18. การออกเสียงในประโยค

มาถึงการรวบยอดของการออกเสียงนะครับ เป็นการรวมความรู้พื้นฐานในบทก่อน ๆ มาประกอบในการออกเสียงเป็นวลี หรือทั้งประโยค ซึ่งการออกเสียงทั้งประโยคนั้นก็ไม่เพียงแต่ใช้พื้นฐานของการออกเสียงเป็นคำ ๆ กับการเชื่อมเสียงเท่านั้น ยังมีเกร็ดที่สำคัญที่ผมจะได้เล่าให้ฟังในบทนี้

การเน้นคำในประโยค หรือ วลี

ในภาษาอังกฤษ นอกจากจะมีการออกเสียงเน้นพยางค์ในคำแล้ว  เมื่อคำเหล่านั้นมาอยู่ในประโยคในการพูด ก็ยังมีการเน้นคำแตกต่างกันภายในประโยคอีกด้วย  การเน้นพยางค์นั้นไม่ค่อยมีหลักการอะไร แต่การเน้นคำในประโยคนั้น มีหลักสำคัญก็คือ เพื่อการสื่อสาระให้กับผู้ฟัง กล่าวคือ คำที่เน้นก็มักจะมีสาระมากกว่า คำอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น

  • There is a cat in the room.   ในประโยคนี้คำที่สื่อสาระก็คือ cat กับ room  สองคำนี้ก็จะเด่นกว่าคำอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นคำประกอบให้ประโยคสมบูรณ์
  • There are two cats in the room.  คราวนี้คำที่สื่อสาระ ก็เพิ่มขึ้นมาอีกคำ เป็น two cats และก็ room
  • Do you want to go to the movie?
  • What is in there?
  • Would you help me take the car to the garage?

พอจะจับหลักการเบื้องต้นได้ใช่ใหมครับ คำที่เด่น หรือตามทฤษฎีเรียกว่า content words ก็คือ คำที่เป็นเนื่อความในประโยคที่พูด  ถ้าสมมติว่าเราพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น พูดเป็นแต่คำ ๆ เช่น พูดว่า two cats room แล้วชี้โบ้ชี้เบ้ไปที่ห้องนั้น  คนฟังคงพอจะจับใจความได้ว่า เราหมายถึง มีแมวสองตัวในห้อง แต่เขาก็คงคิดว่า คนพูดเป็นคนมีปัญหาทางภาษา  ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราพูดเน้นทุก ๆ คำในประโยคเท่า ๆ กัน ประมาณว่าเป็นสำเนียงไทยแท้  มันก็จะฟังแปลก ๆ และบางครั้งอาจถึงกับทำให้คนฟังฟังไม่รู้เรื่องด้วย

พวกคำประกอบที่ทำให้ประโยคสมบูรณ์นี้ ส่วนใหญ่ก็จะมาจากคำประเภท function words หรือ grammatical words ได้แก่

  • คำนำหน้านาม (articles) a, an, the, some, any, ฯลฯ
  • คำบุพบท (prepositions) in, out, to, from, into, of, ฯลฯ
  • กริยาช่วย ได้แก่ do/does, can, could, should, would, verb to be ในรูปประโยค continuous tense, verb to have ในรูปประโยค perfect tense, ฯลฯ
  • คำสรรพนาม  he, him, his, she, they, we, us, ฯลฯ
  • คำเชื่อมประโยค  or, and, but, if, though, ฯลฯ

ก่อนที่จะกันไปไกล ขอหยุดบอกตรงนี้ก่อนว่า คำประกอบเหล่านี้ไม่จำเป็นที่จะเป็นคำที่ไม่เน้นในประโยคเสมอไป  ย้อนกลับไปที่หลักการที่กล่าวข้างต้น คือ การเน้นคำเพื่อสื่อสาระให้ผู้ฟัง  ซึ่งหลักอันนี้ก็แตกมาเป็นหลักย่อยข้อแรกก็คือ โดยส่วนใหญ่หรือโดยปกติ คำประกอบประโยค มักเป็นคำที่ไม่สื่อสาระหลัก เพราะฉะนั้น โดยส่วนใหญ่คำพวกนี้จะไม่เน้น  แต่ก็มีสถานการณ์ที่นอกเหนือจากปกติเหมือนกันที่ผู้พูดจะเน้นคำเหล่านี้ได้  ลองดูตัวอย่าง เช่น

