คำนำ – เข้าใจไวยกรณ์ของประโยคภาษาอังกฤษ

  • เขียนให้ใคร

หนังสือเล่มนี้สำหรับนักเรียนทุกชั้น ทุกระดับ โดยเฉพาะผู้ที่ได้เรียนไวยกรณ์มาบ้างแล้ว แต่ยังมีความสับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก หรือ ไม่เข้าใจว่ารูปประโยคแบบต่าง ๆ จะเอาไปใช้อย่างไร ในสถานการณ์ไหน

ผมไม่ได้ตั้งใจเขียนให้เป็นแบบเรียน หรือให้มีความสมบูรณ์ในรายละเอียด แต่ตั้งใจให้มีความครอบคลุมเนื้อหาหลักใหญ่ หรือที่พบบ่อย ถ้าเปรียบเนื้อหาไวยกรณ์รูปประโยคเหมือนแผนที่กรุงเทพฯ หนังสือนี้ก็เหมือนแผนที่ที่ครอบคลุมเส้นทางหลักส่วนใหญ่ แต่อาจจะไม่รวมตรอก ซอกซอย ต่าง ๆ  บางจุดก็ออกแนวมวยวัดบ้าง ไม่ใช้ศัพท์เทคนิคตามทฤษฎี อันนี้ก็ตั้งใจบ้าง ไม่ตั้งใจบ้างนะครับ (บางทีก็ผมก็ไม่รู้ หรือลืมทฤษฎีไปแล้ว) ผมขอออกตัวว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญนะครับ แค่เอาตัวรอดได้   ก็หวังว่า ผู้อ่านจะได้เห็นถึงภาพรวม อย่างง่าย ๆ เหมือนดูแผนที่  และก็เอาไปต่อยอดเอาตามอัธยาศัย

  • ต่อยอดอย่างไร

ผมแนะนำว่า พออ่านเข้าใจแล้ว ก็เอาไปสังเกตในสื่อต่าง ๆ  หลักการเดียวกับที่เคยบอกเรื่องการออกเสียงว่า ถ้าเราอยากฝึกออกเสียง ก็หัดสังเกตเสียง เช่นเดียวกัน ถ้าเมื่อไรเราอยากฝึกไวยกรณ์ ก็หัดสังเกตไวยกรณ์ คราวนี้ง่ายกว่า เพราะอ่านก็สังเกตได้ เวลาอ่าน หรือเวลาฟัง จากสื่อต่าง ๆ ก็ลองสังเกตดู เจออะไรน่าสนใจสังเกตดู และดูว่ามันเข้ากฎกลุ่มไหน อย่างไร

ไวยกรณ์เป็นพื้นฐานสำคัญของการเขียน ใครอยากจะเขียนเก่งก็ต้องเริ่มตรงนี้ให้แข็งก่อน

นอกจากเรื่องรูปประโยคแล้ว ซึ่งเน้นเรื่องการเข้าใจกริยาเป็นหลัก ผมว่าเรื่องใหญ่อีกอย่างของไวยกรณ์ที่สับสนกันมาก ก็คือ การใช้นามแบบเจาะจง หรือไม่เจาะจง ไว้มีโอกาสก็จะได้เขียนให้อ่านในเล่มต่อไป

คนที่อยากจะเก่งมากก็ลองหาหนังสือระดับอ้างอิงรายละเอียดได้ มาไว้ข้างตัว คราวนี้ไม่จำเป็นต้องอ่านจากต้นจนจบก็ได้ เพราะเราพอรู้ภาพรวมแล้ว แค่เปิดอ่านในหัวข้อที่สนใจ หรือสงสัย  หนังสืออ้างอิงมีเยอะครับ ที่ผมรู้จักได้แก่่

  • เลิศ เกษรคำ,  Grammar and Techniques of the English Language  (สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช)
  • Betty Azar, Understanding and Using English Grammar 3rd ed. (Pearson Education, 1999)
  • Azar Grammar Exchange  อันนี้เป็นบทความเพิ่มเติมจากหนังสือของ Azar
  • สัญลักษณ์ที่ใช้ในหนังสือ

กริยาในภาษาอังกฤษมี 3 รูปนะครับ ที่เราเรียกว่า กริยาสามช่อง

ผมใช้สัญลักษณ์ V1, V2, V3 แทนกริยาสามช่องนี้

V+ing แทนรูปกริยาที่เติม ing หรือเขาเรียกว่า gerund

กริยาส่วนใหญ่ก็เติม ed กลายเป็น V2 และ V3  แต่บางตัวก็แปลกไป เช่น go, went, gone  ดูอ้างอิงตัวที่แปลก ๆ ได้ที่นี่

» ไปบทถัดไป 1. รูปประโยคปัจจุบันกาล    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 15 มกราคม 2018

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

2 − one =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net