1. รูปประโยคปัจจุบันกาล

ภาษาอังกฤษมีการใช้โครงสร้างของไวยกรณ์ เพื่อบอกกาลเวลา หรือที่เรียกว่า Tense มีมากถึง 12 แบบ ทำเอาคนงง บางคนบอกว่ารูปประโยคแบบนั้นแบบนี้ไม่มีที่ใช้ ที่ไม่มีก็เพราะเราไปพยายามแปลตรง ๆ น่ะสิครับ บางแบบแปลมาแล้วมันก็ฟังแปลก ๆ ในภาษาไทยใครเขาจะพูดกันแบบนั้น ผมก็จะลองเล่าอีกแนวหนึ่ง คือแนวที่มองจากสถานการณ์ที่จะเอาไปใช้ได้ ซึ่งก็หวังว่า คุณจะเกิด”สัมผัส” ในภาษา ไม่ใช่แค่รู้จักรูปประโยค หรือแปลความหมายออก

ภาษาไทยเรานั้น มีโครงสร้างไวยกรณ์ของกาลเวลาที่ไม่ค่อยเป็นกฏเกณฑ์ชัดเจน บ่อยครั้งเราใช้คำขยาย หรือสถานการณ์ประกอบในการทำให้เข้าใจว่าคนพูดหรือเขียน กำลังพูดถึงเวลาอะไร  เช่น เราจะพูดว่า คุณทำอะไรอยู่ หรือคุณกำลังทำอะไรอยู่ ก็มีความหมายเหมือนกัน  เราอาจพูดว่า ปีหน้าหนูอายุเท่าไร ก็รู้กันว่าเป็นการพูดถึงอนาคตไม่จำเป็นต้องพูดว่า ปีหน้าหนูจะมีอายุเท่าไร ภาษาอังกฤษนั้นมีส่วนที่หลวม ๆ อย่างนี้เหมือนกัน คือ บางทีใช้คำประกอบ หรือสถานการณ์ประกอบเพื่อให้เข้าใจ แต่เพิ่มเติมจากนั้น เขาก็มีรูปแบบไวยกรณ์ที่สามารถสื่อถึงเวลาได้โดยตรง อย่างละเอียดถึง 12 แบบ นี่คือสิ่งที่เราไม่มีครับ แต่จริง ๆ แล้ว ไม่ใช่สิ่งที่ยากเกินกว่าที่เราจะทำความเข้าใจได้  บทนี้มาดูอันที่ง่ายก่อน คือ การพูดถึงกาลเวลาปัจจุบัน

 

แนะนำตัวละคร

  1. Present Simple Tense         :  verb ปกติ
  2. Present Continuous Tense :  is/am/are + V1 + ing
  3. Present Perfect Tense         :  has/have + V3
  4. Present Perfect Continuous : has/have + been + V1 + ing

 

ปัจจุบันแบบทั่ว ๆ ไป

อันนี้ก็เหมือนภาษาไทย พูดถึงเหตุการณ์ปัจจุบันทั่ว ๆ ไป เราใช้ Present Simple เช่น

  • บอกลักษณะ หรือสถานภาพปัจจุบัน เช่น  ทำงานที่ไหน  ทำงานอะไร  ชื่ออะไร อะไรเป็นลักษณะอย่างไร  ฯลฯ
    • I work at Silom.
    • My name is Somchai.
    • He is a good man.
    • He walks very fast.   เขาเดินเร็ว (บอกว่าเป็นคนเดินเร็ว)
    • การบอกสถานภาพ หรือลักษณะ บางทีก็มีคำช่วยขยายที่ว่าปกติ ไม่ปกติ บ่อยไม่บ่อย เช่น
      • Usually he walks very fast.  ปกติเป็นคนเดินเร็ว (วันนี้อาจจะเกิดเดินช้าขึ้นมา)
      • He often misses the class. เขาขาดเรียนประจำ

มีคำอื่น ๆ อีกเยอะนะครับ ลองแทน often ในประโยคข้างต้นด้วยคำเหล่านี้ดู never ไม่เคย,   hardly แทบไม่เคย, always เสมอ, generally โดยทั่วไป, ฯลฯ

