16. เสียงสระ ə

การใช้ภาษาไทยเขียนวิธีออกเสียงในภาษาอังกฤษนั้น สำหรับเสียงสระแล้วส่วนใหญ่ก็เป็นไปได้ด้วยดี คือ เป็นการประมาณที่ใกล้เคียง แต่มีเสียงสระตัวหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นตัวที่ออกเสียงง่ายมาก ๆ แต่หลายคนกลับออกเสียงไม่ค่อยถูก  ซึ่งเป็นเสียงสระที่พบบ่อยที่สุดในภาษาอังกฤษ และก็เป็นตัวขยึกขยือตัวเดียวที่ผมจะกล่าวถึง ส่วนตัวอื่น ๆ เราแทนด้วยสระไทยได้ง่าย ๆ ไม่ต้องอธิบายกันมาก  เจ้าสระตัวนี้ ตำราส่วนใหญ่ใช้ตัวอักษรอีหัวทิ่ม ə เพื่อแทนเสียงใน phonetics มีชื่อเป็นทางการว่าเสียง schwa (-ฉะ-[วา]-) ถ้าใครจะหัดสังเกตตัว phonetics ในพจนานุกรม ก็ลองสังเกตตัวสระตัวนี้ดูนะครับ จะพบอยู่ทั่ว ๆ ไป

เสียง ə เป็นเสียงที่เบา และสั้นมาก ๆ  ถ้าไม่มีพยัญชนะอะไรประกอบ ก็ออกเสียงคล้าย เออะ  เบา ๆ  ถ้ามีเสียงพยัญชนะหน้า หรือ หลัง หรือ ทั้งสอง ประกอบก็เป็นเหมือนเสียงเติมเต็ม ให้เกิดเป็นพยางค์อีกพยางค์หนึ่ง เช่น ful  ก็เป็น -เฟิล- เหมือนเสียงพยัญชนะ F กับ L รวมกันเท่านั้นเอง พยางค์ที่มีเสียง  ə เมื่อผสมอยู่ในคำ ก็จะเป็นในพยางค์ที่ไม่เน้นเสมอ  และเป็นพยางค์ที่ไม่เน้นแบบอ่อนที่สุด ในบางคำพยางค์นั้นไม่ออกเสียงไปเลยก็มี ในภาษาไทยเราจะว่าเราไม่มีเสียงนี้ก็ไม่เชิง ตัวอย่างเช่น คำว่า  “สาธารณะ” ในทางทฤษฎีก็มีสี่พยางค์ สา-ทา-ระ-นะ  แต่ในทางปฏิบัติ ไม่ค่อยมีใครออกเสียงสี่พยางค์นี้ชัดถ้อยชัดคำ ส่วนใหญ่พยางค์ “ระ” นี่จะออกเสียงเบา และเร็วมาก  บางคนพูดเร็วมาก กลายเป็นสามพยางค์  สา-ทา-นะ ไปเลยก็มี  พูดอย่างนี้ คงนึกภาพออกนะครับ  การออกเสียงพยางค์แบบนี้นี่แหละ ที่คล้ายกับการออกเสียงสระ  ə ในภาษาอังกฤษเลย  แต่ภาษาไทยเรา ถ้าใครออกเสียง  สา-ทา-ระ-นะ ชัดถ้อยชัดคำ เราก็อาจฟังว่า เขาพูดช้า ๆ ชัด ๆ ดี  แต่สำหรับภาษาอังกฤษ ถ้าไปออกเสียงพยางค์นี้ชัดถ้อยชัดคำ ก็จะกลายเป็นการเน้นพยางค์ที่ผิดปกติ ฝรั่งอาจจะฟังไม่รู้เรื่องไปเลย ว่าคุณพูดคำว่าอะไร

เสียง ə ผสมกับพยัญชนะได้หลายรูปแบบนะครับ ถ้าดูที่ตัวสะกดก็มีรูปได้ทั้ง a e i o u  เราก็ต้องดูการออกเสียงที่ถูกต้องประกอบ และรู้ว่าคำนั้น ๆ เน้นพยางค์ไหน  ลองดูตัวอย่าง และฝึกออกเสียงดู จะเข้าใจมากขึ้น

