึ้นหน่อย

» ไปบทถัดไป 2. ภาษาอังกฤษสำเนียงไทยที่ถูกต้องเป็นยังไง    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 25 มีนาคม 2014

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

four × three =

Copyright © 2013-2025 betterenglishforthai.net