9. เสียง t และ d

เสียง t กับ d เป็นคู่หูกันครับ และก็มีเรื่องน่าสนใจพอสมควร  ข่าวดี คือ เสียง t เหมือนเสียง “ท”  และเสียง d ก็เหมือนเสียง “ด” ในภาษาไทยเรา ไม่ต้องไปหัดเสียงใหม่อะไร  ฝรั่งเขาสอนให้จับสองตัวนี้มาคู่กัน ก็เนื่องจาก มันทำปากเหมือนกัน  คุณลองออกเสียง เทอะ กับ เดอะ ดูก็ได้ว่ารูปปากเราทำเหมือนกัน   และเขาก็สอนว่าเสียง t เป็นเสียงไม่ก้อง (คอไม่สั่น) แต่เสียง d เป็นเสียงก้อง  ลักษณะเดียวกันกับคู่ f กับ v  หรือ s กับ z ที่เราพบมาในบทก่อน ๆ   ผมก็แนะนำให้ฟังพอเข้าใจ ถ้าจำได้ก็ดี  แต่ไม่ต้องไปคิดเรื่องนี้ตอนออกเสียง  สิ่งที่สำคัญ คือวิธีออกเสียงตอนเสียงพวกนี้ผสมอยู่ในคำว่าเป็นอย่างไร

เวลาเสียง t หรือ d เป็นเสียงนำ (ไม่ใช่เสียงลงท้ายคำ) ก็ไม่มีพิสดารอะไร ออกเสียงกันแบบไทย ๆ ได้ตามปกติ เช่น

  • tea  -ที-
  • do  -ดู-
  • today  -ทู-[เด]-
  • winter  -[วิน]-เทอระ-
  • wonder -[วัน]-เดอระ-

 

เสียง t และ d  ลงท้าย

เริ่มมีเรื่องน่าสนใจเวลา t กับ d เป็นเสียงลงท้าย  เช่น  bat -แบท- หรือ -แบ็ท- กับ bad -แบด-   สองคำนี้เสียงสระเดียวกัน แต่เมื่อลงท้ายด้วย t เสียงสระจะฟังดูสั้น และตอนท้ายก็ออกเสียง เทอะ เป็นเสียงลมออกมาเบา ๆ   สำหรับ bad เสียงสระจะยาวกว่า ลุ่มลึกกว่า และตอนท้ายครางออกมาเป็น เดอะ เบา ๆ    ตรงเสียงลม เทอะ หรือเสียงคราง เดอะ บางทีก็ฟังไม่ค่อยได้ยิน เพราะเป็นแค่ปลายเสียง หรือบางทีจะไม่ออกเลยก็ยังได้   แต่ความแตกต่างที่ควรจะสังเกตได้ชัด คือ ความสั้นยาวของคำ  พอดีภาษาไทยมีตัวไม้ไต่คู้ ซึ่งบางทีก็สามารถใช้เขียนคำอ่านเพื่อเน้นให้เห็นว่าเป็นเสียงสั้นได้  แต่สระไทยบางตัวใส่ไม้ไต่คู้ไม่ลง ก็ขอให้เข้าใจว่า คำที่ลงท้ายด้วย d นั้นออกเสียงลุ่มลึก และยาวกว่า   แต่คำที่ลงท้ายด้วย t นั้นเสียงสั้นกว่า   ลองฟัง และออกเสียงตัวอย่างเหล่านี้ดูครับ

  • got  -ก็อท-   god  -กอด-
  • not  -น็อท-   nod  -นอด-
  • cat  -แค็ท-   cad  -แคด-
  • bit  -บิท-    bid  -บิด-
  • cut  -คัท-    mud  -มัด- หรือ ออกให้ยาวกลายเป็น -มาด-  ไปก็ได้
  • tent  -เท็นท-  tend  -เทนด-
  • bolt -โบลท-   bold -โบลด-
  • cart  -คารท-   card -คารด-
  • foot  -ฟุท-  food  -ฟูด-