  • about  ออกเสียงว่า  -อะ-[เบ้าท]-  เสียง ə อยู่ที่พยางค์แรก   มันสั้น และเบามาก ดังนั้น ไม่ว่าจะเขียนคำอ่านไทยว่า -อะ-[เบ้าท]- หรือ -เอะ-[เบ้าท]- หรือ -เออะ-[เบ้าท]-  ก็ไม่มีความแตกต่างกันเลยครับ ถ้าคุณออกเสียงคำนี้ได้ถูกต้อง (ก็เหมือนเราพูด สา-ทา-ระ-นะ ถ้าเราพูดแบบไม่เน้นพยางค์ที่สาม จะพูดเป็น สา-ทา-รา-นะ หรือ สา-ทา-เรอะ-นะ ก็ไม่แตกต่างกันนะครับ เพราะพยางค์นั้นฟังแทบไม่ได้ยิน)
  • happen  ออกเสียงว่า  -[แฮป]-เปิน-  หรือ -[แฮพ]-เพิน-  เสียง ə อยู่ที่พยางค์ที่สอง  เมื่อรวมกับพยัญชนะ p กับ n ก็เลยออกเป็น -เปิน- คือเป็นตัวประกอบให้ตัว p กับ n ออกเสียงเป็นพยางค์เบา ๆ ออกมาได้
  • rubber  ออกเสียงว่า  -[รับ]-เบอระ- เสียง ə อยู่ที่พยางค์ที่สอง
  • beautiful ออกเสียงว่า  -[บิว]-เตอะ-เฟิล- เสียง ə อยู่ที่พยางค์ที่สอง และสาม   เช่นเดียวกัน จะเขียนเป็น -[บิว]-ติ-ฟุล- ก็ได้ ถ้าออกเสียงได้ถูกต้อง มันฟังไม่ต่างกันเลย  ทั้งสองพยางค์มาเติมเต็มให้เสียงพยัญชนะ t f และ l
  • audible  ออกเสียงว่า  -[ออ]-เดอะ-เบิล- เสียง ə อยู่ที่พยางค์ที่สอง และสาม
  • memory ออกเสียงว่า  -[เมม]-เมอะ-รี-   เสียง ə อยู่ที่พยางค์ที่สอง
  • dictionary ออกเสียงว่า  -[ดิก]-เชิน-เนอะ-รี-   เสียง ə อยู่ที่พยางค์ที่สอง และสาม
  • suppose ออกเสียงว่า  -สัพ-[โพซ]-  เสียง ə อยู่ที่พยางค์ที่หนึ่ง
  • approach ออกเสียงว่า  -อัพ-[โพรช]-  เสียง ə อยู่ที่พยางค์ที่หนึ่ง
  • Michael ออกเสียงว่า  -[ไม]-เคิล-   เสียง ə อยู่ที่พยางค์ที่สอง
  • Philips ออกเสียงว่า  -[ฟิล]-เลิพส-   เสียง ə อยู่ที่พยางค์ที่สอง
  • Finland ออกเสียงว่า  -[ฟิน]-เลินด-   เสียง ə อยู่ที่พยางค์ที่สอง
  • ส่วน Thailand จะออกเสียงว่า  -[ไท]-เลินด-  หรือ -[ไท]-แลนด-  แบบพยางค์ที่สองชัดถ้อยชัดคำก็ได้นะครับ ฝรั่งก็มีพูดกันทั้งสองแบบ  สงสัยอิทธิพลจากเราออกเสียงสำเนียงไทยแท้ในชื่อประเทศให้เขาฟัง เขาก็เลยเอาด้วย

