เสียง th เป็นเสียงที่ไม่มีในภาษาไทยครับ และคนไทยมักไปเหมาเอาว่า เป็นเสียงเดียวกัน t หรือ -ท- ซึ่งไม่ถูกต้อง มีคำที่ th ออกเสียงเป็น -ท- เหมือนกัน แต่เป็นคำเฉพาะที่อยู่ในวงจำกัด เช่น Thailand Thomas -[ทอ]-มัส- Beethoven -[เบ]-โท-ฯัน- ส่วนคำที่ทับศัพท์จากชื่อภาษาไทยไปเป็นภาษาอังกฤษทั้งหลาย เราไปบัญญัติเอาเองว่า “ท” เขียนเป็น t มั่ง th มั่ง ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องไปใส่ตัว h เข้าไป เสียง “ท” นั้นตรงกับเสียง t อยู่แล้ว ก็ไม่เป็นไรครับ เนื่องจาก เราใช้กันโดยทั่วไปแล้ว ก็ต้องตามน้ำกันไป ถ้าเจอฝรั่งเขาออกเสียงผิด เราก็ให้ความรู้เขาไปหน่อยว่าคำไทยที่สะกดด้วย th ให้ออกเสียงเหมือนตัว t ให้หมด
เสียง th แบบแรง
มาดูวิธีออกเสียง th ที่ถูกต้องกัน เสียง th นั้นมีทั้งแบบเสียงก้อง และเสียงไม่ก้อง เขียนรูปเหมือนกัน แต่ตัวอ่าน phonetics ต่างกัน ลองไปตรวจสอบในพจนานุกรมส่วนตัวดูนะครับว่าเขาใช้สัญลักษณ์อะไร เรามาดูแบบเสียงไม่ก้องกันก่อน ซึ่งผมขอแทนเสียงนี้ด้วยตัวสัญลักษณ์ -ธ- ในการเขียนคำอ่านโดยใช้อักขระไทย วิธีออกเสียง -ธ- ให้เริ่มต้นทำปากด้วยการเอาลิ้นแตะที่ปลายฟันบน เอาฟันบนและฟันล่างประกบลิ้นไว้หลวม ๆ ให้ปลายลิ้นยื่นออกมาจากฟันสักเล็กน้อย ไม่เกินครึ่งเซนติเมตร จากนั้นให้เปล่งเสียงออกมาโดยเผยอฟันบนขึ้นจากลิ้น และให้ลมผ่านออกมาระหว่างฟันบนกับลิ้น ก็จะมีเสียงลมเสียงสีกับฟันบนผสมอยู่ด้วยนะครับ
เอ้าอธิบายให้ง่ายกว่านั้น เอาแบบไทย ๆ อยากให้ลองผสมกับสระเออะดู เป็นเสียง -เธอะ- นะครับ ให้ลองทำปากเริ่มต้นเหมือนเดิม แล้ว
พยายามพูดคำว่า เตอะ กับ เสอะ ออกมาเทียบกันดู คือปกติเวลาเราพูดสองคำนี้ ลิ้นมันจะไม่แลบออกมาอย่างนั้น แต่ขอให้ลองบังคับปากให้เป็นตัว -ธ- แล้วพูดดู เสียง -เธอะ- มันก็จะใกล้เคียงอยู่ระหว่างสองคำนี้แหละครับ คราวนี้ก็อยู่ที่ว่าใครชอบแบบไหน ถ้าไม่ชอบเสียงซ่าเยอะก็พูดให้คล้ายเตอะ ถ้าอยากเอาเสียงซ่ามากหน่อยก็พูดให้คล้าย เสอะ ผมว่าพอใช้ได้ทั้งสองแบบ แต่ที่ดีที่สุด คือ ให้ก้ำกึ่งระหว่างสองแบบนี้ จะ 50-50 หรืออย่างไรก็แล้วแต่ชอบ เอาให้เป็นธรรมชาติตามถนัด ในส่วนตัว ผมชอบประมาณ 70-30 คือ ออกเป็นเสียง ต มากหน่อยสัก 70 %
รูปปากของเสียง th หรือ -ธ-
ลองฟัง และพูดคำเหล่านี้ดูนะครับ ฝึกให้ช่ำชองจนไม่ต้องคิดถึงว่ามันคล้าย ต หรือ ส แต่เป็นเสียงใหม่ที่เรารู้จัก
- thank -แธงค-
