12. ประโยคย่อยที่เชื่อมต่อกัน

บทที่แล้วเราดูประโยคย่อยที่ใช้สรรพนามเชื่อม พวก that, what, who, where, ฯลฯ  ในบทนี้ ก็มาดูประโยคย่อยที่เชื่อมด้วยคำสันธาน หรือ conjunction ดูบ้าง ซึ่งสามารถเชื่อมสองประโยคที่ค่อนข้างสมบูรณ์เข้าด้วยกัน ไม่ต้องใช้สรรพนามเข้ามาช่วย

 

ประโยคย่อยที่ขยายการกระทำ

ประโยคย่อยที่ขยายการกระทำของประโยคหลัก  หรือใช้เหมือนเป็น adverb ที่ใช้อธิบายว่า ทำเมื่อไร ทำอย่างไร และทำทำไม  ลองเทียบประโยคสองประโยคนี้ดู ตัวอย่างเช่น

  • I like to stay home on Sundays.   ฉันชอบอยู่บ้านวันอาทิตย์
  • I like to stay home when it is raining.  ฉันชอบอยู่บ้านเวลาฝนตก  it is raining ในที่นี้ ก็เป็นประโยคสมบูรณ์ในตัวเอง และก็มีคำเชื่อม when เพื่อเอามาขยายประโยคหลัก

การใช้ประโยคขยายการกระทำนั้น สามารถย่อได้ โดยเฉพาะเมื่อประธานของทั้งสองประโยคเป็นตัวเดียวกัน เช่น

  • I like to stay home when I feel sick.  ฉันชอบอยู่บ้านเวลารู้สึกไม่สบาย
  • I like to stay home when feeling sick.   แปลเหมือนกันนะครับ แต่ใช้ย่อ ในที่นี้ feeling sick เป็นแค่วลี  ก็เหมือนกับ when ทำหน้าที่คล้ายคำบุพบทไป

เราจะวางประโยคที่ขยายไว้ข้างหน้าก็ได้ ถ้าต้องการเน้น โดยมากก็ใช้ คอมม่าเป็นตัวกั้น เช่น

  • When feeling sick, I like to stay home.
  • When it is raining, I like to stay home.

คำสันธานที่ใช้อธิบายว่า ทำเมื่อไร ก็มีอีกมากมายนะครับ เช่น  after, before, while (ในขณะที่), once (ทันทีที่), as soon as, until, till, when, since, because, และอื่น ๆ  มีวิธีใช้เหมือนกับ when ข้างต้น ลองดูตัวอย่างในประโยคเช่น

  • Let’s go as soon as he comes.   เดี๋ยวไปเลยนะตอนเขามาถึง  (Let’s คือ Let us)
  • After graduating from college, he joined the army.  หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยเขาก็เข้าเป็นทหาร   ในที่นี้ก็เหมือน After he graduated from college
  • He has been doing that since the company was founded.   เขาทำอันนี้มาตั้งแต่บริษัทได้ก่อตั้งมา
  • He could not find a job after the company went bankrupt.   เขาหางานทำไม่ได้หลังจากบริษัทล้มละลายไป
  • They kept postponing this until it is too late.    พวกเขาคอยเลื่อนเรื่องนี้อยู่เรื่อยจนกระทั่งสายไปแล้ว

นอกจากใช้ขยายอธิบายว่าทำเมื่อไรแล้ว  คำสันธานบางตัวก็ใช้ขยายเพื่ออธิบายว่าเงื่อนไข หรือเหตุผล วิธีใช้ก็เหมือนกัน เช่น

  • I will go if you come.   ฉันจะไปถ้าคุณมา  เช่นเดียวกัน เอาขึ้นหน้าก็ใช้คอมม่า If you come, I will go.
  • I cannot do this because I am sick..  ฉันทำไม่ได้เพราะฉันป่วย
  • Since it is raining, let’s not go out.   ฝนกำลังตกอยู่ อย่าออกไปข้างนอกเลย  Since ในที่นี้ ความหมายคล้าย because

 

ประโยคย่อยที่ใจความเท่าเทียมกัน

ประโยคย่อยที่มีใจความเท่าเทียมกัน ก็มาเชื่อมกันได้โดยคำสันธาน (conjunction) เช่น and, but, so, though, although, และ อื่น ๆ ประโยคที่มารวมกันแบบนี้  (Compound Sentences) ก็ไม่เรียกว่า มีประโยคหลัก หรือประโยคประกอบ เพราะใจความค่อนข้างเท่าเทียมกัน เช่น

