เสียงเชื่อมระหว่างคำเป็นเอกลักษณ์อันหนึ่งของภาษาอังกฤษที่ภาษาไทยเราไม่มี รากฐานก็มาจากการที่ภาษาอังกฤษมีการออกเสียงพยัญชนะลงท้ายคำที่ชัดเจน เมื่อพูดติด ๆ กับคำอื่น ๆ เสียงก็เลยเกิดการพัวพันกันเพื่อจะทำให้พูดได้ง่ายขึ้น ตัวอย่างที่คนไทยเราคุ้นเคย ก็คือ Thank you เราออกเสียงว่า -แธ็ค-กิว- ซึ่งก็เพี้ยนมาจาก -แธ็ค-คยู- เราไม่ออกเสียงว่า -[แธ็ค]-ยู-
ปัญหาคือ เราไปจำเป็นคู่กันว่า สองคำนี้เมื่ออยู่ด้วยกันออกเสียงรวมกันว่า -[แธ็ค]-กิว- แล้วถ้าเราไปเจอคู่อื่น ๆ ก็ต้องจำต่อไปอีก ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ถูกนัก วิธีที่ถูกต้องคือ การหัดพูดให้มีเสียงพยัญชนะท้าย ลองพูด Thank ให้มีเสียง -ค- ลงท้ายเป็น “เคอะ” นิด ๆ เหมือนที่หัดมาในบทที่11 นะครับ แล้วก็ลองพูดยูตาม ช้า ๆ ก่อนเป็น -แธ็ค- -ยู- คุณจะสังเกตว่ามันจะต้องมีจังหวะหยุดตรงกลางระหว่างสองคำนี้ เพื่อให้ทำลงท้าย “เคอะ” ได้ คราวนี้ก็ลองพูดให้เร็วขึ้นเท่าที่จะทำได้ แต่ยังเก็บเสียง -ค- อยู่ ให้รู้สึกถึงความลำบากว่าต้องเปลี่ยนรูปปากมาทำเสียง -ยู- เห็นไหมครับว่ามันลำบาก พอเห็นแล้วคราวนี้ก็ปล่อยปากตามสบายพูดให้มันเชื่อมติดกัน เสียงมันก็จะกลายเป็น -แธ็ค-คยู- หรือ -แธ็ค-กยู- หรือ -แธ็ค-กิว- ตามธรรมชาติของมัน โดยไม่ต้องไปจำเลย (เสียง -ค- เพี้ยงเป็นเสียง -ก- ได้ ตามที่อธิบายไปแล้วในบทที่ 11)
ในภาษาไทยเรานั้น มีเสียงพยัญชนะลงท้ายบ้างเหมือนกัน เช่น แม่กบ แม่กด แม่กง เป็นต้น แต่เป็นแบบอ่อน ๆ คือ เราเอาเสียงตัวสะกดมาแปลงกับเสียงสระเฉย ๆ แต่เราไม่มีเสียงเอื้อน หรือไม่มีปลายเสียงเหมือนภาษาอังกฤษเขา แต่ผมก็ขอเสริมแย้ง ๆ ว่า คนไทยสามารถฝึกให้มีทักษะทำเสียงเชื่อมระหว่างคำได้ไม่ยากนัก หลักฐานนั้นมีอยู่ในการพูดภาษาไทยเหมือนกัน เช่น คำว่า สิบเอ็ด ถ้าพูดให้ถูกต้อง ก็ต้องทำพยางค์หลังให้ชัดถ้อยชัดคำ เอ็ด ต้องพยายามเปลี่ยนรูปปากให้ฉับพลันจากพยางค์ที่หนึ่งไปพยางค์ที่สอง แต่ถ้าพูดแบบสบาย ๆ เร็ว ๆ ไม่ระวัง มันก็กลายเป็น สิบเบ็ด เสียงมันพัวพันกันเหมือนในภาษาอังกฤษ หรือ คำว่า กรกฏาคม บางคนก็พูดผิดแบบสบายปากเป็น กะ-ดัก-กะ-ดา เป็นต้น
