แบบฝึกหัดนี้ใช้คอมพิวเตอร์ใช้ความสามารถพิเศษของเวบเบราว์เซอร์รุ่นใหม่ ๆ ในการรับรู้เสียงพูดของคุณโดยอัตโนมัติ (Speech Recognition) เทคโนโลยีการตีความเสียงโดยอัตโนมัตินี้มีมานานแล้ว โดยมีบริษัทที่ทำเป็นซอฟท์แวร์ ได้แก่ IBM Viavoice and Dragon Naturally Speaking ต่อมา Google และ Apple ได้ให้บริการนี้โดยผ่านทางอินเตอร์เนต ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือของค่ายทั้งสอง (Android และ Iphone) อาจเคยได้ลองใช้บริการนี้โดยการสั่งงาน หรือค้นหาข้อมูลโดยใช้เสียง คุณอาจไม่รู้ว่าเสียงที่คุณพูดนั้น จะถูกส่งไปประมวลผลยังเครื่องแม่ข่ายในอินเตอร์เนตเพื่อตีความหมาย หลังจากตีความแล้วก็ส่งกลับให้เครื่องของคุณ
ในปัจจุบันนี้ เบราว์เซอร์ รุ่นใหม่ ๆ ของ Chrome, Firefox, และ Safari สามารถสังเคราะห์เสียง และ โดยเฉพาะ Chrome สามารถรับรู้เสียงพูดคุณได้ด้วย ทั้งบนคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ (Android เท่านั้น, บน iPad และ iPhone ยังใช้ไม่ได้) ซึ่งก็ได้นำมาใช้ในแบบฝึกหัดนี้ อย่างไรก็ตาม แอดมินไม่ได้ทดสอบกับเครื่องทุก ๆ ชนิด ทดสอบเป็นหลักกับ Chrome บนคอมพิวเตอร์ Desktop เท่านั้น หากผู้ใช้พบว่า ใช้ได้หรือไม่ได้ประการใด ดีหรือไม่ดี หรือ มีข้อแนะนำประการใด กรุณาช่วยบอกด้วย
ความสามารถของคอมพิวเตอร์ในการตีความหมายเสียงในขณะนี้ ถึงแม้ก้าวหน้ามามาก ก็ยังห่างไกลกับความสามารถของมนุษย์อยู่มาก ข้อจำกัดที่เห็นได้ชัด ได้แก่
- คำบางคำที่กำกวมเกินไป หรือไปคาบเกี่ยวกับคำที่มีผู้นิยมใช้มาก ระบบก็อาจจะตีความผิดเป็นคำที่คนนิยมมากกว่า แม้เราจะพูดค่อนข้างถูกก็ตาม
- การตีความหมายของวลี หรือ ประโยค (พูดหลาย ๆ คำติดกัน) ยังไม่ค่อยดีนัก บางทีต้องพูดช้า ๆ ชัด ๆ ไม่เป็นธรรมชาติ
ดังนั้น การทำแบบฝึกหัดโดยใช้เทคโนโลยีนี้จึงมีข้อจำกัดอยู่ และการจัดทำแบบฝึกหัดนี้ จึงได้พยายามหลีกเลี่ยงข้อจำกัดดังกล่าว โดยการเลือกสรรคำที่เหมาะสม และก็ยังอาจจะใช้กับการพูดเป็นประโยค หรือวลียาว ๆ ไม่ได้
คุณสามารถเลือกใช้สำเนียงอเมริกัน (US) หรือ สำเนียงอังกฤษ (UK) ได้ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการตีความเสียงบ้าง แอดมินไม่รู้สึกว่ามีความแตกต่างกันนัก แต่ก็ไม่ได้ทดลองอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก็ลองทดสอบดูนะครับ
» ไปบทถัดไป แบบฝึกหัดการออกเสียง R และ L » กลับไปที่ สารบัญ
เพิ่งแก้ไขให้ใช้ได้ อาจจะเสียมาเป็นปีแล้ว ผมทดลองใช้กับ Chrome version 53 รู้สึกว่า คุณภาพดีกว่าเมื่อสองปีก่อนที่เคยลอง แต่ก็เป็นแค่ความรู้สึกครับ เพราะจำไม่ได้ 🙂 ไว้ว่าง ๆ จะเพิ่มแบบฝึกหัดที่ยากขึ้นลองดู