อันนี้ก็เป็นเรื่องแปลกใช่ไหมครับ คือภาษาไทยเรา เสียงสระจะสั้น หรือยาวก็ขึ้นกับสระนั้น ๆ เช่น แค็บ กับ แคบ  หรือ มัด กับ มาด  แต่ภาษาอังกฤษนั้น เสียงสระสามารถเปลี่ยนเป็นยาวหรือสั้นได้ตามเสียงพยัญชนะที่ลงท้าย กล่าวคือ ถ้าเสียงลงท้ายเป็นเสียงก้อง เช่น v, d, b, หรือ g ก็จะทำให้เสียงสระยาวขึ้น  ถ้าเป็นเสียงไม่ก้อง เช่น f, t, p, หรือ k ก็จะทำให้เสียงสระสั้น  เรื่องนี้เราจะพูดซ้ำ และมีตัวอย่างอีกทีเมื่อกล่าวถึงพยัญชนะคู่อื่น ๆ นะครับ

 

เมื่อ t เพี้ยนกลายเป็น ต

ภาษาไทยมีสามเสียงที่คล้ายกัน คือ “ท”  “ต” กับ “ด”  ส่วนภาษาอังกฤษนั้นไม่มีนิยามเสียง -ต- อย่างเป็นทางการ แต่ฝรั่งก็พูดเสียง -ต- อยู่ในภาษาเขาเหมือนกันโดยที่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยรู้ตัว ตัวอย่างแรก คือ เวลาเสียง t ตามหลัง s เช่น stop  ออกเสียงว่า -สะ-[ต็อพ]- ไม่ใช่ -สะ-[ท็อพ]-  แม้กระทั่งพจนานุกรมอังกฤษเองก็ยังเขียนบอกว่าเป็นเสียง -ท-  เนื่องจากภาษาไทยเรามีเสียง -ต-  เราจึงฟังออกว่าเขาออกเสียงเหมือน -ต- มากกว่า -ท- ในกรณีนี้ และคนไทยส่วนใหญ่ก็ออกเสียงถูกต้อง  ผมก็ขอตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ให้ชัดเจนตรงนี้  ลองดูตัวอย่างเพิ่มเติมนะครับ

  • star  -สะ-[ตาร]-
  • Steve  -สะ-[ตีฯ]-
  • rusty  -[รัส]-ตี-
  • Austin  -[ออส]-ติน-
  • faster  -[แฟส]-เตอระ- หรือ -[ฟาส]-เตอระ-
  • fantastic  -แฟน-[แทส]-ติค-

นอกจากนี้ ถ้าพยางค์ที่มีเสียง t นำ เป็นพยางค์ที่ไม่เน้นในคำ  เขาก็นิยมออกเสียง -ท- เพี้ยน -ต- ได้ โดยธรรมชาติแล้วเสียง -ต- พูดง่ายกว่า -ท- เนื่องจากเสียง -ท- มีการกระแทกลมมากกว่า เข้าใจว่านี่เป็นสาเหตุที่มาขอเสียงเพี้ยนนี้ คำหลายคำนี้คนไทยเราก็นิยมออกเป็นเสียง ต อยู่แล้ว ซึ่งก็ถือว่าถูกต้อง คือ จะออกสียงเป็น -ท- หรือ -ต- ก็ได้นะครับ  หรือจะออกเสียงให้มันก้ำกึ่งระหว่าง -ท- กับ -ต- ได้ก็ยิ่งดี  ขอย้ำอีกครั้งว่าต้องเป็นพยางค์ที่ไม่เน้นในคำนั้น ๆ เช่น

  • actor -[แอค]-เตอระ-    acting -[แอค]-ติง-     acted -[แอค]-ติด-
  • lifting -[ลิฟ]-ติง-    lifted หรือ lift it ออกเสียงเหมือนกันว่า -[ลิฟ]-ติด-
  • butter  -[บัด]-เตอระ-
  • little   -[ลิด]-เติล-
  • forty  -[ฟอร]-ติ-
  • party -[พาร]-ติ-
  • eating  -[อีด]-ติง-
  • writing -[ไร]-ติง-
  • water  -[วอ]-เตอระ-
  • data  -[เด]-ตา- หรือ -[ดา]-ตา- หรือ  -[แด]-ตา-

