การขยายคำนามนั้นนอกจากคุณศัพท์แล้ว เราได้เห็นมาแล้วว่า คำหรือวลีที่เกิดจากกริยาก็มาขยายคำนามได้ ตอนนี้ลองมาสรุป และขยายความเพิ่มเติมว่าอะไรขยายนามได้บ้าง เช่น
- good car ขยายโดยคุณศัพท์
- running car ขยายโดย V+ing
- car driven by him ขยายโดยกริยาวลี จาก V3
- very good car, highly valued car ขยายโดยคำวิเศษณ์ (adverb) +คุณศัพท์ หรือ คิดได้ว่า very ขยาย good (ดีอย่างไร ดีมาก) highly ขยาย valued (มีค่าอย่างไร มีค่าอย่างสูง)
- his car, John’s car ขยายโดยคุณศัพท์แสดงความเป็นเจ้าของ
- box car, robot car ขยายโดยคำนาม ก็ยังได้
คำนามบางคำนั้นมีคำที่เป็นคุณศัพท์ที่มีรากศัพท์เดียวกัน เช่น robot เป็นนาม robotic เป็นคุณศัพท์ เราอาจจะใช้ robot car หรือ robotic car ก็ได้ แล้วแต่ความนิยม ความหมายคล้ายกันว่า รถหุ่นยนต์ แต่คำบางคำ คำนามกับคำคุณศัพท์ใช้แล้วมีความหมายไม่เหมือนกัน เช่น computer กับ computerized ก็ต้องใช้ให้ถูกต้องกับความหมาย เช่น computerized car รถคอมพิวเตอร์ หรือ รถควบคุมโดยคอมพิวเตอร์, แต่ใช้ computer program โปรแกรมคอมพิวเตอร์
การใช้คำนามเป็นคำขยายนามดื้อ ๆ นั้น เป็นเรื่องปกติ แต่ก็ต้องมีความหมายเป็นที่เข้าใจกัน บางคำก็เกิดเป็นความหมายพิเศษ แต่บางคำก็เป็นคำขยายปกติ
- box car หมายถึง รถตู้ที่ใช้พ่วงในขบวนรถไฟ ไม่ได้แปลว่า รถกล่อง
- window shopping หมายถึง เดินชอปปิงดูของ แต่ไม่ซื้อ ไม่ได้แปลว่า เดินซื้อหน้าต่าง
- garage door ประตูโรงรถ
- school principal ครูใหญ่
- fish tank ตู้ปลา
บางคู่ก็นิยมใช้กัน จนสามารถเขียนติดกันเป็นคำใหม่ไปเลยก็ได้ เช่น bookshelf ใครจะเขียนแยกเป็นสองคำ ก็คงไม่ถือว่าผิด
คราวนี้ที่น่าสนใจ คือ วลีที่ไม่ได้มาจาก V+ing หรือ V3 ก็ยังสามารถเอามาใช้ขยายนามได้ดื้อ ๆ ด้วย โดยการใช้เครื่องหมายขีดกลาง (hyphen) เชื่อมระหว่างคำในวลีนั้น ๆ เช่น
- a three-year-old boy เด็กอายุสามขวบคนหนึ่ง
- our go-to guy เป็นสำนวนแปลว่า นักแก้ปัญหาของเรา คือถ้ามีปัญหาอะไรคนอื่นทำไม่ได้ หรือมีความคับขัน ก็ไปหาคนนี้ เขาจัดการให้ได้ ก็เรียกเขาว่าเป็น go-to guy หรือ กลายเป็นคำ ๆ เดียว goto guy ก็ได้
- a dream-come-true experience ประสบการณ์ที่เหมือนฝันที่เป็นจริง (คำว่า dream come true ใช้รวมกันเป็นคำนามก็ได้ แปลว่า ฝันที่เป็นจริง)
- one-of-a-kind person คนที่ไม่เหมือนใคร (ในแง่ดี)
- state-of-the-art technology เทคโนโลยีชั้นสูง
สังเกตว่า ไวยกรณ์ที่มีการเติม s จากคำพหูพจน์ หรือประธานเอกพจน์ ตัว s จะหายไปจากการใช้แบบปกติ เช่น ต้องใช้ว่า three-year-old ไม่ใช่ three-years-old และใช้ว่า dream-come-true ไม่ใช่ dream-comes-true เป็นต้น
วลีทำเป็นคำขยายดื้อ ๆ พวกนี้ บางทีก็มาจากสำนวนที่คนชอบใช้กัน เช่น state of the art หรือ one of a kind แต่บางทีก็เป็นสำนวนที่แต่งขึ้นมาเองเฉพาะเรื่อง แล้วแต่จิตนาการ หรือศิลปของผู้ใช้ เช่น never-let-her-kid-do-anything mother แม่ที่ไม่ให้ลูกทำอะไรเลย ไม่มีกฎตายตัวอะไรนะครับ
นอกจากนี้ บางครั้งเราอาจจะเห็นว่า คนใช้กันโดยไม่ใส่เครื่องหมายขีดกลางด้วย อาจจะด้วยความขี้เกียจ หรือไม่สนใจ หรืออะไรก็แล้วแต่ ก็ไม่ถือว่าถูกไวยกรณ์นัก แต่คนก็ใช้กันจนบางสำนวนก็ไม่ถือว่าผิด เราก็ควรเข้าใจที่มาที่ไปไว้ จะได้ไม่สับสน
หมายเหตุ กริยาเทียบเท่า Verb to be เคยอยู่บทนี้ ได้ถูกย้ายไปบทถัดไปแล้ว
» ไปบทถัดไป 16. กริยาเทียบเท่า Verb to be » กลับไปที่ สารบัญ