ดังนั้น คนทั่วไปพอมีสัญชาตญาณเรื่องการเชื่อมเสียงอยู่บ้างแล้วครับ เคล็ดลับการทำเสียงเชื่อมระหว่างคำ ก็คือ การทำเสียงลงท้ายคำให้ถูกต้องเท่านั้นเอง แล้วก็ปล่อยปากให้สบาย ๆ เวลาพูดหลาย ๆ คำติดกัน เสียงมันจะปนกันบ้าง ไม่ปนกันบ้างก็ปล่อยไปตามเรื่องของมัน เป็นธรรมชาติของมันเอง ไม่ต้องไปเครียด บทนี้ ก็จะเอาตัวอย่างมาแนะนำ เช่นเคยนะครับ ตัวอย่างพวกนี้เอามาเพื่อมาฝึกให้เกิดทักษะกัน และทำให้สังเกตได้เวลาฟัง แต่ไม่ได้มาเสนอให้จำไปใช้นะครับ
เมื่อพยางค์ตามหลังเป็นเสียงสระ
อันนี้คิดว่าเราค่อนข้างคุ้นเคยกันอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น คำซึ่งเกิดจากการเติม ing ลงในคำกริยาทั่วไป ซึ่งทำให้เกิดเป็นคำใหม่ที่มีพยางค์มากขึ้นอีกพยางค์หนึ่ง เสียงอักษรต้นของพยางค์หลังก็มาจากอักษรท้ายของพยางค์หน้า แต่ที่น่าสังเกตนิดหนึ่งก็คือ มักมีการเพี้ยนเสียงจากเสียงไม่ก้อง (voiceless) เป็นเสียงก้องได้ เช่น -ท- กลายเป็น -ต- -ค- กลายเป็น -ก- และ -พ- กลายเป็น -ป- เป็นต้น เรื่องนี้ก็มีลักษณะเหมือนที่ได้เคยอธิบายไปบทก่อน ๆ แล้วนะครับ ตัวอย่างเช่น
- kicking -[คิค]-กิง-
- keeping -[คีพ]-ปิง-
- renting -[เร้น]-ติง- หรือ -[เร้น]-ทิง-
- amazing -เอะ-[เม]-ซิง-
- running -[รัน]-นิง-
- ringing -[ริง]-งิง-
- serving -[เสิฯ]-ฯิง-
- watching -[วอท]-ชิง-
- judging -[จัจ]-จิง-
- caring -[แค]-ริง- (มาจาก care)
เหมือนที่เคยอธิบายข้างต้นนะครับว่า ถ้าเราไปบังคับตัวเองให้พูด running เป็น -[รัน]-อิง- เหมือนเป็นสองคำชัดถ้อยชัดคำ มันก็จะเกิดอาการขัด ๆ ปากกว่าการพูดแบบสบาย ๆ ปากว่า -[รัน]-นิง- ใช่ไหมครับ ลองฝึกให้เข้าใจความรู้สึกอันนี้ดู ทีนี้เวลาที่เป็นคำสองคำมาต่อกัน เราก็ทำในลักษณะเดียวกับการเติม ing นั่นเอง ลองดูตัวอย่างการพูดวลีเหล่านี้ดู
- keep it -คีพ- -อิท- กลายเป็น -[คีพ]-พิท- หรือ -[คีพ]-ปิท-
- kick out -คิค- -เอาท- กลายเป็น -[คิค]-เคาท- หรือ -[คิค]-เกาท-
- look inside -ลุค- -[อิน]-ไสด- กลายเป็น -[ลุค]-คิน-ไซด- หรือ -[ลุค]-กิน-ไซด-
- get out -เกท- -เอาท- กลายเป็น -[เกท]-เทาท- หรือ -[เกท]-เตาท- คนอเมริกันก็ชอบเพี้ยนเป็น -[เกด]-เดาท-
- what if -วอท- -อีฟ- กลายเป็น -[วอท]-ทีฟ- หรือ -[วอท]-ตีฟ- คนอเมริกันก็ชอบเพี้ยนเป็น -[วอด]-ดีฟ-