  • Please stay on the bus until it comes to a complete stop.   ประโยคนี้ถ้าพูดโดยทั่วไปก็เน้นแค่ stay, bus, completely, stops ใช่ไหมครับ แต่ในกรณีที่ผู้พูดต้องการเน้นให้ผู้ฟังอยู่บนรถก่อน เช่น อย่างรถเมล์เมืองไทย ที่บางคันไม่ปิดประตู แล้วผู้โดยสารบางคนใจร้อนชอบโดดลงก่อน  คนขับถ้าเห็นอย่างนั้น ก็อาจพูดเตือนคนเหล่านั้นว่า อย่าเพิ่งลง รอรถจอดก่อน โดยเน้นคำว่า on ได้
  • You can have an apple, or you can have an orange.   เช่นเดียวกัน ประโยคนี้พูดโดยทั่วไป คำว่า or ก็ไม่เน้น  แต่ในกรณีที่ผู้พูดต้องการเน้นว่า คุณมีทางเลือกนะ อาจจะเห็นว่าคนกินแอปเปิลมาก หรือ มีคนเข้าใจผิดคิดว่าไม่ให้กินส้ม หรือ ด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่  ผู้พูดก็สามารถเน้น คำว่า or ได้
  • I want to know about project X.  Does it work like we had planned?  มาดูอีกตัวอย่างหนึ่งครับ ในกรณีนี้ผู้พูดต้องการเน้นถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งมีความพิเศษเข้าใจกันระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ประโยคที่สอง ถึงแม้เขาแทนสิ่งนี้ด้วยสรรพนาม it แต่ยังต้องการเน้นอยู่  สังเกตว่านอกจาก it จะมีการเน้นเสียงแล้ว การเชื่อมเสียงกับคำหน้าก็สามารถหายไปได้ด้วย

สังเกตอย่างหนึ่งว่า เวลาที่คำประกอบเหล่านี้ออกเสียงแบบไม่เน้น การออกเสียงมักจะลดรูปกลายเป็นสระ ə (สระตัวนี้ ผมได้อธิบายไว้ในบทที่ 16) แทนที่จะเป็นสระปกติของมัน ลองกลับไปสังเกตดูการออกเสียงคำว่า on หรือ or เปรียบเทียบกันระหว่างแบบที่เน้น กับแบบที่ไม่เน้นในประโยคข้างต้นอีกครั้ง  พจนานุกรมบางฉบับถึงกับบอกวิธีออกเสียงไว้สองแบบเลยก็มี แต่ผมว่าไม่จำเป็น เรารู้หลักการ รู้วิธีใช้ เมื่อฟังเขาใช้มาก ๆ พอให้เกิดความคุ้นเคย แล้วก็ใช้ไปตามธรรมชาติ ตามอารมณ์ของเรา ลองดูตัวอย่างเพิ่มเติม สังเกตเสียงสระ ə ของคำที่ไม่เน้น

  • He can go.
  • That is far from here.
  • It’s located in front of the house.
  • We have to find them or they are gone.
  • Do you want to come here?

ดังนั้น กฎข้อแรกเป็นกฎปกติว่าด้วยการเน้นคำพวก content words ใช้กันโดยทั่วไปในการพูด และกฎข้อที่สองก็คือ การเน้นคำพิเศษขึ้นเพื่อสื่อถึงการให้ความสำคัญพิเศษของคำนั้น ๆ ซึ่งคราวนี้ไม่จำกัดว่า คำนั้นจะเป็น content word หรือ function word  โดยทั่วไป ถ้าจะเน้นพิเศษ ก็มักจะเน้นแค่คำคำเดียวในประโยคหนึ่ง ๆ และก็ไม่ทำกันทุกประโยคที่พูดนะครับ  เดี๋ยวคนฟังจะเหนื่อยซะก่อน เอาเฉพาะจุดที่สำคัญ ลองดูตัวอย่าง  ซึ่งผมจะพิมพ์คำที่เน้นพิเศษด้วยตัวเอียงหนาให้เห็นชัดในที่นี้

  • I took take the test yesterday.   อันนี้ดูจะเป็นการพูดที่ปกติที่สุด เพื่อบอกว่าฉันทำข้อสอบเมื่อวานนี้  เน้นว่าทำ ถ้าจะเน้นมากกว่านี้ ก็ใช้  I did take the test yesterday.  ก็ได้
  • I took the test yesterday.   อันนี้ต้องการสื่อว่า เป็นตัวฉันที่เป็นคนทำ  อาจมาจากสถานการณ์ว่า คนฟังคิดว่า คนอื่นทำไม่ใช่เราทำ
  • I took the test yesterday.  อันนี้ต้องการเน้นว่า ฉันทำข้อสอบอันนั้น (the test)  ไม่ใช้อันอื่น “the” คือ คำนำหน้าที่ชี้เฉพาะ หมายถึง อันที่กำลังพูดถึงอยู่  ก็คล้ายกับการใช้ that ในที่นี้   “the” เวลาจะออกเสียงเน้น ก็นิยมออกเสียงว่า -ดิ- หรือ -เดอะ- ก็ได้
  • I took the test yesterday.  อันนี้ต้องการเน้นว่า ฉันทำเมื่อวานนี้  ไม่ใช่ทำวันอื่น