 

เมื่อ t เพี้ยนกลายเป็น ด (แบบอเมริกัน)

เสียง -ท- นอกจากเพี้ยนเป็น -ต- ได้แล้ว ยังเพี้ยนได้มากกว่านั้นกลายเป็น -ด- เลยก็ได้  ก่อนอื่นขออธิบายก่อนว่า ผมเข้าใจว่า อันนี้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสำเนียงอเมริกัน ซึ่งเราก็ไม่จำเป็นต้องไปพูดตามเขา ก็แล้วแต่ว่าคุณชอบแบบไหน ถ้าชอบก็ใช้ตามเขาได้ ถ้าไม่ชอบก็แค่เอาเป็นความรู้ไว้ เวลาฟังจะได้ไม่งง  ในส่วนตัวเอง ผมก็ชินตามแบบอเมริกัน และก็รู้สึกทำให้มันออกเสียงง่ายขึ้นด้วย  ถ้าจะว่าสำเนียงอเมริกันจะทำปากค่อนข้างจะขี้เกียจกว่าสำเนียงอื่นก็ว่าได้ครับ

เวลาเสียง t ตามหลังเสียงสระ หรือเสียง r และไม่เป็นพยางค์ที่เน้น คนอเมริกันมักออกเสียงเพี้ยนเป็นเสียง -ด- เช่น คำว่า better ออกเสียงเพี้ยนว่า -[เบ็ด]-เดอระ- ก็ได้  แทนที่จะเป็น -[เบ็ท]-เทอระ- หรือ -[เบ็ต]-เตอระ- ลองออกเสียงทั้งสองแบบเทียบกันดูนะ ครับ แม้กระทั้งเวลาที่เสียง t เป็นเสียงเชื่อมระหว่างคำ ก็สามารถเพี้ยนเป็นเสียง -ด- ได้เช่นกัน เช่น it is พูดติดกันเป็น -อิด-ดีซ- ลองดูตัวอย่างเพิ่มนะครับ ผมจะเขียนแค่คำอ่านที่เป็นตัว -ด- เท่านั้น ขอให้เข้าใจว่า คุณจะออกเสียงให้ชัดถ้อยชัดคำเป็น -ท- หรือ –ต- แทนที่ -ด- ในที่นี้ก็ได้ แล้วแต่ถนัด ข้อสำคัญคือ ไม่ต้องไปพยายามจำ ฟังให้ได้ยิน ฝึกให้ชิน แล้วก็พยายามพูดให้เป็นธรรมชาติไม่ตะกุกตะกัก

  • butter  -[บัด]-เดอระ-
  • little   -[ลิด]-เดิล-
  • turtle  -[เทร]-เดิล-
  • forty  -[ฟอร]-ดี-
  • party -[พาร]-ดี-
  • eating  -[อีด]-ดิ้ง-
  • writing -[ไร]-ดิ้ง-
  • waiting  -[เวด]-ดิ้ง-    waited  -[เวด]-ดิด-
  • water  -[วอ]-เดอระ-
  • atom  -[แอ]-ดัม-
  • a lot of  พอพูดติดกัน กลายเป็น  -อะ-[ล็อด]-ดอฟ-
  • not at all  พอพูดติดกัน กลายเป็น  -น็อด-แดด-ดอล-

 

เมื่อเสียง t หายไป

เสียง t นอกจากจะสามารถเพี้ยนเป็นเสียง -ต- กับ -ด- ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนก่อน ในบางกรณีก็เพี้ยนหายไปเลยก็มี  ตอนนี้ก็จะพูดถึงสองกรณีที่พบเห็นกันโดยทั่วไป