- think -ธิงค-
- thin -ธิน-
- thick -ธิค-
- three -ธรี-
- Thursday -[เธิรซ]-เด-
- thousand -[เธ้า]-ซึน-
- marathon -[[แม]]-เระ-[ธอน]-
- author -[ออ]-เธอระ-
- Athens -[แอ]-เธนซ-
เสียง th แบบเบา
เสียง th แบบไม่ก้องนั้น บางทีคนก็เรียกว่าเป็น th แบบแรง (strong) เพราะมันมีเสียงลมเสียงสีฟันมากกว่าอีกแบบหนึ่ง คราวนี้ลองมาดูเสียง th แบบเบา หรือแบบเสียงก้องกัน ซึ่งง่ายกว่ามากครับ ให้ทำปากเหมือนเดิม แต่ออกเป็นเสียง ด ออกมา ลองพูด เดอะ ดูแต่ให้ปากเริ่มต้มเหมือน -ธ- และไม่ต้องส่งเสียงลมเสียงสีกับฟันมากนัก จะอธิบายอีกอย่างก็คือ ให้พูดเหมือนเดอะไทย ๆ นี่แหละ แต่ตอนต้นให้แลบลิ้นออกมาจากฟันมากกว่าเดิมสักนิดหน่อย ลองพูดเทียบกันดูนะครับ คุณจะเห็นว่าสองแบบนี้คล้ายกันมาก ผมว่ามากกว่า 80 เปอร์เซนต์ ดังนั้น ก็ขออนุญาติใช้ตัว -ด- เขียนแทนเสียงนี้ ถึงแม้มันไปซ้ำกับเสียงของตัว d เพราะคิดว่าหาตัวอื่นแทนไม่ได้ หรือไม่เหมาะสม และก็เนื่องจากว่า เรามักออกเสียงนี้ผิดเป็น -ด- อยู่แล้ว แต่เป็นความผิดที่ไม่ร้ายแรงนัก ก็เอาเป็นว่า ใครจะออกเสียงเป็น -ด- ธรรมดาก็ได้ ถือว่าเป็นอังกฤษแบบสำเนียงไทย แต่ถ้าใครจะเอาให้ชัดเหมือนฝรั่ง เวลาเห็น -ด- ที่มาจาก th ก็ให้แลบลิ้นเพิ่มออกมาอีกนิดหนึ่ง ลองฟัง และพูดคำเหล่านี้ดูนะครับ ลองพูดแบบ ด ธรรมดา และ ด แบบ th เทียบกันดู
- the -ดิ- หรือ -เดอะ-
- then -เดน-
- they -เดย-
- this -ดีส-
- that -แด็ท-
- those -โดซ-
- mother -[มา]-เดอะ-
- brother -[บรา]-เดอะ-
- together -ทู-[เก]-เดอะ-
- either ออกเสียงได้สองแบบ -[อี]-เดอะ- หรือ -[ไอ]-เดอะ-
- neither เช่นกัน ออกเสียงได้สองแบบ -[นี]-เดอะ- หรือ -[ไน]-เดอะ-
เสียง th ถึงแม้ว่ามีสองแบบ และเขียนเหมือนกัน แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่มีปัญหาในการแยะแยะเท่าไรนัก เนื่องจาก เสียงทั้งสองแบบฟังแตกต่างกันชัดเจนสำหรับคนไทย และ th ที่เป็นเสียง -ด- นั้นมีอยู่ในวงค่อนข้างจำกัด ถ้าจะจำเอาก็คงไม่ยาก ในกรณีที่เป็นเสียงพยัญชนะต้น ก็เป็นคำที่เราคุ้นเคย และใช้อยู่เป็นประจำ เช่น the, then, than, there, this, that, these, those, though, they, them, their, และ thus เป็นต้น คำส่วนใหญ่ที่มีพยางค์หลังเป็น -ther ก็จะออกเสียงเป็น -เดอระ- เช่น other, another, either, neither, together, weather, whether, mother, father, และ brother เป็นต้น ก็ไม่เสมอไปนะครับ ether อ่านว่า -[อี]-เธอระ- นอกเหนือจาก สองกลุ่มนี้ เสียง th ที่เป็นพยัญชนะต้นหรือกลางในคำอื่น ๆ ก็มักจะเป็นเสียง -ธ- แทบทั้งสิ้น