มาดูตัวอย่างเกี่ยวกับการถาม และการตอบนะครับ  ซึ่งคำถามก็มักจะมีจุดเน้น หรือโฟกัส ว่าถามอะไร ดังนั้น โดยทั่วไป ผู้ตอบก็มักจะเน้นคำที่เป็นจุดตอบสนองต่อคำถามนั้น ๆ เช่น

  • A: Who can go to this meeting?   จุดเน้นอยู่ที่ใครไปได้
    • B: I can go.
    • B: He can go.
    • B: He and I can go.


  • A: Can he go to this meeting, or not?   จุดเน้นอยู่ที่ไปได้ หรือไม่ได้
    • B: Yes, he can (go).
    • B: No, he cannot (go).

  • A: Where can he be?
    • B: He can be at the meeting.

ภาษาไทยเราก็มีบ้าง ที่ใช้เสียงดังขึ้น หรือยาวขึ้นเพื่อเพิ่มความสำคัญของคำในประโยค  แต่ก็ไม่ถึงกับใช้เป็นปกติเหมือนในภาษาอังกฤษ คนที่พูดเน้นคำในภาษาไทย มักถูกมองว่า ดัดจริตนิด ๆ (หรือผมอาจจะหัวเก่าก็ไม่ทราบ)  ในภาษาอังกฤษนั้น คุณจะสังเกตได้ว่า คำที่เน้นพิเศษไม่เพียงแต่เสียงยาว และดังขึ้น ระดับเสียงยังอาจสูงขึ้นได้ด้วย มากน้อยแล้วก็แต่ผู้พูด  ซึ่งภาษาไทยโดยปกติเราไม่ทำกัน ดังนั้น การฝึกเน้นคำของเรา ก็ระวังอย่าดัดมากเกินไป ควรเริ่มจากการเน้นคำ content words ให้ราบรื่นฟังดูเป็นธรรมชาติก่อน ผมเคยเห็นใน youtube เด็กไทยบางคนที่เข้าแข่งขันพูดภาษาอังกฤษ คิดว่าอาจจะเป็นความพยายามพูดให้มีสำเนียงเหมือนฝรั่ง แล้วก็พยายามดัดให้มีเสียงสูงเสียงต่ำ ในที่ที่ไม่จำเป็นบ้าง เกินความพอดีบ้าง  ผลลัพธ์ก็คือ ทำให้ฟังดูแปลก ๆ ไม่เป็นธรรมชาติ

การออกเสียงคำกริยาที่ลดรูป

ต่อเนื่องจากตอนที่แล้วนะครับ เราได้เห็นจากตอนที่แล้วแล้วว่า คำประกอบ หรือ function words โดยทั่วไปเป็นคำที่ไม่เน้น  คำพวกนี้ฝรั่งเขาก็ชอบพูดให้มันเร็วขึ้น หรือกะทัดรัดขึ้น จนเกิดเป็นการลดรูป ลดเสียง กลายเป็นการพูดแบบย่อขึ้น ตัวอย่าง เช่น You are ก็กลายเป็น You’re ซึ่งสามารถออกเสียงเป็นพยางค์เดียวเหมือนกับคำว่า your เลย (-ยัวร- หรือ -ยูอร-)  การลดรูปเสียงอย่างนี้ก็มีอยู่มากมายในภาษาอังกฤษ เราก็ควรพอรู้เอาไว้ เวลาฟังจะได้ฟังเขารู้เรื่อง ส่วนตอนพูดก็ไม่ต้องห่วงว่าเราต้องไปพูดแบบลดเสียงเสมอไป ไม่จำเป็น ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ได้ ที่สำคัญคือ ควรออกเสียงเน้น หรือไม่เน้นให้ถูกต้อง  คำที่ไม่เน้น ก็มักจะใช้เสียงสระ ə  ซึ่งจะเบา และสั้น เมื่อฟังไป พูดไปมาก ๆ เข้า ก็จะเริ่มมีการลดรูปเสียงไปตามธรรมชาติ มากบ้าง น้อยบ้างก็ช่างมัน

