9. กริยาแท้ และส่วนประกอบในประโยค

บทที่แล้ว เราจะเห็นได้ว่า กริยาเอามาทำเป็นวลี แล้วเป็นส่วนประกอบของประโยคได้ ก่อนจะไปต่อถึงประโยคที่ซับซ้อนขึ้นที่ประกอบด้วยประโยคย่อยมากกว่าหนึ่งประโยค  ในบทนี้ ผมขอตอกย้ำ เอาให้เข้าใจแค่ประโยคเดียวกันก่อน

 

มองหากริยาแท้ในประโยค

ในประโยคหนึ่ง ๆ ก็อาจมีส่วนประกอบหลัก ๆ ได้ดังนี้

  • ประธาน + กริยา + กรรม  เช่น I like computers.
  • ประธาน + กริยา  เช่น The price rises.  หรือ  Birds fly.
  • ประธาน + กริยา + คุณศัพท์   เช่น  The dog is good.  หรือ He becomes ill.

พอเราเห็นตัวหลักแล้ว ส่วนอื่น ๆ ก็เป็นส่วนปรุงแต่ง หรือส่วนประกอบ ได้แก่ กริยาที่ผันตามกาลเวลา (tense), คุณศัพท์ขยายประธาน, คุณศัพท์ขยายกรรม, และคำวิเศษณ์ขยายกริยา (adverb)   ส่วนประกอบพวกนี้ก็เป็นได้ทั้งคำ ๆ เดียว หรือเป็นวลีก็ได้  และก็มีได้มากกว่าหนึ่งตัวในประโยคเดียวกัน

มาดูตัวอย่างประโยคที่ซับซ้อน ที่จริง ๆ แล้วเป็นแค่ประโยคเดียวอยู่ ยังไม่มีประโยคซ้อน เพราะฉะนั้นมีกริยาแท้แค่ตัวเดียว เช่น

One of the great lessons learned from this story is never completely trust other people, previously known to you or not, including the ones being closest to you.

ลองมาแยกองค็ประกอบของประโยคนี้ดู

  • One of the great lessons learned from this story  อันนี้ก็เป็นประธานที่เป็นนามวลี มีคำขยายทั้งหน้าและหลัง  ถ้าตัดสิ่งปรุงแต่งออกทั้งหมด ก็เหลือเป็น  a lesson   (มองออกไหมครับว่า เป็นเอกพจน์ เขาหมายถึง บทเรียนบทหนึ่งในหลายบท)
    • ตัวขยายข้างหน้า คือ great  ตัวชี้เฉพาะ คือ one of the
    • ตัวขยายข้างหลังเป็นวลีที่มาจากกริยาช่องสาม learned from this story  (เพราะบทเรียนเป็นสิ่งที่ถูกกระทำ คือถูกเรียน)
  • is คือ กริยาแท้ของประโยค
  • never completely เป็น คำขยายกริยา trust ที่ตามมา รวมกันแปลว่า อย่าเชื่อ 100%  คือ เชื่อได้บ้าง แต่อย่าเต็มร้อย
  • trust other people  คือ กรรมของประโยค ซึ่งเป็นวลีมาจากกริยาอีก โดยปกติก็มักจะใช้ V+ing เป็น trusting other people แต่ผมใช้ V1 ในที่นี้ เพื่อเน้นว่าเป็นข้อแนะนำ หรือคำสั่ง
  • previously known to you or not  เป็นคำขยาย people สังเกตว่าใช้กริยา known เป็น V3 อีก
  • including the ones being closest to you  เป็นคำขยาย people อีก ซึ่งมาจากวลีใหญ่ประกอบด้วย
    • include เป็นกริยา  ก็เอามาใช้เป็นวลีขึ้นด้วย including
    • the ones หมายถึง คน  เป็นนามที่ทำหน้าที่เป็นกรรมของ including
    • being closet to you ก็เป็นวลีขยายนาม the ones

