ผมเห็นมายากลก็นึกเตือนสติสอนใจว่า สิ่งที่เราเห็นอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นลักษณะที่ตรงข้ามกับความรู้สึกของคนทั่วไป เพราะเราเห็นอะไร ก็เชื่ออย่างนั้น ทั่งไทย ทั้งฝรั่งก็มีสำนวนเหมือนกันว่า เห็นมากับตา หรือ see with my own eyes การเห็นอะไรแล้วไม่เชื่อ 100% ทันที ยกเว้นจะได้พิสูจน์ชัดเจนแล้ว ก็เป็นทักษะที่สำคัญที่ทุกคนควรมีไว้
วันนี้มาดูวิธีพูดอธิบายปรากฏการณ์ที่เราเห็นแบบไม่ฟันธง ซึ่งก็มีวิธีพูดได้หลายแบบนะครับ ผมเคยเล่าไปแล้วกับการใช้ may, might, can, could ตอนนี้ ลองมาดูการใช้คำกริยา seem กับ appear เพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เราเห็นอยู่ แต่ไม่แน่ใจ หรือไม่อยากฟันธง เช่น
- This one seems to be smaller than the others. ชิ้นนี้ดูเหมือนจะเล็กกว่าชิ้นอื่นนะ
- This one appears to be smaller than the others. แปลเหมือนกัน แต่เน้นกว่ากว่าว่า มันเห็นออกมาเป็นอย่างนั้น
- This computer seems to have a virus. เครื่องคอมพิวเตอร์นี้ดูเหมือนจะมีไวรัส
- Dang appears to win the race. หรือ Dang appears to have won the race (เน้นว่าเสร็จสิ้นไปแล้ว). แดงดูเหมือนจะชนะเข้าที่หนึ่ง ก็คือแข่งกันสูสีมาก แต่คนพูดเห็นว่า แดงน่าจะเข้าเส้นชัยก่อน ก็ไม่ควรพูดฟันธง (โดยเเฉพาะถ้าเป็นคนพาร์ก) ควรรอให้ผลเป็นทางการออกมาก่อน
- This seems correct. อันนี้ดูเหมือนจะถูกนะ สังเกตว่า seem/appear สามารถใช้ตามด้วยคำคุณศัพท์เลยก็ได้ จะใช้เต็ม ๆ ว่า This seems to be correct. ก็ได้
ผมใช้ seem บ่อยครับ เวลาทำงานกับคนอื่น โดยเฉพาะเวลาจะพูดกล่าวหาใคร หรือพาดพิงถึงอะไรที่เขาทำ ก็พยายามอย่าไปพูดฟันธงตรง ๆ แต่ใช้ seem มาช่วยทำให้อ่อนลงหน่อย ถึงแม้เราจะแน่ใจก็ตาม (เพราะเราก็คิดผิดได้เหมือนกัน) เช่น
- Your solution does not seem to work. วิธีของคุณดูเหมือนจะใช้ไม่ได้
- You seem to misunderstand this. ดูเหมือนคุณจะเข้าใจผิดนะ
- That does not seem right. อันนี้ดูเหมือนจะไม่ถูกต้องนะ