Pro vs Anti

เขียนเรื่อง For or Against แล้ว ก็ทำให้นึกถึงอีกคู่หนึ่งที่คล้าย ๆ กัน คือ pro กับ anti (อ่านว่า -แอน-ไท- หรือ -แอน-ที- ก็ได้) แต่สองคำนี้ใช้เป็นคำคุณศัพท์ขยายคำนาม บางทีก็เขียนมีการขีดขั้นกลางก่อนคำนาม และค่อนข้างเป็นเรื่องการเมืองหน่อย

ที่ว่าการเมือง หรือ politics นี่ก็ ไม่จำเป็นต้อง หมายถึง เรื่องของนักการเมืองอย่างเดียวนะครับ แต่หมายถึงเรื่องที่แบ่งฝ่ายกันในสังคม มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ไม่จำเป็นถึงกับทะเลาะกัน แต่บางทีก็มีบ้าง ในระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น ถ้ามีความเห็นแบ่งฝ่ายกันสองอย่างขัดแย้งกัน แล้วมีคนสนับสนุนพอ ๆ กัน เรื่องมันก็มันจะเข้าไปถึงพรรคการเมืองครับ เพราะ นักการเมืองก็มาจากประชาชน และก็ต้องเอาใจคน โดยมากนักการเมืองก็ต้องแสดงความคิดเห็นตัวเองว่า เห็นด้วยกับฝ่ายไหน เพราะ คนเขาอยากจะเลือกคนที่คิดเหมือนเขา

เมืองไทยเราก็มักจะขัดแย้งระดับตัวบุคคล หรือพรรคการเมืองนะครับ เช่นที่ชัดเจนก็คือ pro-taksin กับ anti-taksin (ผมแกล้งสะกดผิดนะครับ เพราะเวบนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง แค่แนะนำภาษา กับวัฒนธรรมเฉย ๆ) เทียบเท่ากับอเมริกาก็ pro-obama กับ anti-obama  แต่ในอเมริกานั้น เขามีเรื่องขัดแย้งกันในเรื่องความคิด หรือ หลักการเยอะครับ เพราะฉะนั้นคำแต่ละคำพวกนี้ บางทีมีความหมายลึกซึ้ง ย้อนถึงในประวัติศาสตร์ ในวัฒนธรรม ใครอ่านข่าวใหม่ ๆ ก็อาจจะไม่เข้าใจ  เช่น คำว่า pro gun ก็ไม่ได้แปลว่า พวกชอบปืน แต่หมายถึง ฝ่ายที่เห็นด้วยกับการมีปืนในครอบครอง หรือใช้ปืนป้องกันต่อ (รัฐธรรมนูญของอเมริกันนั้นกำหนดไว้ว่า การมีปีนไว้ป้องกันตัวเป็นสิทธิ) และ พวก anti gun ก็คือ พวกที่เห็นตรงกันข้ามกับเรื่องนี้ หรืออยากให้มีกฏหมายควบคุมให้เข้มงวดกว่านี้  ลองดูตัวอย่างคำอื่น ๆ ในสังคมอเมริกันนะครับ บางคำก็ใช้ในสังคมโลกด้วย เช่น

  • pro gay vs anti gay  หรือ pro gay right vs anti gay right  พวกเห็นด้วยกับการให้สิทธิเกย์ในการแต่งงาน กับ พวกต่อต้าน
  • pro immigration vs anti immigration  พวกเห็นด้วยกับการมีกฏหมายเอื้ออำนวยกับคนเข้าประเทศขอสัญชาติ กับพวกต่อต้านไม่ชอบคนต่างชาติ หรืออยากให้มีกฏหมายเข้มงวดกว่านี้
  • pro free trade vs anti free trade  พวกเห็นด้วยกับการเปิดการค้าเสรี (กับต่างชาติ) กับพวกต่อต้าน
  • pro choice vs pro life   เรื่องนี้เกี่ยวกับกฏหมายการทำแท้งนะครับ  pro choice คือ พวกเห็นด้วยกับการให้เสรีในการทำแท้ง (ในกรณีท้องโดยไม่ต้งใจ หรือมีเหตุผลทางแพทย์) ส่วน pro life หรือ anti abortion คือ พวกต่อต้านการทำแท้ง
  • pro science vs anti science เรื่องนี้กว้างครับ บางทีหมายถึง เรื่องโลกร้อน (global warming) ก็มีพวกที่เชื่อกับไม่เชื่อ  บางทีก็หมายถึง เรื่องเชื่อว่า พระเจ้าที่สร้างโลกมีจริง หรือไม่จริง   คำว่า anti science นี้ก็ใช้เหมือนเป็นคำดูถูกกันนะครับ ว่าเป็นพวกต่อต้านวิทยาศาสตร์ เพราะฉะนั้น เราอย่าไปซี้ซั้วใช้

ก็ยังมีเยอะกว่านี้ครับ ผมแค่เล่าคร่าว ๆ อย่าไปถือว่าเป็นคำจำกัดความที่สรุปตรงเป๊ะนะครับ ใครสนใจก็ไปหาอ่านเพ่ิมเติมเอา  และก็ยังมีอีกหลายเรื่อง ที่เขาไม่ได้ใช้คำว่า pro หรือ anti เช่น พวกฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายขวา  พวก liberal หรือ conservative และอื่น ๆ   คำพวกนี้มีความหมายเฉพาะลึกซื้งในตัวมัน  ซึ่งในวัฒนธรรมการเมืองของไทยนั้น ไม่มีคำพวกนี้ ผมเรียกว่า ยังไปไม่ถึงก็แล้วกัน  ก็ไม่ได้ว่าดี หรือไม่ดีนะครับ ที่อเมริกานั้นเขาปกครองกันเองมากว่า 220 ปี  ส่วนของไทยเราสัก 80 ปี และขึ้น ๆ ลง ๆ  ของเขาก็ขึ้น ๆ ลง ๆ เหมือนกันในตอนแรก ๆ ประเด็นของผม หรือข้อสังเกตของผมในที่นี้ก็คือ ระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยนั้น เนื่องจากคนมีความคิดไม่เหมือนกัน ความขัดแย้งก็มีเป็นธรรมดา คำพวกนี้ที่ใช้แบ่งแยกความคิดกัน แยกพวกกัน ก็เกิดขึ้นอย่างมากมายเป็นธรรมดา

ความขัดแย้งทางความคิดนี้ จริง ๆ แล้วคนตะวันตกส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องไม่ดีนะครับ แนวคิดคือว่า ประชาธิปไตยนั้นไม่ได้เอาไว้แก้ไขไม่ให้มีความขัดแย้ง  แต่เอาไว้บริหารความขัดแย้ง  ว่าขัดแย้งแล้วก็ยังอยู่ด้วยกันได้ ทำงานกันได้  จริง ๆ แล้วเป็นเรื่องดีที่คนเห็นไม่ตรงกัน จะได้คัดคานกัน  ที่เขามองว่าไม่ดี คือ การขัดแย้งจนไม่สามารถทำงานอะไรกันไม่ได้ หรือขัดแย้งแล้วสร้างความรุนแรง หรือทำผิดกฏหมาย ซึ่งเขาก็มีปัญหาทั้งสองแบบนี้กันอยู่เนือง ๆ เหมือนกันดังที่ได้เห็นกันในข่าว ของใครดีไม่ดีก็คิดกันเอาเองนะครับ  ว่าจะพูดแต่เรื่องภาษา ก็ไปเข้าการเมืองหน่อยจนได้ ขออภัยครับ

Updated: 23 กุมภาพันธ์ 2015

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

19 − 12 =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net