- bend it -เบนด- -อิท- กลายเป็น -[เบน]-ดิท-
- watch out -วอทช- -เอาท- กลายเป็น -[วอท]-เชาท-
- wash out -วอฉ- -เอาท- กลายเป็น -[วอฉ]-เฉาท-
- run out -รัน- -เอาท- กลายเป็น -[รัน]-เนาท-
- ring in -ริง- -อิน- กลายเป็น -[ริง]-งิน-
- come on -คัม- -ออน- กลายเป็น -[คัม]-มอน-
- serve it -[เสิฯ]- -อิท- กลายเป็น -[เสิฯ]-ฯิท-
- face it -[เฟส]- -อิท- กลายเป็น -[เฟส]-สิท-
- take care of -เทค- -แคร- -ออพ- กลายเป็น -เทค-[แค]-รอฟ-
- four hours -ฟอร- -อาวรซ- กลายเป็น -ฟอ-ราวรซ-
- call off -คอล- -ออพ- กลายเป็น -[คอล]-ลอพ-
- old age -โอลด- -เอจ- กลายเป็น -โอล-เดจ-
- What’s up? -วอทส- -อัพ- กลายเป็น -วอท-สัพ-
- SMS -เอส- -เอม- -เอส- กลายเป็น -เอส-เสม-เมส-
- HIV -เอช- -ไอ- -ฯี- กลายเป็น -เอช-ไช-ฯี- หรือ เพี้ยนเป็น -เอช-ไจ-ฯี-
ขอย้ำอีกครั้งว่า ไม่ต้องไปจำว่าคำคู่นั้นคู่นี้ต้องออกเสียงควบกันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ และเสียงเชื่อมไม่จำเป็นต้องมีเสมอไป ในบางกรณี เช่น ถ้าจะตะโกนสั่งใครชัดถ้อยชัดคำว่า Get out ก็พูดสองคำโดด ๆ ก็ได้ ไม่ต้องเชื่อมเสียง เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการเน้นคำในประโยคซึ่งเราจะพูดถึงโดยละเอียดในบทที่ 18 คำบางคำถ้าเน้นขึ้นมา จะพูดชัดถ้อยชัดคำก็ได้ ไม่จำเป้นต้องเชื่อมกับคำข้างหน้า ดังนั้น อันนี้เป็นเรื่องของจังหวะการพูดด้วย อย่าไปบอกว่าใครไม่เชื่อมเสียงตรงนั้น ตรงนี้ หรือทำน้อยทำมาก แล้วผิด ไม่ถึงกับผิดนะครับ
เมื่อพยางค์ตามหลังเป็นเสียง h
การเชื่อมเสียงระหว่างคำนี้ นอกจากจะเกิดขึ้นเด่นชัดกับคำตามหลังที่เป็นเสียงสระแล้ว ยังเกิดขึ้นกับคำตามหลังที่ขึ้นต้นด้วยเสียงพยัญชนะ h (-ฮ-) กับ y (-ย-) ด้วย อันนี้ ก็เนื่องจากเสียงพยัญชนะของสองตัวนี้ มีลักษณะเสียงอ่อน คล้ายกับเสียงสระ ทำให้ผสมกับเสียงที่มาข้างหน้าได้ด้วย โดยเฉพาะพวกพยัญชนะที่มีเสียงเด่น ๆ (มีเสียงฟัน หรือเสียงกระแทก) ได้แก่ k, t, d, s, z, ch, sh เป็นต้น ก็จะมีการเชื่อมเสียงเกิดขึ้นได้ แต่การเชื่อมเสียงนี้แปลกกว่าปกติหน่อย เขาไม่เอาเสียงพยัญชนะลงท้ายของคำข้างหน้ามาใช้แบบเต็ม ๆ เหมือนกับการผสมกับเสียงสระ แต่จะเอามาผสมกลมกลืนกับเสียง h หรือ y ที่ตามมา ลองฟังตัวอย่างสำหรับสำหรับตัวที่ง่ายกว่าก่อน คือ ตัว h เช่น