ลองมาดูกันหน่อยว่า มีคำอะไรที่ลดรูปเสียงได้บ้าง ชุดใหญ่ก็คือ พวกกริยาช่วยทั้งหลาย  ผมรวบรวมตัวอย่างให้ดูในตารางข้างล่าง  เอามาให้ดูพอสมควร เพื่อที่จะได้คุ้นเคย และได้ฝึกฝนกัน  แต่ก็ไม่ได้เอามาทุกกระบวนท่านะครับ อย่างที่บอกว่า ไม่แนะนำให้ท่องจำ  ถ้าคุณเริ่มมีความคุ้นเคยแล้วก็คิดว่า จะประยุกต์ได้กับคำอะไรก็ได้ที่เจอ

 

รูปเต็ม

รูปย่อ

ตัวอย่าง และการออกเสียง

Is s   -ส- หรือ -ซ- He’s good.   -ฮีซ-
It’s good.   -อิส-
(I)s he good?  -ซฮี-   อันนี้ he ก็ลดรูปเสียงต่อไปได้อีก กลายเป็น -สี-
(I)s it good?  -ซิท-
The cat’s good.  -แคทส-
That’s good.  -แดทส-
are re  -ร- You’re good.   -ยัวร-
They’re good.   -แดร-
We’re good.   -เวียร- หรือ -แวร-
am m  -ม- I’m good.   -ไอม- หรือ -อาม-
(A)m I good?  -อไม- หรือ -ไม-
has s   -ส- หรือ -ซ- He’s been good.   -ฮีซ-
It’s been good.   -อิส-
(Ha)s he been good?  -สฮี-   อันนี้ he ก็ลดรูปเสียงต่อไปได้อีก กลายเป็น -สี-
(Ha)s it been good?  -สิท-
have ve  -ฯ- You’ve been good.   -ยูฯ-
They’ve been good.   –เดฯ-
This must’ve been good.   -มัสฯ-
This could’ve been good.   -คูดฯ-
This could not‘ve been good.
had d  -ด- He’d been good.  -ฮีด-
I’d better be good.  -ไอด-
would d  -ด- I’d like to be good.  -ไอด-
That’d be good.  -แดด-
will ll  -ล- I’ll to be good.  -ไอล-
It’ll be good.  แบบอังกฤษ -[อิท]-ทึล-  หรือ อเมริกัน -[อิด]-ดึล-
We’ll be good.  -วีล- หรือ -วิล-
Not n’t  -นึท-n  -น- (อเมริกัน) This isn’t good.   -[อิซ]-ซึนท-
This is good, isn’t it?  -[อิซ]-ซึน-ทิท-  หรือ  -[อิซ]-ซึน-นิท-
He hasn’t been good.   -[แฮซ]-ซึนท-
They haven’t been good.  -[แฮฯ]-ฯึนท-
This wouldn’t be good.   -[วูด]-ดึนท-

หมายเหตุว่า รูปประโยค ปฏิเสธบางประโยคที่มีกริยาช่วย to be กับ to have ก็สามารถลดรูปได้มากกว่าหนึ่งแบบ เราจะใช้แบบไหนก็ได้ เช่น

  • He is not good.  สามารถลงรูปได้เป็น He’s not good.  หรือ He isn’t good. ก็ได้  แบบแรกก็จะเป็นการเน้น not มากกว่า คือเป็นการย้ำอาการปฎิเสธมากกว่า
  • He has not come yet.  เช่นเดียวกัน สามารถลงรูปได้เป็น He’s not come yet.  หรือ He hasn’t come yet. ก็ได้

นอกจากการลดรูปคำกริยาช่วยแล้ว ก็ยังมีการนิยมลดรูปคำสรรพนามบางคำ เวลาเชื่อมเสียงกับคำที่มาข้างหน้าที่ลงท้ายด้วยเสียงพยัญชนะ สำเนียงอเมริกันจะเป็นมากกว่าสำหรับสำเนียงอังกฤษในเรื่องนี้ ลองดูตัวอย่างในตารางต่อไปนี้

รูปเต็ม

เสียงย่อ

ตัวอย่าง และการออกเสียง

he -อี- Is he good?  กลายเป็น -อิ-[ซี]-  หรือ -ซี-
Can he come in?  กลายเป็น  -แคน-[นี]-
him -อิม- Go and find him.   กลายเป็น  -[ฟาย]-ดิม-
Tell him I’m coming.   กลายเป็น  -[เทล]-ลิม-
her -เออร- Go and find her.   กลายเป็น  -[ฟาย]-เดอร-
Tell her I’m coming.   กลายเป็น  -[เทล]-เลอร-
them -เอม-
ไม่นิยมย่อเท่า him/herโดยมากพบกับพยํญชนะที่เสียงเด่น เช่น k, t, d
Go and find them.   กลายเป็น  -[ฟาย]-เดม-
Shall we pick them up?   กลายเป็น  -[พิค]-เคม-

