เสียงลมกระแทก กับ ลมโชย
เสียง ch กับ sh เป้นอีกคู่หนึ่งที่คนไทยสับสน เนื่องจากในภาษาไทยมีเสียง ช (หรือ ฉ) อยู่แบบเดียว แต่ภาษาอังกฤษมีอยู่สองแบบ ตอนนี้เรามาดูว่ามันเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ในการเขียนแทนเสียงคุ่นี้ ผมขอให้ -ช- แทนเสียง ch และ -ฉ- แทนเสียง sh นะครับ มาดูวิธีออกเสียง ch กับ sh กัน เสียง ch หรือ -ช- เป็นเสียง ชอ แบบกระแทก ๆ หรือ พูดเหมือนจะพ่นน้ำลายใส่หน้าคนฟัง ตอนเริ่มต้นลิ้นจะแตะที่หลังฟันบนหน้า อาจจะหลื่อมมาตรงเพดานปากหน่อย แล้วตอนออกเสียงก็พ่นกระแทกเป็นเสียงลมออกมา ฟังดูเหมือน เชอะ ในภาษาไทยเวลาเราพูดเสียง ช ผสมกับสระบางตัวก็จะมีในลักษณะนี้ เช่น ชัย ชิด ชอบ สังเกตเสียงลมที่กระแทกออกมาตอนออกเสียง ช ดู นั่นแหละเสียง -ช- เลย ถ้าจะเอาให้ชัดกว่านั้นก็แกล้งกระแทกให้แรงขึ้นหน่อยก็ได้ แต่ไม่ต้องมากขนาดไปพ่นน้ำลายใส่หน้าคนฟังนะครับ
สำหรับเสียง sh หรือ -ฉ- นั้นเป็นเสียง ชอ แบบอ่อนโยน ไม่มีการกระแทก ลองออกเสียง ฉู่ เป็นเสียงลมเฉย ๆ ยาว ๆ อย่างต่อเนื่อง เหมือนเวลาสอนให้เด็กเล็ก ๆ ฉี่ นั่นแหละรากเสียงของเสียง sh เลย เพราะฉะนั้น ผมว่าใช้ -ฉ- แทนนี่น่าจะเหมาะสมดี (เป็น ฉ ฉี่) ในภาษาไทยเวลาเราพูดเสียง ช ผสมกับสระบางตัวก็จะมีในลักษณะคล้ายเสียงนี้ เช่น ชู ชี ชวน สังเกตเสียงกระแทกจะน้อยกว่าแบบก่อน บางคนอาจพูดแล้วอาจมีเสียงลมกระแทกอยู่บ้าง ถ้าจะเอาให้เหมือนเสียง sh ก็พยายามอย่าให้มีเสียงกระแทกออกมา ลิ้นอย่าให้แตะฟันหน้า หรือเพดานปาก ให้เสียงลมผ่านออกมาอย่างนุ่มนวล
ดังนั้น จะว่าเสียง ชอ ของไทยเป็นแบบทางสายกลางก็ได้ ส่วนของอังกฤษเป็นแบบสุดโต่ง เสียง ch -ช- แข็งกระด้าง แต่เสียง sh -ฉ- นั้นอ่อนโยน คุณลองทำสนุก ๆ ลองพูดคำไทยโดยใช้เสียงอังกฤษดูสิครับ ชัย ชิด ชอบ ชู ชี ชวน … พูดแบบลมกระแทก และก็แบบลมโชย เป็นการฝึกบังคับปากให้ชำนาญ เวลาออกเสียงกระแทกนั้น คำจะฟังดูสั้นกว่าหน่อยเป็นธรรมดา การออกเสียง -ช- กับ -ฉ- ในภาษาอังกฤษก็ใช้ทักษะอันนี้เอง เจอตัวไหนเราก็ออกตัวนั้น ให้มันผสมกับสระอะไรก็ได้ เช่น คำว่า chop -ชอพ- (หรือ -ช็อพ-) กับ shop -ฉอพ- ลองฟัง และออกเสียงเทียบกันดูทั้งสองแบบดู shop ถ้าใช้เป็นคำกริยาแปลว่า ซื้อของ หรือบางคนเรียกทับศัพท์ว่า ช็อบปิ้ง ภาษาอังกฤษเราพูดว่า go shopping -โก- -[ฉอพ]-พิง- ถ้าเราพูดผิดเป็น go chopping ก็จะกลายเป็นแปลว่า จะไปหั่นหมู หรือหั่นสับอะไรสักอย่าง สำเนียงไทยที่ไม่ได้ปรับก็จะฟังคลุมเคลือ แต่น่าจะฟังดูเหมือนไปสับหมู มากกว่าไปซื้อของสำหรับคำนี้