- He goes home. -โกซ- -โฮม- ก็ผสม ๆ กัน คล้าย ๆ กับ -โก-โซฮม-
- She is happy. -ฮีซ- -[แฮพ]-ปี- เช่นเดียวกัน ผสม คล้าย ๆ กับ -ฮี- -[แซฮพ]-ปี-
- take home -เทค- -โฮม- ก็ผสม ๆ กัน คล้าย ๆ กับ -เทค-โคฮม-
- Get here. -เกท- -เฮียร- เช่นเดียวกัน ผสม คล้าย ๆ กับ -เกท-เทฮียร-
ฟังเผิน ๆ บางทีก็เหมือนไม่ได้ยินเสียง h ซึ่งก็ถือว่าปกตินะครับ เพราะมันถูกพยัญชนะที่เด่นกว่ากลืน ๆ ไป เสียง h ของพวกคำสรรพนาม ได้แก่ he him her his hers ก็นิยมพูดโดยไม่ออกเสียง h นะครับ โดยเฉพาะสำเนียงอเมริกัน เรื่องนี้ผมจะพูดถึงอีกครั้งในบทถัดไป เกี่ยวกับการออกเสียงของคำในประโยค ตอนนี้ดูตัวอย่างพอเข้าใจเรื่องการเชื่อมเสียงก่อน เช่น
- Find him -ฟายด- -ฮิม- สามารถออกเสียงลดรูปได้เป็น -ฟาย-ดิม-
- Tell her -เทล- -เฮอร- สามารถออกเสียงลดรูปได้เป็น -เทล-เลอร-
- Kiss him -คิส- -ฮิม- สามารถออกเสียงลดรูปได้เป็น -คิส-สิม-
- Push him -พุฉ- -ฮิม- สามารถออกเสียงลดรูปได้เป็น -พุฉ-ฉิม-
เช่นเดียวกัน เสียง th บางครั้งก็สามารถถูกกลืน อาการคล้าย ๆ กับ เสียง h เหมือนกัน แต่อันนี้ค่อนข้างจำกัด ไม่แพร่หลายเท่ากับเสียง h เช่น
- Find them -ฟายด- -เดม- สามารถออกเสียงลดรูปได้เป็น -ฟาย-เดม-
- Tell them -เทล- -เดม- สามารถออกเสียงลดรูปได้เป็น -เทล-เลม-
- What’s that? -วอทส- -แด็ท- สามารถออกเสียงลดรูปได้เป็น -วอท-แสดท- หรือ -วอท-แสท- ไปเลย
เมื่อพยางค์ตามหลังเป็นเสียง y
เสียงตัว y หรือ -ย- ที่เป็นพยัญชนะขึ้นต้นคำ ก็มีการเชื่อมกับพยัญชนะท้ายที่เด่น(มีเสียงฟัน หรือเสียงกระแทก) เช่นกัน แต่ตัว y นี้แสบกว่า เพราะเวลาเสียงผสมกันแล้ว เสียงอาจจะเปลี่ยนไปฟังคล้ายเป็นเสียงใหม่ไปเลยก็มี ลองดูตัวอย่าง เช่น
- thank you -แธงค- -ยู- ออกเสียงติด ๆ กันได้เป็น -แธงค-คกู- หรือ -แธงค-คกู- หรือ -แธงค-กิว- ก็ถือว่าใช้ได้ครับ
- pick you -พิค- -ยู- ออกเสียงติด ๆ กันได้เป็น -พิค-คกู-
