4. Would, could, should, etc

บทที่แล้วผมได้พูดถึงการประยุกต์ใช้รูปประโยคพื้นฐานสี่สหาย คือ ทำกำลังทำ, ทำแล้ว, ทำมาอยู่ เพื่ออธิบายอนาคต  ถ้าคุณสังเกตดูดี ๆ จะเห็นว่ารูปแบบประโยคแบบอนาคต เริ่มมีความเป็นระเบียบเรียบร้อยกว่า แบบปัจจุบัน และแบบอดีต กล่าว คือ แค่ใช้ will มานำหน้าเท่านั้นเอง  ขอยกมาให้ดูตรงนี้อีกทีเพื่อความสะดวก

  1. จะ + ทำ :          will do
  2. จะ + กำลังทำ:  will be + doing
  3. จะ + ทำแล้ว:    will have + done
  4. จะ + ทำมาอยู่:  will have been + doing

แค่ตัว will นำหน้าตัวเดียวก็ทำให้ประยุกต์เป็นมีความหมายแบบอนาคต ผมขอใช้ภาษาไทยแทนศัพท์อังกฤษ เพื่อใช้เรียกรูปประโยคเหล่านี้นะครับ อย่าเข้าใจผิดว่าผมชี้แนะว่าเป็นคำแปล  ไม่ใช่นะครับ ผมใข้เป็นสัญลักษณ์เพื่อเป็นตัวแทนที่ใกล้เคียงความหมายของมันเท่านั้นเอง อย่างที่อธิบายในบทที่แล้วว่า บางอย่างแปลแล้วฟังตลก  มันไม่ใช่ภาษาไทย ถ้าใครให้แปลเราก็แปลโดยใช้ความเข้าใจ แล้วก็แปลโดยใช้ภาษาไทยที่เหมาะสมประมาณเอา

ที่ยกมานี้ ก็เพื่อจะเข้าสู่เนื้อเรื่องของบทนี้ว่า นอกจาก will แล้ว ยังมีกริยาช่วยอีกหลายตัวที่สามารถใช้ในรูปแบบประโยคนี้ได้  ถ้าพร้อมแล้ว ทำใจให้เปิดกว้าง แล้วก็มาลุยกันเลย

 

เมื่อ Will เปลี่ยนเป็น Should

ขอยกตัวอย่างแรก ที่คิดว่าเข้าใจง่ายที่สุด คือ คำว่า should ซึ่งตรงกับภาษาไทยว่า “ควร”  เราสามารถประยุกต์สี่สหายนี้ ให้กลายเป็นความหมายว่า “ควร” โดยใช้ should แทนที่ will นั่นเอง คือ

  1. ควร + ทำ :          should do
  2. ควร + กำลังทำ:  should be + doing
  3. ควร + ทำแล้ว:    should have + done
  4. ควร + ทำมาอยู่:  should have been + doing

คราวนี้แทนที่จะมีความหมาย ว่า “จะ” ซึ่งเป็นการอธิบายอนาคต ก็กลายเป็นมีความหมายว่า “ควร” ซึ่งเป็นการชี้แนะ หรือการคาดคะเนก็ได้  งานนี้ความหมาย ค่อนข้างตรงกับความรู้สึกของคนไทย ดูตัวอย่างเช่น

  • You should do this.  คุณควรทำอย่างนี้  ความหมายเป็นปัจจุบัน หรืออนาคตก็ได้  เช่น You should do this now. หรือ You should do this tomorrow. ใช้ได้เลยเหมือนภาษาไทย เห็นไหมครับว่า ภาษาอังกฤษก็พอมีหมูเหมือนกัน
  • You should be doing this.  อันนี้เป็นปัจจุบันแบบเน้นการกระทำว่า ควรกำลังเกิดขึ้น ควรทำอยู่
  • You should have done this yesterday.  คุณควรจะทำอย่างนี้เมื่อวานนี้   อันนี้ก็เป็นแบบอดีต  ถ้าเราจะพูด You should do this yesterday.  ก็ไม่ถึงกับผิดนะครับ แต่ should have done เหมาะสมกว่า นิยมกว่า  เพราะเป็นอดีตที่ผ่านไปแล้ว เหตุการณ์มันเกิดไปแบบหนึ่งแล้ว แต่คนพูดอยากจะให้มันเป็นอีกแบบหนึ่ง
  • You should have been doing this.  คุณควรจะทำมาอย่างนี้มากกว่า   เช่นเดียวกัน คล้าย ๆ กับแบบ”ทำแล้ว” แต่เป็นสิ่งที่คนพูดแนะนำว่ามาควรทำอีกแบบ และก็ทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากการใช้ชี้แนะว่าใครควรทำอะไร อะไรควรเป็นอย่างไร ก็ยังใช้คาดคะเนได้ด้วย เช่น

