13. รูปประโยคสมมติ หรือจินตนาการ

ผมได้พูดถึง would ไปในบทที่ 4 ว่า สามารถคิดได้ว่าเป็นจิตนาการของ will  บทนี้เรามาขยายความกันต่อว่า รูปประโยคอดีตกาล สามารถเอามาอธิบายจิตนาการ หรือเรื่องสมมติที่ตรงข้ามกับความเป็นจริงได้ รูปประโยคแบบนี้ในภาษาอังกฤษเรียกว่า Subjunctive mood  อันนี้ก็เป็นเรื่องที่น่าสับสนสำหรับคนไทย เพราะเราไม่มีไวยกรณ์เฉพาะเจาะจงแบบนี้ในภาษาไทย

การสมมติที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง

เราเห็น if มาแล้วในบทก่อน ซึ่งใช้เป็นคำสันธานเชื่อมประโยคย่อยสองประโยคเข้าด้วยกัน เช่น

  • If you come, I will go.   ถ้าคุณมา ฉันก็จะไป
  • If you drop this, it will break.   ถ้าคุณทำอันนี้ตก มันจะแตก

สังเกตว่า เราใช้รูปกาลเวลาแบบปัจจุบัน กับอนาคต ในการอธิบายเหตุการณ์ที่เป็นเงื่อนไขกัน  เป็นการอธิบายเงื่อนไขแบบปกติในปัจจุบันกาล คือเป็นสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ที่นี้เมื่อเราเอา if มาอธิบายเงื่อนไขที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง เช่น บอกว่า ถ้าฉันเป็นคุณ  หรือ อาจเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ แต่ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงที่เป็นอยู่ เช่นบอกว่า ถ้าฉันมีเงินร้อยล้าน ฯลฯ   ภาษาไทยเราก็ใช้คำว่า “ถ้า” ตามปกติ  แต่ในภาษาอังกฤษนั้น ควรใช้เป็นรูปประโยคอดีตกาล (แต่ไม่ได้มีความหมายเป็นอดีต เป็นความหมายแบบสมมติ) ดูตัวอย่างเช่น

  • If I were you, I would not let him go.   ถ้าฉันเป็นคุณ ฉันไม่ปล่อยให้เขาไปหรอก
  • If I had ten million baht, I would buy that car.  ถ้าฉันมีเงินสิบล้าน ฉันจะซื้อรถคันนั้น
  • What would happen if the earth was flat?   อะไรจะเกิดขึ้น ถ้าโลกแบน

ในประโยคข้างต้นเขานิยม if I were ในการสมมติที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง แทนที่จะใช้ I was เหมือนประโยคอดีตกาลปกติ  นิยมใช้กับประธานที่เป็นคน แต่อย่าไปจำว่าต้องใช้ were เสมอไปถ้ามี if เพราะ บางทีก็ไม่จำเป็น เช่น

  • If he were alive today, he would be very proud of you.  ถ้าเขายังมีชีวิตอยู่ เขาจะภูมิใจในตัวคุณมาก  (ใช้ were เพราะเป็นเรื่องสมมติ 100%)
  • If he was here, he would not let this happen.   ถ้าเขาอยู่ที่นี่ เขาจะไม่ยอมให้อันนี้เกิดขึ้นหรอก  (ใช้ was เพราะ ไม่ถึงกับเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้)

ขอสรุปตรงนี้อีกทีว่า 1) ประโยคข้างต้นเป็นรูปเหมือนอดีต แต่ไม่ได้เป็นอดีต เป็นปัจจุบันแบบสมมติ  2) การสมมตินั้น เป็นเรื่องที่ขัดกับความเป็นจริงในปัจจุบัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เสมอไป  บางทีนั้นก็แล้วแต่ผู้พูด ว่าจะรู้สึกเหมือนว่า เป็นการสมมติแบบไหน ก็ใช้ได้ทั้งแบบเงือนไขปกติ (present tense) หรือ แบบสมมติ (past tense) ก็ได้

การพูดแบบสมมตินั้น บางครั้งก็เอามาใช้ในภาษาพูด เป็นการขอร้องแสดงความสุภาพ อ่อนโยนได้ เช่น

  • If you could come, that would be wonderful.    ถ้าคุณมาได้ก็เยี่ยมไปเลย  ความหมายก็เหมือนกับ If you can come, that will be wonderful.  แต่ฟังสุภาพอ่อนโยนกว่า  ทำนองว่าผู้พูดเกรงใจ