- meet you -มีท- -ยู- ลองพูดดู ก็จะเห็นว่า ถ้าจะออกเสียง t ก็จะทำให้พูดสองคำนี้ติดต่อกันยาก เหมือน Thank you ที่เราลองหัดไปแล้วนะครับ ในกรณีนี้เสียง -ท- จะเกิดการเชื่อมกับเสียง -ย- กลายเป็นประมาณเสียง -ช- (ch) หรือ -จ- (j) ดังนั้น สองคำนี้อ่านติด ๆ กันได้ว่า -มีท-ชู- หรือ -มีท-จู- หรือกึ่ง ๆ ระหว่าง -ช- กับ -จ- ก็แล้วแต่ถนัด
- next year -เน็สท- -เยียร- ออกเสียงติด ๆ กันได้เป็น -เน็สท-เชียร- หรือ -เน็สท-เจียร-
- last year -ลาสท- -เยียร- (หรือ แบบอเมริกัน -แลสท- -เยียร-) ออกเสียงติด ๆ กันได้เป็น -ลาสท-เชียร- หรือ -ลาสท-เจียร-
- not yet -น็อท- -เยท- ออกเสียงติด ๆ กันได้เป็น -น็อท-เชท- หรือ -น็อท-เจท-
- Did you -ดิด- -ยู- ออกเสียงติด ๆ กันได้เป็น -ดิด-จู-
- send you -เสนด- -ยู- ออกเสียงติด ๆ กันได้เป็น -เสน-จู-
- this year -ดิส- -เยียร- ออกเสียงติด ๆ กันได้เป็น -ดิส-เฉียร- มีเสียง -ส- แล้วก็เปลี่ยนเป็นเสียง -ฉ- (sh)
- miss you -มีส- -ยู- ออกเสียงติด ๆ กันได้เป็น -มิส-ฉยู-
- push you -พุฉ- -ยู- ออกเสียงติด ๆ กันได้เป็น -พุฉ-ฉู-
- catch you -แคทช- -ยู- ออกเสียงติด ๆ กันได้เป็น -แคทช-ชู-
- W (Double U) -[ดับ]-เบิล-ยู- เสียง L ผสมกับ y ได้อีก เป็น -[ดับ]-เบิล-ลยู- หรือ -[ดับ]-บลยู- หรือ -[ดับ]-บลิว- ก็พอใช้ได้ครับ แต่อย่าออกเป็น -ดับ-บิว- แบบไม่มีเสียงเสียง -ล- ที่คนไทยชอบพูดกัน แล้วบางทีเน้นพยางค์หลัง อันนี้เพี้ยนเกินไป ผมว่าคนต่างชาติจะฟังไม่รู้เรื่อง
- canyon เสียง -[แคน]-เยิน- สังเกตว่าเสียง -น- -ย- ก็ยังปนกันได้เป็น -[แคน]-เนยิน-
- Can you? -[แคน]-นยู- Can’t you? -[แคน]-จยู-
เมื่อพยางค์ตามหลังเป็นเสียงพยัญชนะ
มาพูดเรื่องกลับตาลปัดของเสียงลงท้ายกันสักหน่อย ที่ผ่านมาเราได้เห็นแล้วว่าเสียงลงท้ายมีความสำคัญมากอย่างไร และผมก็บอกหลายทีว่าควรออกให้ชัดเจน ตอนนี้ก็เป็นตอนที่ผมต้องขอถอนคำพูดเล็กน้อยนะครับ ว่ามันไม่ได้จริงเสมอไป เวลาเสียงพยัญชนะมาเจอกันสองตัว มันก็กลืนกันไม่ค่อยลง ผสมกันไม่ค่อยได้ โดยเฉพาะเสียงพยัญชนะพวกที่เป็นเสียงกระแทก เช่น t, d, k, p, b เวลาที่เป็นเสียงลงท้าย แล้วคำต่อมาเป็นเสียงพยัญชนะ พวกเสียงปลายนี้ก็ไม่จำเป็นต้องทำชัดเจน จะออกเสียงคล้ายเป็นตัวสะกดแบบไทย ๆ ได้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้ ก็ต้องออกเสียงเป็นคำ ๆ แยกกัน ไม่เป็นธรรมชาติ พวกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่อ่านหนังสือได้ ส่วนใหญ่ก็จะพูดไม่ค่อยเป็นธรรมชาติ เพราะไปออกเสียงเป็นคำ ๆ มาต่อกัน ไม่ได้ออกเสียงให้ราบรื่น (ซึ่งบางครั้งก็มีการกลืนเสียงหายไปบ้าง) เหมือนเวลาคนพูดกันจริง ๆ ดูตัวอย่างเช่น