  • การออกคำสั่ง โดยลดรูปประธานออก เหมือนในภาษาไทย เช่น
    • Come here.  มานี่
    • Don’t do that.   อย่าทำอย่างนั้น

 

บอกเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น

อันนี้เริ่มมีการคาบเกี่ยว คล้าย ๆ ภาษาไทย จะใช้ Present Simple หรือ Present Continuous ก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเน้นถึงการกระทำที่กำลังเกิดขึ้นหรือไม่  เช่น

  • He walks very fast.  ถ้าเราไม่ได้เดินกันอยู่ อันนี้ก็เป็นการบอกลักษณะว่าเขาเป็นคนเดินเร็ว  ถ้าเรากำลังเดินกับเขาอยู่ ก็เป็นการบอกอาการว่า เขาเดินเร็วนะ (เราเดินตามไม่ค่อยทัน)  ทีนี้ถ้าเราจะเน้นถึงอาการเดินของเขา หรือเน้นว่าตอนนี้เลยเขากำลังเดินเร็ว ก็ใช้ He is walking very fast.
  • He is starting to walk very fast.   เริ่มใส่ลูกเล่นหน่อยนะครับ อันนี้คือเขาเดินธรรมดามาตลอด แล้วอยู่ดี ๆ เดินเร็วขึ้น เราจะพูดเน้นว่า เรากำลังเปลี่ยนจากช้ามาเป็นเดินเร็ว ก็ใช้ is starting เป็น Present Continuous ได้  ถ้าจะใช้แบบไม่เน้นก็ได้ คือ He start to walk very fast.
  • It is raining.  ฝนกำลังตกอยู่   It is starting to rain.  ฝนกำลังเริ่มจะตก

เพราะฉะนั้น เรื่องนี้บางทีไม่มีผิดมีถูกแบบขาวกับดำ ขึ้นกับความรู้สึกของผู้พูดกับผู้ฟัง  (หรือผู้เขียนกับผู้อ่าน) ผิดถูกจะมีขึ้นถ้า ถ้าพูดในสถานการณ์บางอย่าง แล้วไม่เน้นให้ชัดเจน คนฟังก็อาจจะงงว่าหมายถึงอะไร ก็คือใช้ไม่ค่อยเหมาะสม เช่น ถ้าจะถามว่า คุณทำอะไรอยู่ ก็ควรใช้ว่า What are you doing?  ไม่ควรใช้ว่า What do you do? ถ้าเราใช้ตอนคนฟังหมกมุ่นทำอะไรอยู่ ก็พออนุโลมว่าไม่กำกวม  แต่ถ้าเขาไม่ได้ทำอะไรอยู่  ก็จะกำกวมว่า ถามถึง ช่วงนี้เขาทำอะไรอยู่ (เหมาะกับ What are you doing?)  หรือ เขาทำหน้าที่อะไร หรือทำงานอะไร (เหมาะกับ What do you do?)

เหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่จำเป็นต้องตอนนั้นเดี๋ยวนั้นเสมอไป อาจจะเป็นช่วงเวลานั้นก็ใช้กันได้ อันนี้ก็ตรงกับที่คนไทยใช้กันอยู่แล้ว ไม่น่าสับสนอะไร เช่น

  • The company is making a good profit.  บริษัทกำลังทำกำไรดี
  • We are having a conference this week.  เรากำลังมีประชุมสัมนาอยู่ในสับดาห์นี้

แม้กระทั่งเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น ใกล้จะถึงแต่ยังมาไม่ถึง แต่ความรู้สึกของผู้พูดเหมือนกำลังจะเกิดขึ้นเดี๋ยวนั้น ก็ยังใช้ได้ Present Continuous ได้ การใช้แบบนี้ก็คาบเกี่ยวกับประโยคแบบอนาคตกาลที่จะกล่าวถึงในบทที่ 3  เช่น