เรื่องการลดรูปคำประกอบพวกนี้ เราไม่จำเป็นต้องไปหัดให้ได้นะครับ ผมก็เอามาดูเผื่อช่วยให้ฟังฝรั่งพูดรู้เรื่องขึ้น  เราแค่ทำเสียงเน้น หรือไม่เน้นคำให้ถูกต้องก็ถือว่าดีแล้ว พอใช้มาก ๆ เข้าไปก็อาจจะทำได้เองตามธรรมชาติ  

 

การลดรูป To be going to

มีการลดรูปกริยาช่วยอีกตัวหนึ่งที่ไม่ค่อยเหมือนใคร แต่สำคัญมาก เพราะว่า เป็นสำนวนพูดที่ใช้กันตลอดเวลา ก็คือ การลดรูป to be going to เป็น to be gonna  -[กอน]-นา-  ขออธิบายสรุปสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้ว่า to be gonna หรือ to be going to นี้ใช้แสดงกริยาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น I’m gonna do this. เป็นภาษาพูดที่ย่อมาจาก I’m going to do this. ใช้แทนกันได้  คนทั่วไปชอบใช้ gonna มากกว่าเพราะมันพูดได้ง่ายกว่า เร็วกว่า  ประโยคนี้มีความหมายเดียวกันการใช้ future tense คือ I will do this.     ถ้าจะถามว่าให้ความรู้สึกต่างกันอย่างไร ระหว่าง I’m gonna … กับ I will …   ผมคิดว่า I will มีความหมายที่แข็งกว่าหน่อย ผู้พูดมีความมุ่งมั่นมากกว่า หรือมั่นใจมากกว่าว่าอนาคตนั้นต้องเกิดขึ้นแน่  แต่ก็ไม่ต่างกันมากนัก โดยทั่วไปใช้แทนกันได้

ผมคิดว่า เผลอ ๆ คนอาจจะนิยมใช้ gonna มากกว่า future tense ครับ  ทั้งที่มีจำนวนคำ และพยางค์มากกว่า พูดยากกว่า  ดังนั้น เราจึงควรฝึกให้ช่ำชอง ให้พูดได้โดยไม่ต้องคิด  เวลาพูด gonna ต้องพูดให้มันเร็วหน่อย เพราะมันเป็นคำประกอบที่ไม่เน้น เน้นพยางค์แรก แต่พูดสั้น ๆ ทั้งสองพยางค์เวลาอยู่ในรูปประโยค  ถ้าพูดชักช้าแล้วมันฟังดูแปลก ๆ ครับ ดังนั้น ขอให้ ฝึกให้ใช้รูปนี้ ได้กับประธานทุกรูปแบบ  ทั้งประโยคบอกเล่า ประโยคปฏิเสธ และประโยคคำถาม   ดูตัวอย่างแล้วฝึกพูดดู  ฝึกให้รู้สึกว่า เวลาใช้ gonna แล้วมันทำให้พูดได้ราบรื่นกว่า

  • Are we gonna go to school?   ย่อมาจาก  Are we going to go to school?
  • They are gonna go to school.   ย่อมาจาก  They are going to go to school.
  • Where are we gonna go?   ย่อมาจาก  Where are we going to go?
  • What am I gonna do?   ย่อมาจาก  What am I going to do?


ลองฟังเทียบกับแบบไม่ลดรูปดู


ผมไม่บอกว่าย่อมาจากอะไรแล้วนะครับ ลองคิดเอาเองดู หรือไม่ก็ช่างมัน พูดให้ถูกแล้วก็ไม่ต้องไปคิดมาก

  • Is John gonna be here soon?
  • John is not gonna be here.  หรือ John isn’t gonna be here.  ใช้ได้เหมือนกัน
  • He’s gonna come later.
  • Is Thailand gonna be OK?
  • You’re gonna be practicing this, and you’re gonna like it.   หมายเหตุ  You’re gonna be practicing this ก็ความหมายเดียวกับ You will be practicing this.  นะครับ เป็น  future continuous tense ซึ่งทั้งสองแบบนี้ก็เป็นที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปเช่นกัน

แบบฝึกหัดการออกเสียงประโยค

» กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 6 กุมภาพันธ์ 2017

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

3 × three =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net