เห็นไหมครับว่ามันมีรูปทั้ง a e i o u เลย  ถ้าเราไปออกเสียงตามรูปสระให้ชัดถ้อยชัดคำ ก็จะคล้ายเป็นสำเนียงไทยแท้ไป แม้แต่คำออกเสียงที่เขียนเป็นภาษาไทย ก็เขียนให้แค่เป็นเสียงที่ใกล้เคียง ซึ่งจริง ๆ แล้วมาจากเสียงพยัญชนะที่อยู่คู่กับมัน อย่าไปอ่านสระให้ชัดถ้อยชัดคำเกินไป ใครจะทำได้เก่ง ก็ต้องเข้าใจ (จากการได้ยินตัวอย่างที่ถูกต้อง) ว่าเสียงสระของพยางค์ที่ไม่เน้นบางตัวนั้น  เป็นเสียง ə  ควรออกเสียงให้สั้น และเบาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว  เอาละครับ ลองไปสังเกต หัดฟัง และหัดพูดดู  ใครชอบเปิดพจนานุกรมก็ลองหัดสังเกตสระตัวนี้ประกอบ  แต่ไม่ต้องเครียดมากว่าใช่หรือไม่ใช่เสียง ə เอาเป็นว่า ฟังแล้ว รู้ว่าเน้นพยางค์ไหน และพูดตามพอเหมือนก็ถือว่าใช้ได้

 

เมื่อพยางค์หายไป

ตอนนี้มาดูว่าคำบางคำ พยางค์ที่เป็นสระ ə  เมื่อพูดเร็ว ๆ พยางค์นั้นก็อาจจะเบา และสั้นมาก จนเหมือนหายไปเลยก็ได้ ต้องออกตัวอีกครั้งว่า ผมอิงตามสำเนียงอเมริกันนะครับ สำเนียงอื่นอาจจะนิยม หรือไม่นิยมตัดพยางค์ในแต่ละคำ ผมไม่ทราบแน่นอน คิดว่าส่วนใหญ่ แต่ไม่ทั้งหมดคงเหมือนกัน แต่ไม่รับประกัน ถ้าคุณไปเปิดพจนานุกรม คำบางคำก็พูดกันจนเป็นมาตรฐาน เขาก็อาจจะบอกว่าออกเสียงได้สองแบบ แต่คำส่วนใหญ่เขาก็จะบอกแค่รูปเต็ม  แล้วถ้าถามว่าทำไมเราต้องไปเรียนรู้ด้วย  ก็ตอบได้ว่า มีประโยชน์ คือ 1) ทำให้พูดคำเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น คิดดู คำสี่พยางค์พูดเป็นสามพยางค์ หรือ สามพยางค์พูดเป็นสองพยางค์ มันง่ายขึ้นเยอะครับ 2) พูดเหมือนเจ้าของภาษามากขึ้น 3) ช่วยในการฟังให้ดีขึ้นเวลาเขาพูดเร็ว ๆ ในประโยค  ผมมักได้ยินคนบ่นว่า สำเนียงอเมริกัน พูดเร็วฟังยากกว่าสำเนียงอังกฤษ คิดว่า ส่วนหนึ่งก็มาจากคำเหล่านี้แหละครับ ดังนั้น ถ้าเราหัดฟัง หัดสังเกตให้ค้นเคยก็จะช่วยได้