- bad man -แบด- -แมน- สังเกตว่าเสียงปลาย เดอะ ของ d นั้นไม่มี ก็เหมือนเราพูด แบดแมน ในภาษาไทย
- bat man -แบ็ท- -แมน- เช่นเดียวกันว่า เสียง เทอะ ของ t นั้นไม่มี ส่วนคุณลักษณะที่ว่า ตัว bat ออกเสียงสั้นกว่า bad นั้นก็ยังมีอยู่ คนฟังเขาก็แยกแยะได้ครับว่าพูด bat หรือ bad
- hard work -ฮาด- -เวอรค-
- white car -ไวท- -คาร-
- Take me -แทค- -มี-
- backboard -แบ็ค-บอรด-
- top dog -ท็อพ-ดอก-
- popcorn -พ็อพ-คอรน-
- bobcat -บอบ-แคท-
โดยเฉพาะ เสียง d หรือ t ที่ตามหลัง n หรือ s เสียงนั้นก็อาจฟังไม่ได้ยินเลย ตัวอย่างเช่น
- last stop -[แลสท]- -สะ-[ตอพ]- เชื่อมกันกลายเป็น -[แลส]-สะ-[ตอพ]- ตัวอย่างอื่นข้างล่างก็เหมือนกันนะครับ ผมจะไม่เขียนว่าเชื่อมกันเป็นอย่างไรแล้ว ให้ลองฟังและสังเกตดู
- fast car -แฟสท- -คาร-
- He wants to -วอนทส- -ทู-
- find someone -ฟายด- -[สัม]-วัน-
- grandmother -แกรนด- -[มา]-เดอระ-
- missed something. –มีสท- -[สัม]-ธิง- (ดูเรื่องการออกเสียงคำกริยาที่เติม ed ในบทที่ 9 นะครับ)
- amazed by this. -เอะ-[เมซด]- -บาย- -ดิซ-
- turned bad -เทรนด- -แบด-
ที่เล่ามานี้ ก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์จะสอนให้ลักไก่ไม่ต้องออกเสียง ed หรือ ไม่ต้องออกเสียงพยัญชนะลงท้ายในบางจุด แต่เพื่อบอกว่าเราควรออกเสียงลงท้ายอยู่ทุกจุด แต่ไม่ต้องไปพะวงมากนักในกรณีที่เราต้องทำปากยาก ๆ เวลามีพยัญชนะหลาย ๆ ตัวที่ติด ๆ กัน ฝรั่งเขาก็ทำยากเหมือนกัน ก็ปล่อยไปตามสบาย ออกเสียงให้เป็นธรรมชาติ อย่างไปพยายามจำครับ ว่าตรงนั้นตรงนี้ไม่ต้องออกเสียง แค่รู้ไว้ว่ามันมีอาการอย่างนี้อยู่ในภาษาอังกฤษก็พอ ข้อยกเว้นจากที่ผมได้เล่ามาก็คงมี และความแตกต่างระหว่างการออกเสียงในแต่ละท้องถิ่น แต่ละสำเนียงก็มี ดังนั้น เราได้ยินมาอย่างไร ทำให้เกิดความเคยชิน แล้วก็พูดตามไปอย่างนั้น ถ้าใครเก่งขึ้นมาแล้วรู้ว่าทำได้หลายแบบ ชอบแบบไหนก็เอาแบบนั้นไป