เขาว่าสำเนียงไทยแท้พูดแบบราบเรียบ ไม่มีการเน้นพยางค์ แต่จริง ๆ แล้วมีการเน้นทางอ้อมอยู่นิดหน่อยครับ เนื่องจาก 1) เรามีการใช้ระดับเสียงขึ้นลงที่คงที่ พยางค์ที่เราออกเสียงเป็นโท ตรี ก็ฟังเหมือนเน้นมากกว่าพยางค์ที่เป็นเสียงสามัญ และเอก 2) บางพยางค์เราก็ออกเสียงเร็วตามความนิยม ทำให้ฟังเหมือนไม่เน้น ดังนั้น สำเนียงไทย ในบางคำก็เลยฟังเหมือนไปเน้นพยางค์ผิดตัว ทำให้ฟังไม่รู้เรื่อง ใครที่พยายามเน้นแต่ไปเน้นผิดพยางค์ก็ยิี่งไปกันใหญ่
ตัวอย่างเช่น คำว่า advertise เน้นพยางค์แรก กับพยางค์ที่สาม สำเนียงไทยเราพูด แอ๊ด-เวอ-ไทส ซึ่งก็ฟังเหมือนเน้นพยางค์แรกและพยางค์ที่สาม ก็เลยถูกโดยบังเอิญ แต่คำว่า advantage เน้นพยางค์ที่สอง แต่สำเนียงไทยพูดเหมือนเดิมว่า แอ๊ด-แวน-เทจ ซึ่งฟังเหมือนเน้นพยางค์ที่หนึ่ง ก็กลายเป็นผิดไป ถ้าพูดให้ถูกก็ต้องลดเสียงพยางค์แรกลง แล้วเน้นพยางค์ที่สองให้ยาวและสูงขึ้น เป็น แอด-แว๊น-เทจ (แบบอเมริกัน) หรือ แอด-ว๊าน-เทจ (แบบอังกฤษ) วิธีเขียนคำอ่านของผม จะเอาพวกวรรณยุกต์ออก เพราะมันขึ้นกับสำเนียงและอื่น ๆ ก็เลยเขียนโดยใช้วงเล็บสี่เหลี่ยมบอกการเน้นพยางค์แทน เป็น -แอด-[แฯน]-เทจ- และ advertise ก็เป็น -[[แอด]]-เฯอะ-[ไทส]- (Note: เสียง v ไม่ใช่ ว นะครับ ผมแทนด้วย ฯ กดอ่านรายละเอียดได้ที่ เสียงตัว v)
คำบางคำ ก็เน้นพยางค์ไหนก็ได้ เพราะมีคนพูดทั้งสองแบบ เช่น address ถ้าเป็นคำกริยาต้องเน้นพยางค์ที่สอง แต่ถ้าเป็นคำนามมีคนพูดทั้งสองแบบ -แอด-[เดรส]- หรือ -[แอด]-เดรส- ก็ได้
คำอื่น ๆ ที่เรามักเน้นผิด ทำให้คนอาจจะฟังไม่รู้เรื่อง ก็เช่น
- advance -แอด-[ฯานส]- (แบบอังกฤษ) หรือ -แอด-[แฯนส]- (แบบอเมริกัน) เน้นพยางค์ที่สอง
- advice -แอด-[ไฯส]- เน้นพยางค์ที่สอง
- orange -[ออ]-เรนจ- เน้นพยางค์ที่หนึ่ง
- effect -อิ-[เฟคท]- หรือ -เอะ-[เฟคท]- เน้นพยางค์ที่สอง
- exam -เอก-[แซม]- เน้นพยางค์ที่สอง
- example -เอก-[ซาม]-เปิล- (แบบอังกฤษ) หรือ -เอก-[แซม]-เปิล- (แบบอเมริกัน) เน้นพยางค์ที่สอง
- mobile -[โม]-เบาล- หรือ -[โม]-เบิล-เน้นพยางค์ที่หนึ่ง
- suggest -สัก-[เจสท]- เน้นพยางค์ที่สอง
- appreciate -แอพ-[[พริ]]-ชิ-[เอด]-เน้นพยางค์ที่สอง
- entrance -[เอน]-ทรานส- เน้นพยางค์ที่หนึ่ง
ฯลฯ มีอีกเยอะ ไว้คิดได้ค่อยใส่เพิ่มครับ ใครเห็นคำอื่นก็ขอเชิญแนะนำมาได้
สนใจอ่านรายละเอียดของการออกเสียงพยางค์ที่ไม่เน้นได้ที่ เสียงสระ ə