ลองดูตัวอย่างนะครับ

  • history   -[ฮีส]-เทอะ-รี-  ออกเสียงลดพยางค์ได้เป็น -[ฮีส]-ทรี-   คำลงท้ายด้วย -tory ส่วนใหญ่ก็ออกเสียงอย่างนี้นะครับ
  • victory  -[วิค]-เทอะ-รี-  ออกเสียงลดพยางค์ได้เป็น  -[วิค]-ทรี-
  • favorite  -[เฟ]-เฯอะ-ริท-   ออกเสียงลดพยางค์ได้เป็น  -[เฟ]-ฯริท-
  • literature   -[ลิท]-เทอะ-เรอะ-เชอร-  ออกเสียงลดพยางค์ได้เป็น -[ลิท]-เทรอะ-เชอร-
  • temperature  -[เทิม]-เพอะ-เรอะ-เชอร-  ออกเสียงลดพยางค์ได้เป็น -[เทิม]-เพรอะ-เชอร-
  • interest -[[อิน]]-เทอะ-[เรส]-  ออกเสียงลดพยางค์ได้เป็น -[อิน]-เทรส-
  • interested -[[อิน]]-เทอะ-[เรส]-ติด-  ออกเสียงลดพยางค์ได้เป็น -[อิน]-เทรส -ติด-
  • different -[ดิฟ]-เฟอะ-เรินท-  ออกเสียงลดพยางค์ได้เป็น -[ดิฟ]-เฟรนท-
  • chocolate  -[ช็อค]-เคอะ-เลท-  ออกเสียงลดพยางค์ได้เป็น -[ช็อค]-เลท-
  • memory -[เมม]-เมอะ-รี-  ออกเสียงลดพยางค์ได้เป็น -[เมม]-รี-
  • family  -[แฟม]-เมอะ-ลี-  ออกเสียงลดพยางค์ได้เป็น -[แฟม]-ลี-
  • separate   -[เสพ]-เพอะ-เรท-  ออกเสียงลดพยางค์ได้เป็น -[เสพ]-เพรท-
  • general -[เจน]-เนอะ-เรล-  ออกเสียงลดพยางค์ได้เป็น -[เจน]-เรล-
  • vegetable  -[เฯจ]-จิท-เทอะ-เบิล-  อันนี้พยางค์ที่สองไม่ใช่เสียง เออะ แต่ก็มีลักษณะเดียวกัน คือ ออกเสียงเบา และสามารถ ออกเสียงลดพยางค์ได้เป็น -[เฯจ]-เทอะ-เบิล-

ยังมีอีกเยอะครับ แต่เอาที่นิยม ๆ กันพอหอมปากหอมคอก่อน แล้วลองไปสังเกตเพิ่มเติมเอา

 

เสียงคำวิเศษณ์ที่ลงท้ายด้วย -cally

คำอีกชุดหนึ่งที่นิยมตัดพยางค์ทิ้ง และก็พบบ่อยมาก เลยขอยกตัวอย่างแถมเป็นพิเศษ ก็คือ คำวิเศษณ์ที่ลงท้ายด้วย -cally  คำวิมีคำคุณศัพท์หลายคำที่มีรากศัพท์มาจากคำนาม แล้วเติมลงท้ายด้วย cal เช่น technical อ่านว่า -[เทค]-นิ-เคิล- พอทำเป็นคำวิเศษณ์ (adverb) ก็เติม ly เข้าไปเป็น technically แต่ให้ออกเสียงเป็น -[เทค]-นิค-ลี-  คือ เสียงพยางค์ cal ที่เป็นเสียงสระ ə  นี้หายไป เหลือแต่เสียงตัวสะกด -ค-  บางทีผมก็ได้ยินคนไทย หรือคนต่างชาติออกเสียงพยางค์นี้อยู่  ซึ่งก็ไม่ถึงกับผิด แต่มันฟังไม่เหมือนกับเจ้าของภาษาเขา แล้วแถมยังทำให้พูดยากขึ้นอีก เพราะฉะนั้น ก็ลองหัดพูดคำพวกนี้ดู  ซึ่งพบเห็นมากมาย และใช้กันทั่ว ๆ ไป  ดูตัวอย่างแล้วกันครับ เช่น

  • technically  -[เทค]-นิค-ลี-
  • physically  -[ฟี]-ซิค-ลี-
  • historically  -ฮีส-[ตอ]-ริค-ลี-
  • typically   -[ทิพ]-ปิค-ลี-
  • basically  -[เบ]-ซิค-ลี-
  • critically  -[คริ]-ติค-ลี-)

อ้อ สำหรับคำคุณศัพท์ที่ลงด้วย -al แต่ไม่ใช่ -cal หรือไม่ใช่เสียง -เคิล- นั้นให้ออกเสียงตามปกตินะครับ เช่น national -[แน]-เฉิน-เนิล-  พอเป็นคำวิเศษณ์ nationally -[แน]-เฉิน-เนิล-ลี-

แบบฝึกหัดการออกเสียงสระ ə

» ไปบทถัดไป 17. เสียงเชื่อมระหว่างคำ (Linking Sounds)    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 2 กุมภาพันธ์ 2017

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

two × four =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net