การสมมติโดยใช้ were to

การสมมติที่ตรงข้ามกับความเป็นจริง นอกจากใช้รูปประโยคอดีตกาลแล้ว ยังนิยมใช้ were to ได้ด้วย เป็นการเน้นถึงความเป็นไปไม่ได้ของมันในความรู้สึกของผู้พูด  คราวนี้ไม่ว่าประธานจะเป็นอะไร ก็ใช้ were to เหมือนกันหมด ไม่มี was to  เช่น

  • If I were to have ten million baht, I would buy that car.  ถ้าฉันมีเงินสิบล้าน ฉันจะซื้อรถคันนั้น
  • If money were to fall from the sky, who would be working?  ถ้าเงินมันตกลงมาจากฟ้า แล้วใครจะทำงาน
  • If this were to happen, it would be horrible.   ถ้าสิ่งนี้เกิดขี้น มันจะน่ากลัวมาก ๆ หรือ แย่มาก ๆ

นอกจากนี้ were to ยังสามารถใช้เป็นการสมมติถึงอนาคตได้ด้วย จะใช้รูปประโยค แบบปัจจุบัน หรือแบบปัจจุบันไม่เป็นจริงข้างต้นก็ได้ หรือจะใช้แบบอนาคตแบบสมมติก็ได้ โดยให้ใช้ were to  เช่น 

  • If you were to come tomorrow, I would treat you with a wonderful dinner.  ถ้าคุณมาพรุ่งนี้ ฉันจะเลี้ยงข้าวเย็นที่แสนอร่อย    ในที่นี้จะใช้ if you come ก็ได้  แต่ were to เน้นอนาคตมากกว่า
  • If the earth were to explode, what would be the planet we can escape to?  ถ้าโลกเกิดแตกขึ้นมา จะมีดาวดวงไหนที่เราจะหนีไปอยู่ที่ได้

 

การสมมติที่ตรงข้ามกับเหตุการณ์ที่เกิดไปแล้ว

ถ้าต้องการสมมติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว  ก็ให้ใช้เป็นรูปประโยคอดีตแบบสมบูรณ์ หรือ Past Perfect และ could/would/should + have been ซึ่งได้เคยอธิบายไปแล้วในบทที่ 4  เช่น

  • If I had known this yesterday, I would have come with you.  ถ้าเมื่อวานได้รู้อย่างนี้ ฉันก็ได้มากับเธอแล้ว
  • The outcome could have been better if we had practiced more.  ผลลัพธ์น่าจะออกมาดีกว่านี้ ถ้าเราได้ฝึกฝนมากกว่านี้
  • If he had gone to school, he would have had a better job.   ถ้าเขาได้ไปโรงเรียนเมื่อก่อนนี้ละก็ ป่านนี้เขาจะมีงานทำที่ดีกว่านี้

ไม่จำเป็นต้องมี if

บางทีการสมมติก็เป็นไปแบบปริยาย หรือ เข้าใจโดยสถานการณ์โดยไม่จำเป็นต้องใช้ if ก็ได้ เช่น

  • I would do it differently.   (ถ้าฉันเป็นเธอ) ฉันไม่ทำแบบนี้หรอก
  • Things could have been better.   (ถ้าโชคดีกว่านี้)  เหตุการณ์น่าจะเป็นไปได้ดีกว่านี้ได้

 

ใช้ในรูปประโยค I wish

I wish ก็เป็นการปรารถนาในสิ่งที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง อาจเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปได้ยากก็ได้ ก็ใช้ในหลักการเดียวกันกับข้างต้น คือ ใช้รูปประโยคอดึตมาอธิบาย เช่น

  • I wish I had a car.   แหม ฉันอยากจะมีรถสักคัน
  • I wish you were here.   แหม ฉันอยากให้เธออยู่ที่นี่ด้วยจัง
  • I wish we had finished the work already.  ฉันอยากให้งานมันเสร็จไปแล้วจังเลย  (ใช้ past perfect เพื่ออธิบายสิ่งที่ผ่านไปแล้ว)
  • I wish I would go to the Olympics one day.   ฉันอยากจะไป(แข่งขัน)ในโอลิมปิกสักวันหนึ่ง  (อันนี้เป็นการ wish เรื่องในอนาคต ซึ่งก็เป็นการปรารถนาในสิ่งที่ยังเป็นไปได้)  ความหมายเดียวกับ I dream of going to the Olympics one day.

I wish ก็ใช้เป็นการอวยพรได้ แต่นิยมใช้ตามด้วยนาม เป็น I wish you something.  หรือ I wish someone something.  ไม่นิยมใช้เป็นประโยค I wish you would …   เช่น

  • I wish you a Happy New Year.

» ไปบทถัดไป 15. ไม่ใช่คุณศัพท์แต่ทำตัวเป็นคุณศัพท์    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 19 กรกฎาคม 2017

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

16 − three =

Copyright © 2013-2025 betterenglishforthai.net