  • We are having a party this weekend.  เราจะมีงานเลี้ยงในสุดสัปดาห์นี้  (วันนี้อาจจะวันศุกร์แล้ว)
  • We are going to Kao Yai this school break. เราจะไปเที่ยวเขาใหญ่ในช่วงหยุดเรียนที่จะถึงนี้

ดังนั้น Present Simple กับ Present Continuous นั้นมีการใช้คาบเกี่ยวกัน ขึ้นกับความรู้สึกของผู้พูด (หรือเขียน) ถ้าใช้ Present Continuous ก็เป็นการใช้รูปประโยคชี้ชัดว่า สิ่งนั้นกำลังเกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีสถานการณ์ หรือคำประกอบอะไร  แต่ Present Simple นั้นเป็นการพูดแบบทั่ว ๆ ไป  โดยไม่เน้น  นอกจากรูปประโยคแล้ว เราก็สามารถใช้คำขยายที่บอกเวลา เพื่อเน้นว่าเหตุการณ์นั้นกำลังเกิดขี้นได้ จะใช้คู่กับประโยคแบบ Present Continuous หรือ Present Simple ก็ได้ ได้แก่  now, right now, today, these days (หมู่นี้) เป็นต้น

หมายเหตุสำหรับน้อง ๆ ที่เป็นนักเรียนที่ต้องเอาไปสอบ ก็ต้องดูตามกาละเทศะนะครับ ผมสอนตามประสบการณ์จริง แต่ข้อสอบบางที ถ้าคุณเห็นคำว่า now เขาอาจต้องการให้ตอบว่าใช้ Present Continuous เท่านั้น ถ้าไปตอบว่าใช้ได้สองแบบอาจจะผิด ถ้าผมเป็นคนตรวจ ผมให้ถูกทั้งคนที่ตอบว่า Present Continuous หรือ ใช้ได้สองแบบ

มีความเข้าใจผิดจากผู้สอนบางคนว่า กริยาบางอย่างใช้กับ Present Continuous ไม่ได้ เรื่องนี้ผมได้เคยเขียนเป็นบทความไปแล้ว ลองอ่านที่นี่นะครับ

 

บอกเหตุการณ์ที่เพิ่งเสร็จสิ้นไป

อันนี้ตรงกับคำในภาษาไทยที่ว่า “แล้ว” นะครับ เช่น ทำเสร็จแล้ว  กินข้าวแล้ว ไปมาแล้ว ฯลฯ  ให้ใช้รูปประโยค Present Perfect ตัวอย่างเช่น

  • I have done that before.   ฉันเคยทำมาแล้ว
  • I have just finished that.   ฉันเพิ่งทำเสร็จ
  • I have done that already.  ฉันทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว   already เป็นการเน้นครับ รูปประโยคบอกอยู่แล้วว่าทำแล้ว  แต่บางทีเราต้องการเน้น  เช่นคนถามเราว่าทำหรือยัง  หรือคิดว่าเรายังไม่ทำ
  • I have been to Chiang Mai.  ฉันเคยไปเชียงใหม่แล้ว

ตรงข้ามกับทำแล้ว ก็คือ ยังไม่ทำ ก็เป็นแบบปฎิเสธของความหมายนี้ เช่น

  • I have not done that.   ฉันยังไม่ทำอันนั้น
  • I have not done that yet.   ฉันยังไม่ทำอันนั้น   yet เป็นการเน้นว่า จะทำแต่ยังไม่มีโอกาสได้ทำ

กริยา to have ในที่นี้นะครับ เป็นกริยาช่วย บางครั้งถึงแม้ใช้แบบโดด ๆ ก็ยังมีความหมายเป็นกริยาช่วยของรูปประโยคแบบ Present Perfect  นี้ ไม่ได้มีความหมายว่า “มี”  เหมือนเวลาที่ have เป็นกริยาจริง  ลองดูตัวอย่างการสนทนาของสองคนนี้นะครับ

  • A:  I want you to do this for me.    ฉันอยากให้เธอทำอันนี้ให้หน่อย
  • B:  I have.   หมายถึง ฉันทำแล้ว  หรือจะเน้นหน่อยก็ได้ว่า I have already.

