Wishful Thinking vs Daydreaming

สองคำนี้ความหมายคล้าย ๆ กัน แต่ไม่เหมือนกันทีเดียว เอาเรื่องไวยกรณ์ก่อน daydream เป็นคำนามก็ได้ คำกริยาก็ได้ แปลว่า ฝันกลางวัน เนื่องจากเป็นคำกริยาก็เลยมีรูปศัพท์ได้มากมาย เช่น daydreamed รูปกริยาช่องสอง daydreaming การฝันกลางวัน หรือ daydreamer แปลว่า นักฝันกลางวัน ส่วน wishful thinking นั้น เป็นคำนามเท่านั้น แปลว่า การคิดโดยมองแต่แง่ดีมากเกินไป ไม่ใช้เป็นคำกริยา ยกเว้น wishful thinker ก็พอมีใช้บ้าง

ถ้าเห็นใครคิดเหม่อลอย เรียกแล้วไม่ได้ยิน อย่างนี้ต้องเรียกว่า daydreaming ถ้าใครคิดฝันหวานว่าจะทำโน่นทำนี่ ได้โน่นได้นี่ อันนี้ก็จะเรียกว่า daydreaming ก็ได้ หรือเบาหน่อย ก็เรียกว่า wishful thinking ก็ได้ ส่วนถ้าจะอธิบายว่าใครมีความหลงผิด คิดในแง่ดีเกินไป ไม่มองความเป็นจริง ก็ควรใช้ว่า wishful thinking ไม่ใช่ daydreaming เช่น

  • I’ll quit my job, open a beauty shop, and make a million baht a year.  ฉันจะลาออกจากงาน แล้วไปเปิดร้านเสริมสวย ทำรายได้สักล้านบาทต่อปี  ถ้าเราไม่เชื่อคนพูด ก็ตอบได้ว่า That’s wishful thinking. “ฝันหวานไปแล้ว” หรือหนักกว่านั้นหน่อย ก็พูดว่า That’s daydreaming. หรือ You are daydreaming. ก็ได้ ใช้กับเพื่อน ๆ กันได้ ถ้าใช้กับคนไม่รู้จัก ก็ระวังหน่อย เพราะเหมือนเป็นการดูถูกเขา
  • They are a bunch of daydreamers.  พวกนี้มันพวกชอบฝันกลางวัน
  • The government’s economic growth projection is based on wishful thinking, not reality .  การทำนายการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ตั้งอยู่บนรากฐานของการเพื้อฝัน ไม่ได้คิดตามความเป็นจริง  อันนี้จะใช้ imagination แทน wishful thinking ก็ได้ แต่ไม่ควรใช้ daydreaming
Updated: 2 กุมภาพันธ์ 2017

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

12 − 6 =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net