กรณีที่หนึ่ง คือ กรณีที่เสียง t ลงท้ายด้วยเสียง n และไม่ใช่พยางค์ที่เน้น เช่น button  ออกเสียงปกติว่า -[บัท]-เทิน- หรือ -[บัท]-เติน- หรือ -[บัท]-เดิน-  แต่คนทั่วไปมักย่อกลายเป็น -[บัท]-อึน- คือ พยางค์หลังกลายเป็นเสียงขึ้นจมูกเฉย ๆ -อึน- ซึ่งเป็นรากเสียงของตัว n นั่นเอง  กล่าวคือ ทั้งเสียง t และเสียงสระหายไปเลย เหลือแต่เสียงตัว n เฉย ๆ    ลองดูตัวอย่างคำพวกนี้ เพิ่มนะครับ

  • written  -[ริท]-เทิน-  ลดรูปเป็น -[ริท]-อึน-
  • Britain -[บริท]-เทิน-  ลดรูปเป็น -[บริท]-อึน-
  • Clinton -[คลิน]-เทิน-  ลดรูปเป็น -[คลินท]-อึน-
  • Martin  -[มาร]-เทิน-  ลดรูปเป็น  -[มาร]-อึน-
  • mountain -[เม้า]-เทิน-  ลดรูปเป็น -[เม้าท]-อึน-
  • important   -อิม-[พอร]-เทินท-  ลดรูปเป็น  -อิม-[พอร]-อึน-
  • certain   -[เสอร]-เทิน-  ลดรูปเป็น -[เสอร]-อึน-  certainly ก็กลายเป็น -[เสอร]-อึน-ลี-

สังเกตว่า บางคำเขียนคล้าย ๆ กับ certain เช่น contain แต่เนื่องจากคำนี้เน้นที่พยางค์หลัง จึงไม่มีการเพี้ยน หรือลดเสียง -ท- ใด ๆ ทั้งสิ้น  ออกเสียงปกติว่า -เคิน-[เทน]-

กรณีที่สอง ซึ่งกรณีนี้เป็นลักษณะเฉพาะของสำเนียงอเมริกัน ก็เช่นเดียวกันนะครับ มันทำให้พูดง่ายขึ้น แต่เราไม่จำเป็นต้องไปพูดตามเขา แต่ควรรู้ไว้ใช่ว่า จะได้ฟังได้รู้เรื่อง กรณีนี้เกิดขึ้นเมื่อ t ตามหลัง n และเป็นพยางค์ที่ไม่เน้น บางทีคนอเมริกันก็ตัดเสียง t ทิ้งไปดื้อ ๆ เลย  พบเห็นโดยทั่วไปเช่นกัน และแต่ก็แล้วแต่คนพูด ไม่บ่อยเหมือนในกรณีแรก ตัวอย่างเช่น

  • plenty  -[เพลน]-ตี-  กลายเป็น  -[เพลน]-นี-
  • twenty  -เทอะ-[เวน]-ตี-  กลายเป็น  -เทอะ-[เวน]-นี-
  • winter  -[วิน]-เทอระ-  กลายเป็น  -[วิน]-เนอระ-
  • center  -[เส็น]-เทอระ-  กลายเป็น  -[เส็น]-เนอระ-
  • dentist  -[เดน]-ทิสท-  กลายเป็น  -[เดน]-นิสท-
  • isn’t  กลายเป็น  -[อีส]-ซึน-  ไม่มีเสียง -ท- ลงท้าย   เวลาต่อกับคำอื่นที่เป็นเสียงสระจะเห็นได้ชัด เช่น isn’t it ออกเสียงติดกันว่า -[อีส]-ซึน-นิท-
  • want to กลายเป็น -[วอน]-เนอะ- หรือ -[วอน]-นา-  บางคนก็เขียนย่อ (แบบไม่เป็นทางการ) ตามภาษาพูดว่า wanna

กรณีอื่นก็ยังมีอีกบ้าง แต่คิดว่าเอาแค่หลัก ๆ สองอย่างก็พอ  จำอะไรจำหลวม ๆ นะครับ ข้อยกเว้นอาจจะมีซึ่งผมอาจจะนึกไม่ออกตอนนี้  อย่างที่ว่า พยายามใช้หูเป็นครูด้วย

 