ลองฝึกคำอื่น ๆ ดูนะครับ
- chop -ชอพ- shop -ฉอพ-
- cheap -ชีพ- ราคาถูก sheep -ฉีพ- แกะ (สัตว์)
- chew -ชู- ขบเคี้ยว shoe -ฉู- รองเท้า
- chair -แชร- เก้าอี้ share -แฉร- แบ่งปัน
- chip -ชิพ- ขนมกรบกรอบ หรือ ชิพอิเล็กทรอนิกส์ ship -ฉิบ- เรือ
- sure -ฉัวร- หรือ -ฉูร-
- she -ฉี-
- show -โฉ-
- choice -ช้อยส-
คำบางคำมีรูปเป็น ch แต่ไม่ใช่ เสียง -ช- นะครับ เป็นเสียง -ค- คำพวกนี้มีไม่มากครับ คิดว่าไม่มีปัญหามากนัก
- chaos -[เค]-ออส-
- chrome -โครม-
- chorus -[คอ]-รัส-
เสียง ch กับ sh ลงท้าย
เวลาเป็นเสียงลงท้ายก็ทำลักษณะเดียวกัน จะทำเป็นเสียงลมกระแทกออกมาเป็น เชอะ สำหรับ -ช- (เชอะแบบไม่มีเสียงคอนะครับ) หรือเสียงลมโชยสำหรับ -ฉ- เวลาเราทำเสียง -ช- มันก็เหมือนเสียงจะหยุดหลังพูดเสียงสระแล้วก็เชอะออกมา แต่เสียง -ฉ- จะมีความต่อเนื่องกับเสียงสระมากกว่า ลองฟังและฝึกดูนะครับ
- which -วิช- อันไหน wish -วิฉ- ภาวนา หรือหวัง
- bush -บุฉ-
- push -พุฉ-
- punish -[พัน]-นิฉ- ลงโทษ
- such -สัช-
- much -มัช-
- each -อีช-
- church -เชิรดช- แปลว่า โบร์ส คำนี้ใช้ฝึกออกเสียง -ช- ได้ดีมากเพราะมีทั้งหน้าและหลัง
- bunch -บันช-
เสียง CH และ SH เมื่อแทรกอยู่ในคำ
เสียง ch -ช- กับ sh -ฉ- นี่ผมว่าง่ายกว่า เสียง s กับ z เยอะ เพราะว่า เห็นความแตกต่างชัดเจนกว่า ออกเสียงง่ายกว่า และส่วนใหญ่รูปก็ตรงกับเสียง ถ้าใครทำสองเสียงนี้ให้แตกต่างกันไม่ได้ก็พออนุโลมให้ออกเป็นเสียง ช แบบไทย ๆ เป็นสำเนียงอังกฤษแบบไทยถูไถไปได้ แต่ใครที่ทำได้ก็จะดีมาก
เวลาเสียง -ช- หรือ -ฉ- ไม่ได้อยู่ที่พยางค์ต้น บางทีก็มีรูปที่แปลก ๆ อยู่เหมือนกัน ลองดูตัวอย่างครับ
- teacher -[ทีช]-เชอระ-
- picture -[พิค]-เชอระ-
- measure -[เม]-เฉอระ
- official -ออฟ-[ฟิ]-เฉียล-
- machine -แมะ-[ฉีน]- ตัวนี้ ch แต่ออกเสียง sh นะครับ
มีคำนามมากมายที่ลงท้ายด้วย -tion หรือ -sion ออกเสียงพยางค์ลงท้ายว่า -ฉั่น- เช่น
- nation -[เน]-ฉั่น-
- intention -อิน-[เทน]-ฉั่น-
- connection -คอน-[เนค]-ฉั่น-
- vision -[ฯิ]-ฉั่น-
- passion -[แพ]-ฉั่น-
- commission -คอม-[มิ]-ฉั่น-
» ไปบทถัดไป 9. เสียง t และ d » กลับไปที่ สารบัญ