  • He likes red and I like blue.   เขาชอบสีแดงและฉันชอบสีน้ำเงิน
  • He likes red while I like blue.   while ในที่นี้ความหมายคล้าย and
  • He likes red but I don’t.   เขาชอบสีแดงแต่ฉันไม่ชอบ
  • My car is broken so I cannot come.   รถฉันเสียฉันจึงมาไม่ได้
  • Although his car had a problem, he still won the race.   ถึงแม้ว่ารถเขาจะมีปัญหา แต่เขาก็ยังแข่งชนะ

เราก็ใส่คอมม่าคั้นก่อนคำเชื่อมได้นะครับ เพื่อเน้นแยกใจความออกจากกันหน่อย  ในประโยคตัวอย่างข้างต้นจะใส่หรือไม่ใส่ก็ได้ เช่น He likes red, and I like blue.  สำหรับประโยคที่ยาว หรือมีหลายประเด็น การใส่คอมม่า ก็จะมีความจำเป็นมากขึ้น เช่น

  • My first car was old and did not run very well, but I loved it.  รถคันแรกของฉันเก่าและก็วิ่งไม่ค่อยดีนัก แต่ฉันก็รักมัน    ประโยคนี้มีสามประโยคย่อยเชื่อมกันอยู่  สองประโยคแรกใช้ประธานร่วมกัน คือ my first car  ส่วนประโยคหลักสมควรใช้คอมม่านำอย่างยิ่ง ในภาษาไทยเรายังมักเว้นวรรคเลย

ถ้ามันชักยาวมาก ๆ หรือเราต้องการเน้นประโยคหลัง จะแยกออกมาเป็นอีกหนึ่งประโยคก็ยังได้ ในที่นี้ก็เป็น My first car was old and did not run very well.  But I loved it.  การขึ้นต้นประโยคด้วยคำสันธานนี้ บางคนก็ว่าไม่ถูก แต่หลายคนก็ใช้กัน บางครั้งเป็นการเพิ่มสีสันของใจความได้  แต่ก็ควรระวัง ไม่ควรใช้พร่ำเพรื่อเกินไป

 

คำวิเศษณ์ และวลีที่ใช้เชื่อมประโยค

นอกจากคำสันธานแล้ว ก็มีคำวิเศษณ์ adverb และวลีหลายวลีที่นิยมใช้เป็นตัวเชื่อมประโยค วิธีใช้ก็ค่อนข้างหลากหลาย อาจเชื่อมประโยคย่อยก็ได้ หรือขึ้นประโยคใหม่ก็ได้  บางตัววางไว้ข้างหลังประโยคก็ได้  ลองดูตัวอย่างคำเชื่อมที่ให้ความหมายแย้งคล้ายกับคำว่า but ได้แก่ however, nonetheless, nevertheless เป็นต้น

  • His car has a problem, however he still won the race.   รถเขาจะมีปัญหา แต่อย่างไรก็ตามเขาก็ยังแข่งชนะ
  • His car has a problem.  However, he still won the race.   ขึ้นประโยคใหม่ก็ได้
  • His car has a problem; however, he still won the race.   คั่นประโยคด้วยเซมิโคลอน (;) ก็ได้
  • His car has a problem.  He still won the race however.  ใส่ข้างหลังประโยคก็ได้

โดยทั่วไปนั้น เซมิโคลอนสามารถเชื่อมประโยคได้โดยไม่ต้องมีคำเชื่อมก็ได้  ประโยคข้างต้นจะใช้ nonetheless หรือ nevertheless หรือ though แทน however ก็ได้ ความหมายใกล้เคียงกัน

ลองดูตัวอย่างของคำในความหมายอื่นบ้าง เช่น

  • He won the race; moreover, he beat his previous record. เขาชนะการแข่งขัน ยิ่งไปกว่านั้นเขายังทำลายสถิติตัวเองด้วย
  • He won the race.  In addition to that, he beat his previous record.
  • He helped us in many ways, in fact, we could not have won without him.  เขาช่วยเราหลาย ๆ ด้าน ว่าไปแล้วถ้าไม่มีเขาเราคงไม่ชนะหรอก

ลองศึกษาคำอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่นี่

» ไปบทถัดไป 13. รูปประโยคสมมติ หรือจินตนาการ    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 24 มกราคม 2017

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

20 + three =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net