การออกเสียงคำที่เติม -ed

คำกริยาในภาษาอังกฤษนั้น มีสามรูปที่เราเรียกกันว่า กริยาสามช่อง คำบางคำก็เปลี่ยนรูปไปเลย เช่น do did done  แต่คำส่วนใหญ่ก็แค่เติม ed ต่อท้ายลงไป เช่น stay stayed stayed  การเติม ed นอกจากใช้ในรูปประโยค tense ต่าง ๆ แล้ว ก็ยังใช้ในรูปประโยคที่ประธานเป็นผู้ถูกกระทำ (passive voice) ด้วย  ซึ่งจะพบเห็นอยู่ประจำ  ตอนนี้เรามาดูวิธีออกเสียงคำที่ถูกเติมด้วย ed กัน

กฎข้อแรก คือ คำที่ลงท้ายด้วย d หรือ t  เมื่อเติม ed จะออกเสียงเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งพยางค์เป็น -ดิด- สำหรับตัว d  หรือ -ทิด- สำหรับตัว t  หมายเหตุว่า เสียง -ท- ของ -ทิด- สามารถเพี้ยนเป็นเสียง -ต- หรือ -ด- ได้ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในตอนก่อน  ลองดูตัวอย่างครับ

  • added  -[แอด]-ดิด-
  • needed  -[นีด]-ดิด-
  • divided  -ดิ-[ไว]-ดิด-
  • tested -[เทส]-ติด-
  • related -ริ-[เล]-ทิด- หรือ  -ริ-[เล]-ติด-
  • reported  -ริ-[พอร]-ทิด- หรือ -ริ-[พอร]-ติด-

คำที่ลงท้ายด้วยเสียงพยัญชนะตัวอื่น ๆ จะไม่ออกเสียงเพิ่มพยางค์ แต่จะออกเป็นแค่เสียง t หรือเสียง d เติมท้ายเท่านั้น  ตามตำราแล้ว ถ้าลงท้ายด้วยเสียงไม่ก้อง ได้แก่ เสียงของพยัญชนะ s, f, k, p, sh, ch ให้เพิ่มเสียง -ท- เข้าไปตอนท้ายเป็นเสียง ทึอ หรือ เทอะ ซึ่งเสียงลมเฉย ๆ   เสียง -ท- จะไปทำให้เสียงพยัญชนะเดิมสั้นลงเล็กน้อย เพราะต้องหยุดมาทำเสียง ทึอ ตัวอย่างเช่น

  • missed  -มิสท-
  • kicked  -คิคท-
  • pushed  -พุฉท-
  • touched  -ทัชท-
  • coughed  -คอฟท-
  • stopped  -สะ-[ตอพท]-
  • charged  -ชารจท-  อันนี้เป็นตัวยกเว้น ลงด้วยเสียง j หรือ -จ- ed ก็ยังเป็นเสียง t ครับ

สำหรับคำที่ลงท้ายด้วยเสียงก้อง ได้แก่ เสียงสระ หรือเสียงของพยัญชนะอื่น ๆ เช่น z, v, g, b, l, m, n, r, …  ให้เติมเสียง d เข้าไปตอนท้ายเป็นเสียงคราง ดึอ หรือ เดอะ เบา ๆ  เช่นเดียวกัน เสียง -ด- จะทำให้เสียงพยัญชนะเดิมสั้นลงเล็กน้อย  จะเห็นได้ชัดที่สุดในคำที่ลงท้ายด้วยเสียงตัว r เช่น fired ออกเสียงว่า -ไฟรด- พูดช้า ๆ จะฟังคล้ายสองพยางค์ว่า -[ไฟ]-เอิรด- เทียบกับ fire ซึ่งพูดช้า ๆ เป็นสองพยาค์ได้เป็น -[ไฟ]-เอิร- พยางค์หลังจะลากยาวกว่าหน่อยจากผลของตัว r  เต็ม ๆ ที่เราได้เห็นมาแล้วในตอนก่อน ๆ   ดูตัวอย่างเพิ่มเช่น

  • retired  -ริ-[ไทรด]-
  • stored  -สะ-[ตอรด]-
  • fostered  -[ฟอส]-เตอรด-
  • called  -คอลด-
  • saved  -เสฯด-
  • tried -ทรายด-  (มาจาก try เติม ed)
  • banned  -แบนด-   ก็ออกเสียงเหมือนคำว่า band เลย แต่คนละความหมาย
  • robbed  -รอบด-
  • begged -เบกด-