  • This should happen now.  อันนี้มันน่าจะเกิดขึ้นตอนนี้   เช่นเดียวกันใช้กับอนาคตก็ได้ เช่น This should happen tomorrow.
  • This should be happening now.  เหมือนข้างต้น แต่เน้นมากกว่าว่า กำลังเกิดอยู่
  • This should have happened yesterday.   อันนี้มันน่าจะเกิดขึ้นไปแล้วเมื่อวาน
  • This should have been happening.  เช่นเดียวกัน หมายถึง น่าจะเกิดขึ้นแล้ว และดำเนินมาอยู่จนปัจจุบัน  ภาษาไทยก็เริ่มจะแปลให้กระทัดรัดไม่ค่อยออกแล้ว

เห็นไหมครับ ถ้าคุณเข้าใจประโยคพื้นฐานสี่สหายที่พูดมาในบทที่ 1 – 3  เรื่องนี้เรียกว่า หมูเลยทีเดียว และไม่มีอะไรที่ต้องจำ

 

กริยาช่วยเกี่ยวกับการชี้แนะ / คาดคะเน

นอกจาก should แล้ว ก็มีกริยาช่วยในทำนองเดียวกันนี้อีก ใช้ได้เหมือนกัน ต่างกันที่ความรู้สึกมั่นใจ หรือความแข็งของข้อความที่จะสื่อ

ถ้าสมมติเราจะพูดแนะนำ หรือสอนใครว่า “คุณควรทำอย่างนี้” จะพูดได้อย่างไรบ้างครับ นึกดูแล้วก็พูดได้หลายแบบ ของเรียงลำดับจากอย่างแข็งที่สุด ไปถึงอ่อนที่สุด ตามความรู้สึกนะครับ อย่าไปจำหนักแน่นไป

  • You must do it this way.  อันนี้ก็แปลว่า คุณต้องทำอย่างนี้  พูดแบบนี้แข็งที่สุดครับ บางทีก็มีความหมายเชิงสั่งคนฟังนิด ๆ    ถ้าไม่ใช่เรื่องฉุกเฉิน หรือสำคัญมาก ก็ไม่จำเป็นต้องพูดแบบนี้นะครับ  ให้ใช้แบบต่อไปนี้ดีกว่า
  • You need to do it this way.    ฟังดูอ่อนโยนกว่า must หน่อย   แต่ก็แปลเหมือนกันว่า ต้อง
  • You have to do it this way.   Have to ก็แปลว่า ต้อง เหมือนกัน  อ่อนลงอีกนิดหน่อย
  • You should do it this way.
  • You can do it this way.   can ก็ใช้เป็นการแนะนำแบบอ่อน ๆ ได้ ทำนองว่า คุณจะทำอย่างนี้ก็ได้
  • You could do it this way.  ความหมายอ่อนลงไปอีก  อ่อนไม่ได้หมายความว่าไม่ดีนะครับ แต่เป็นการพูดที่แสดงถึงความสุภาพ หรือความอ่อนโยนขอผู้พูดมากกว่า ทำนองว่า ฉันเคารพการเลือกของคุณนะ คุณจะทำแบบนั้นก็ได้ แต่ฉันขอแนะนำให้ทำแบบนี้
  • You might do it this way.  ก็เป็นเชิงแนะนำ หรือคาดคะเนว่า อาจจะทำได้ น่าจะทำได้
  • You may do it this way.   ความหมายเดียวกับ might นะครับ แต่ may สามารถใช้ในความหมายให้อนุญาติก็ได้ หรือ ทำได้ไม่ผิดกฎ ทำนองนั้น
  • I would do it this way.  อันนี้ก็แปลได้ว่า  ถ้าเป็นฉัน ฉันจะทำแบบนี้  ประโยคนี้ก็มาจากประโยคเต็มว่า If I were you, I would do it this way.  แต่ไม่จำเป็นต้องไปใส่ If I were you เข้าไป  เป็นที่รู้กัน  ถ้าใส่เข้าไป ต้องระวังนิดหน่อยว่า ถ้าไม่สนิทกัน บางทีอาจฟังดูเหมือนเราหยิ่งยะโสนิด ๆ ว่า วิธีของเราดีกว่าของเขา