การใช้เครื่องหมายคอมม่านั้น เพื่อจะแยก previously known to you or not ออกมา ไม่ให้มันติดกันเย่อเย้อจนเกินไป เวลาอ่านก็ควรเว้นวรรคนิดหนึ่ง

เห็นไหมครับ มีกริยาแท้มีตัวเดียว กริยาไม่แท้มีถึง 5 ตัวในประโยคนี้ และเราก็ต้องประยุกต์ใช้เรื่องรูปต่าง ๆ ของกริยาที่ได้พูดถึงในบทก่อนอย่างแนบเนียน

ดูอีกตัวอย่างหนึ่งนะครับ คราวนี้ผมจะไม่อธิบายมากนักล่ะ

Having done a lot of practice, the team felt more confident to take on a real opponent in the coming tournament.

  • Having done a lot of practice  วลีขยายการกระทำ
  • the team  ประธาน
  • felt  กริยาแท้ (ที่ไม่มีกรรม แต่ตามด้วยคุณศัพท์)
  • more confident   คุณศัพท์  (more เป็นคำวิเศษณ์ขยาย confident)
  • to take on a real opponent  วลีขยาย confident
  • in the coming tournament  วลีขยายการกระทำ take on, สังเกตว่า coming ก็ขยาย tournament

 

กริยาแท้ผันตามประธาน และเวลา

เวลามีวลีที่มาจากกริยากเข้ามาเกี่ยวข้อง บางทีก็ดูสับสนได้ว่า ตรงไหนกริยาแท้ ไม่แท้ ลองดูตัวอย่างเช่น

  • I help him do the work.

ในที่นี้มีกริยาแท้คือ help  ส่วน do the work เป็นวลีที่ขยายประโยค  เราจะใช้รูปไหนของกริยานำหน้าวลีนั้น (do หรือ to do หรือ doing) บางทีก็เนื่องจากความหมายที่ต้องการสื่อ แต่บางทีก็แล้วแต่การใช้ที่ควบคู่กับกริยาหลัก ในที่นี้ ใช้ do เพราะต้องคู่กับ help เป็นสำนวนว่า help someone do something

เมื่อประธาน หรือกาลเวลาเปลี่ยนไป ก็เฉพาะกริยาแท้เท่านั้นที่ผันตามประธาน และกาลเวลา เช่น

  • He helps me do the work.  ช่วยในปัจจุบัน
  • I helped him do the work.  ช่วยในอดีต
  • He has helped the boy do the work.  ช่วยแล้ว
  • They have been helping me do the work.  ช่วยมาอยู่
  • I should help you do the work.   ควรจะช่วย

เห็นไหมครับ do the work ไม่ผันตามประธาน หรือ กรรม หรือกาลเวลาของประโยค

ลองเทียบกับประโยคนี้ ซึ่งผมจะลองผันกริยาไม่แท้ให้ดูบ้าง

  • He wants to do that.  อยากจะทำ
  • He wants to be doing that.  เน้นว่าอยากจะกำลังทำอยู่
  • He wants to have done that.  เน้นว่าอยากจะทำเสร็จแล้ว
  • He wants to have been doing that.  เน้นว่าอยากจะกำลังทำมาอยู่

ในที่นี้ ความอยากของประธานเป็นปัจจุบัน ไม่ได้เปลียนไปไหน แต่สิี่งที่อยากเปลียนไป เราก็แปลงรูปกาลเวลาของกริยาในวลีนั้นตามความหมายที่ต้องการ แต่ทุกตัวก็ยังต้องขึ้นด้วย to V1 เสมอ   สังเกตว่า แบบที่สามกับสี่นั้น สิ่งที่ประธานต้องการเป็นเรื่องในอดีต ก็เหมือนฝันนิด ๆ ถึงเวลาที่ผ่านไปแล้วนะครับ กริยาที่เหมาะสมกว่า want ก็คือ wish  แต่รูปไวยกรณ์นั้นเหมือนกัน

» ไปบทถัดไป 10. ประโยคคำถาม และปฏิเสธ    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 24 มกราคม 2017

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

thirteen + nineteen =

Copyright © 2013-2025 betterenglishforthai.net