ข้อสังเกตอีกอย่างคือ เวลาพูดเป็นประโยค ติด ๆ กับคำอื่น เสียง -ท- สามารถเพี้ยนเป็นเสียง  -ต-  หรือ -ด- ได้  โดยเฉพาะเมื่อตามด้วยคำที่ขึ้นต้นด้วยเสียงสระ ดังนั้น ใครจะโมเมไม่สนใจว่าเสียงก้อง หรือไม่ก้อง แต่จะใส่เป็นเสียง -ด- ไปหมดเวลาเติม ed ผมก็ว่าพอใช้ได้นะครับ  จะได้ง่ายขึ้นหน่อย  ลองดูตัวอย่าง เช่น

  • He kicked us.  พูดติดกันเป็น  -[คิค]-ทัส-  หรือ  -[คิค]-ตัส-  หรือ อนุโลมให้พูดเป็น  -[คิค]-ดัส-  ได้
  • We missed it.   พูดติดกันเป็น -[มีส]-ติท-  หรือ อนุโลมให้พูดเป็น -[มีส]-ดิท- ได้
  • He stopped it.  พูดติดกันเป็น -สะ-[ต็อพ]-ติท- หรือ อนุโลมให้พูดเป็น -สะ-[ต็อพ]-ดิท- ได้
  • We saved it.   พูดติดกันเป็น  -เสฯ-ดิท-

สรุปตบท้ายหน่อยว่า เสียงที่จะได้ยินชัดเจนเสมอก็คือ เสียงที่เพิ่มอีกพยางค์หนึ่งในกรณีที่ลงท้ายด้วย t หรือ d ถ้าใครไม่เคยพูดเสียง ed เลยก็ควรเริ่มจากสองตัวนี้ให้ได้  ส่วนในกรณีอื่น ๆ นั้น ก็ไม่ต้องเครียคเกินไป ทำตกไปบ้าง หรือ ทำผิดบ้างถูกบ้างช่างมัน ถือเป็นส่วนหนึ่งของสำเนียงไทย  ค่อย ๆ พัฒนาไปตามประสบการณ์  และความสามารถ  ผมเองก็ยอมรับว่าไม่ได้พูดถูกตลอดเวลา  เรื่องไวยกรณ์กับภาษาพูดนี้ผมจะพูดถึงละเอียดอีกครั้งในบทที 19  ส่วนเรื่องเสียงเชื่อมคำจะพูดอีกครั้งในบทที่ 17

หมายเหตุ  คำคุณศัพท์บางคำมีรูปร่างคล้ายเกิดจากการเติม ed เข้าไปในคำกริยา แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่  คำพวกนี้มีความหมายในตัวของมันเอง เพียงแค่รูปร่างเหมือนเกิดจากการเติม ed  ดังนั้น คำพวกนี้อาจไม่ออกเสียงตามกฎที่กล่าวมาข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น  naked อ่านว่า -[เนค]-กิด- หรือ -[เนค]-เก็ด-  (เสียงพยาค์หลังสั้นและเบา จะออก -กิด- หรือ -เก็ด- ก็ได้ ไม่ต่างกันเท่าไร) ในขณะที่ faked อ่านว่า -เฟคท- เพราะมาจากคำกริยา fake    ส่วน legged อ่านว่า -[เลค]-กิด- ในขณะที่ begged อ่านว่า -เบกด- เพราะมาจากคำกริยา beg  ดูตัวอย่างเพิ่มเช่น

  • wicked อ่านว่า -[วิค]-กิด-
  • rugged อ่านว่า -[รัก]-กิด-
  • beloved อ่านได้สองแบบ   -บิ-[เลิฯ]-ฯิด-  หรือ -บิ-[เลิฯด]- ก็ได้

» แบบฝึกหัดออกเสียง

» ไปบทถัดไป 10. เสียง p และ b    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 2 กุมภาพันธ์ 2017

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

15 − one =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net