เสียง th ลงท้าย
ในกรณีที่เป็นเสียงลงท้าย การออกเสียงก็มีหลักการคล้ายกับที่เราได้เห็นมาแล้วในพยัญชนะอื่น ๆ คือ หนึ่งต้องทำปากให้ถูก สองก็ออกเสียงลมตอนปลายออกมาพอได้ยินเป็น -ธึด- หรือ -เธอะ- ในกรณีที่เสียงลงท้ายเป็น -ธ- เช่น breath -เบรธ- เป็นคำนามแปลว่า ลมหายใจ เมื่อคำนี้เปลี่ยนเป็นคำกริยา breathe ออกเสียงว่า -บรีด- คราวนี้เสียงลงท้าย กลายเป็นเสียงก้อง ซึ่งก็ทำให้คำ ๆ นี้ออกเสียงยาวขึ้นหน่อย และมีเสียงเอื้อนตอนท้ายเป็น -ดึด- หรือ -เดอะ- พอได้ยิน อย่าลืมว่า เสียง -ด- จาก th ไม่เหมือนเสียง -ด- จาก d สะทีเดียว ถ้าจะเอาให้ถูกต้องเป๊ะ ก็ให้ยื่นลิ้นออกมาจากฟันมากขึ้นหน่อย
ในกรณีของ th ที่เป็นพยางค์ลงท้าย คำที่เป็นเสียง -ด- ก็ยิ่งอยู่ในวงแคบลงไปอีก มีเฉพาะในคำกริยาบางคำเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะลงท้ายด้วย the แต่ไม่ออกเสียง e เช่น
- bathe -เบด- แปลว่า อาบน้ำ มาจากคำนามว่า bath -บาธ- หรือ -แบธ- ให้ระวังว่า คำที่มาจากกริยาก็ต้องออกเสียงตามคำกริยานะครับ เช่น sun bathing อาบแดด หรือ bathing suit ชุดว่ายน้ำ ตรง bathing ต้องออกเสียงว่า -[เบ]-ดิง- ไม่ใช่ -[บา]-ธิง-
- breathe -บรีด- breathing -[บรี]-ดิง- มาจากคำนาม breath -เบรธ-
- teethe -ทีด- แปลว่า ฟันขึ้น(สำหรับเด็ก ๆ) มาจากคำนามว่า tooth -ทูธ- กับ teeth -ทีธ-
- soothe -สูด- แปลว่า ทำให้ผ่อนคลาย หรือสงบลง
- smooth -สะ-[มูด]- แปลว่า เรียบ หรือ ทำให้เรียบ
คำอื่น ๆ ที่ลงท้ายด้วย th ก็ออกเสียงเป็น -ธ- แทบทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น เห็นคำไหนที่ไม่รู้จักลงท้ายด้วย th ถ้าให้มั่วก็มั่วไว้ก่อนว่าเป็นเสียง -ธ- ครับ และว่าไปแล้วสองเสียงนี้ก็ไม่ต่างกันมากนัก ตอนเป็นเสียงลงท้าย เช่น
- both -โบธ-
- health -เฮลธ- healthy -[เฮล]-ธี-
- booth -บูธ-
- faith -เฟธ-
- north -นอรธ-
- depth -เดพธ-
- width -วิดธ-
- fourth -โฟรธ- หรือ ฟอรธ-, fifth -ฟิฟธ-, sixth -สิคสธ-, … และอื่น ๆ
- with คำนี้ได้ทั้งสองแบบ -วิธ-หรือ -วิด- ก็ได้ without ก็เป็น -วิ-[เธา]- หรือ -วิ-[เดา]- within ก็เป็น -วิ-[ธิน]- หรือ -วิ-[ดิน]- ก็ได้
» ไปบทถัดไป 13. เสียง j » กลับไปที่ สารบัญ