กริยาช่วย must, may, might, could, would สามารถผันได้ทั้งสี่แบบ (ทำกำลังทำ, ทำแล้ว, ทำมาอยู่) เหมือนกับ should เลย  เรามักไปจำกันมาว่า would เป็นอดีตของ will และ could เป็นอดีตของ can จริง ๆ แล้วไม่ค่อยถูกนัก เพราะทั้ง would และ could สามารถใช้ในความหมายปัจจุบัน และอนาคตได้ เหมือนกับเราใช้ should ที่ถูกต้องควรจำว่า (หรือรู้สึกว่า) would คือ จิตนาการของ will  หรือ เป็น will แบบอ่อน ๆ  และ could คือ จิตนาการของ can หรือ เป็น can แบบอ่อน ๆ  เรื่องนี้ผมได้ยกตัวอย่างไปทีหนึ่งแล้วในบทที่ 2

ลองฝึกสังเกต ผึกทำความคุ้นเคย และฝึกใช้ดูนะครับ เช่น

  • It must have happened before in the past.  มันต้องเคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต
  • It could not have been happening.   เป็นไปไม่ได้ที่มันเกิดเป็นมาอย่างนี้
  • This might have been happening.  นี้อาจจะเกิดขึ้นมาอยู่ก็ได้
  • It would have been very nice if we had done that.  ถ้าเราได้ทำอันนั้นไปแล้ว ก็เยี่ยมเลยละสี (แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้ทำ)
  • That would be perfect.  อย่างนี้ก็พอดี เหมาะเจาะเลย  เวลาใครจะทำอะไรให้เรา เราสามารถตอบโดยใช้ would แบบนี้ได้นะครับ  That would be good.   That would be wonderful.  ต่าง ๆ นา ๆ

เนื่องจากความอ่อนของมัน คนก็เลยนิยมเอามาใช้เป็นการพูดขอร้องให้ใครทำอะไรให้ ฟังแล้วเพราะกว่าใช้ can หรือ will เช่น

  • Could you do this for me?  เพราะกว่า Can you do this for me?
  • Would you do this for me? เพราะกว่า Will you do this for me?
  • Would you mind doing this for me?  เพราะมาก ถามแบบเกรงใจว่า คุณจะรู้สึกรังเกียจไหมที่จะทำอันนี้ให้ฉัน

ส่วน can นั้น ผันได้เฉพาะ ทำ กับ กำลังทำ  คือ can do กับ can be doing

ส่วน have to กับ need to น้้น แถมให้เฉย ๆ ตอนนี้ (จริง ๆ ยังไม่ถึงคิว) เพราะความหมายคล้ายกับ must  ก็ผันได้ทั้งสี่แบบ คือ have to do, have to be doing, have to have done, have to have been doing  สองแบบหลังไม่ค่อยนิยมกันเท่าไร โดยทั่วไปมักใช้ must have done หรือ must have been doing มากกว่า

ผมว่าน่าจะพอสมควรแล้ว เป็นพื้นฐานพอให้คุณได้ไปหัดดู หัดใช้กันได้แล้ว แต่ถ้าใครยังไม่อิ่ม ผมเคยเขียนยกตัวอย่างการใช้คำกริยาเหล่านี้ไปพอสมควร (เนื้อหาอาจจะซ้ำบ้าง) ดูได้ที่นี่ครับ

» ไปบทถัดไป 5. รูปประโยคแบบถูกกระทำ (Passive Voice)    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 27 มกราคม 2017

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

1 × three =

Copyright © 2013-2025 betterenglishforthai.net