เช่น เดียวกันนะครับ ย้อยนิดหน่อย to be ในประโยคแบบกำลังทำ ก็เป็นกริยาช่วย ไม่ได้มีความหมายว่า เป็น อยู่ คือ เหมือนเวลาเป็นกริยาแท้  เช่น ประโยคข้างต้นถ้า B ตอบว่า  I am.  ก็หมายความว่า ฉันกำลังทำอยู่

ลองดู have ที่เป็นกริยาแท้ มาใช้กับรูปประโยค Present Perfect หน่อย เผื่อจะได้ชิน

  • We have had a wonderful time.   อันนี้ ใครไปพยายามแปลเป็นไทยก็ตกหลุมนะครับ  ประโยคนี้ตัวอย่างเช่น เราไปของานเลี้ยง เรากำลังจะกลับ ก็บอกเจ้าของงานว่า ขอบคุณมากนะ งานคืนนี้สนุกมากเลย  ก็ใช้ Thank you, we have had a wonderful time tonight.  เหมาะสมกับการใช้ Persent Perfect มาก เพราะเพิ่งเสร็จสิ้นไป  ไปใช้แบบอดีต หรือ แบบ Present Simple หรือ Continuousก็ไม่ดีเท่า

บางคนอาจถามว่า เป็นเรื่องในอดีต เกิดไปแล้ว ทำไมไม่ใช้รูปประโยคอดีตกาล Past Simple Tense  ตอบได้ว่า จะใช้ก็ได้นะครับไม่ได้ผิด  ความแตกต่างอยู่ที่ความรู้สึกอีกนั้นแหละว่า รูปประโยค Present Perfect  ให้ความรู้สึกถึง ความคุกรุ่นของสิ่งที่ได้เสร็จสิ้นไป เหมือนกินข้าวเสร็จ แต่รสอาหารยังหอมหวลอยู่ในปาก  หรือไปงานเลี้ยงเลิกแล้วแต่ยังสนุกอยู่ ไม่จำเป็นจะต้องเสร็จหมาด ๆ เสมอไป เสร็จนานแล้วก็ได้ แต่อยู่ที่ความรู้สึกของผู้พูดว่ายังผูกพันกับมันอยู่ในปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น

  • We have done this several times.  เราได้ทำอันนี้มาหลายครั้งแล้ว  ใช้ Present Perfect เพราะความรู้สึกเหมือน สิ่งที่ทำนี้ อาจจะยังมีให้ทำอยู่ หรือยังทำได้อยู่ ในปัจจุบัน
  • We did this several times.  เราเคยทำอันนี้หลายครั้งแล้ว  ใช้ Past Simple เพราะ ความรู้สึกเหมือน สิ่งที่ทำนี้ จบไปแล้ว ปัจจุบันนนี้ไม่มีทำแล้ว

บางคนก็ใช้ Past Simple แล้วใส่คำขยายลงไป ทำให้ความรู้สึกคล้าย ๆ กันเป็น Present Perfect  เช่น I just did that.  หรือ I did that already.    (just เน้นว่าเพิ่งทำเสร็จ  already เน้นว่าเสร็จแล้ว) ถามผิดไหม  ไม่ผิดนะครับ เจ้าของภาษาโดยเฉพาะคนอเมริกันก็ใช้กันทั่วไป แต่ก็อย่างว่า ถ้าคุณไปถามคนเคร่งภาษา หรือไปทำข้อสอบ เขาอาจจะบอกผิด นักเรียนทั้งหลายขอให้หมายเหตุไว้หน่อย

 

บอกเหตุการณ์ที่ทำในอดีตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

อันนี้ตรงกับคำในภาษาไทยที่ว่า “ทำมา” นะครับ เช่น จะบอกว่า อยู่ที่นี่มาสามปีแล้ว  ก็หมายถึงตอนนี้ก็ยังอยู่ที่นี่ ไม่ได้เจาะจะว่าจะอยู่ต่อ หรือไม่อยู่ต่อในอนาคต แล้วแต่สถานการณ์นะครับ การใช้แบบนี้ จะใช้ Present Perfect หรือ Present Perfect Continuous ก็ได้  ต่างกันที่ว่า Present Perfect Continuous ให้ความรู้สึกเน้นถึงการกระทำที่ได้ทำมา และเน้นถึงความต่อเนื่องมาถึงปัจจุบันมากกว่า ตัวอย่างเช่น

  • I have been here for three years.  ฉันอยู่นี่มาสามปีแล้ว  verb to be แปลงเป็น Persent Perfect Continuous ไม่เพราะนะครับ have been being ผมไม่เคยเห็นใครใช้กัน
  • I have lived here for three years.   ฉัน (อาศัย) อยู่ที่นี่มาสามปีแล้ว
  • I have been living here for three years.    เหมือนกับประโยคที่แล้วนะครับ แต่เน้นอาการ”อยู่มา”
  • I have been living here since 1999. ฉันอยู่ที่นี่มาตั้งแต่ปี 1999
  • We have waited for three hours.    เรารอมาสามชั่วโมงแล้ว
  • We have been waiting for three hours.   เช่นเดียวกัน เน้นอาการ “รอมา”   ถ้าเราจะโวยวายว่ารอมานานแล้ว เสียเวลาไม่ได้ทำอะไรเลย  ใส่เน้นด้วย Present Perfect Continuous หน่อยก็มันดีนะครับ

อย่างที่ว่านะครับ ใช้แบบไหนก็ได้แล้วแต่ความรู้สึก  หรือ ความนิยมส่วนตัว ลักษณะการคาบเกี่ยวของ Present Perfect กับ Present Perfect Continuous  ก็คล้ายกับการคาบเกี่ยวของ Present Simple กับ Present Continuous ดังที่ได้อธิบายมานะครับ

 

ใช้รูปกริยาให้ให้สอดคล้องกับประธาน

กลุ่มประโยคแบบปัจจุบันกาลนี่ มีความแสบของกฏไวยกรณ์หน่อย เป็นส่วนที่ผมเรียกว่า ฝรั่งทำเกิน  ไวยกรณ์ที่เราว่ากันมาตั้งแต่ต้นนั้น มีส่วนสัมพันธ์กับความหมาย หรือความรู้สึกของคนใช้  แต่กฎที่แถมมานี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความหมายเลย ก็คือ การใช้รูปกริยาให้สอดคล้องกับประธานที่เป็นเอกพจน์ หรือ พหูพจน์  ที่แสบก็เพราะ เรา (และคนต่างชาติส่วนใหญ่) ชอบใช้ผิดโดยไม่ตั้งใจ เนื่องจาก ภาษาเราไม่มี และเสียง s ก็เป็นเสียงที่เราไม่ค่อยได้ยิน

ถ้าประธานเป็นพหูพจน์ หรือ เป็น I กับ You  ให้ใช้รูปกริยาแบบปกติ ไม่ต้องเติม s เช่น

  • I am doing fine.
  • They are doing fine.
  • We have been doing fine.
  • He and I are good friends.
  • He and John walk together.
  • He and John do not walk together.
  • A few of the cars have been stolen.
  • These cats are sleeping.
  • Dogs have a good sense of smell.

ถ้าประธานเป็นเอกพจน์ เช่น he, she, a dog, The dog, รวมถึงนามนับไม่ได้เช่น sugar, honesty, และอื่น ๆ  ต้องใช้กับกริยาแบบเติม s  เช่น

  • He is doing fine.
  • The boy has been doing fine.
  • One of the cars is red.  (รถคันหนึ่งในกลุ่ม)
  • She goes to school.
  • She does not go to school.
  • This runs fine.
  • It turns out fine.
  • Sugar is sweet.
  • Hard work has disappeared.

» ไปบทถัดไป 2. รูปประโยคอดีตกาล    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 27 มกราคม 2017

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

5 × 5 =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net