13. เสียง j

เสียง j ก็แทนด้วยเสียง -จ- ในภาษาไทยปกตินะครับ  เสียงนี้เราไม่มีปัญหาฟังไม่ออก หรือพูดตามไม่ได้  แต่ปัญหาของเสียง j ก็มีอยู่บ้างในบางคำ เนื่องจาก เสียงไม่ตรงกับรูป  และคนไทยก็ไปใช้พูดทับศัพท์มาแบบผิด ๆ บ้าง ทำให้เวลาไปพูดภาษาอังกฤษก็ใช้แบบผิด ๆ ตามที่พูดในภาษาไทย  เป็นการออกเสียงผิดโดยไม่จำเป็น ถึงแม้จะไม่ค่อยร้ายแรงนักก็ตาม   ตอนนี้ผมก็จะแนะนำบางคำที่เคยได้พบเห็น  ก็ขอให้ผู้อ่านลองไปสังเกตเพิ่มเติมกันเอง คิดว่ายังมีอีกเยอะ

 

คำเสียง j ที่คนไทยมักออกเสียงผิด

เสียง -จ- ที่เป็นอักษรต้นนั้นพบเห็นได้ในรูปที่เป็นตัว j ก็มี เช่น job -จอบ-  ตัว g ก็มี เช่น generate -[เจน]-เนอะ-เรท-  ก็ต้องสังเกต และสร้างความคุ้นเคยเอง เพราะ ตัว g บางตัวก็ออกเป็น -ก- แต่บางตัวก็ออกเป็น -จ-  ลองดูคำที่เรามักพูดผิด เช่น

  • jeans -จีนซ-    การเกงยีนส์นี่แหละครับ  อย่าลืมออกเสียงเป็น -จ-
  • gene  -จีน-  พันธุกรรมที่เราทับศัพท์ว่า ยีน ก็เช่นเดียวกันต้องออกเสียง -จ-    ส่วน genetic แปลว่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม ออกเสียงว่า -เจน-[เน]-ติค-
  • jam  -แจม-  แยมทาขนมปังนี่แหละครับ ต้องออกเสียง -จ-
  • jelly  -[เจล]-ลี-  เราทับศัพท์ว่า เยลลี  ต้องออกเสียง -จ- เช่นกัน
  • giraffe  -จี-[แรฟ]- หรือ -จี-[ราฟ]-  ไม่ใช่ ยีราฟ
  • German  -[เจอร]-มัน-  เช่นเดียวกัน อย่าไปเรียกชื่อประเทศเขาผิดโดยไม่จำเป็น   หมายเหตุนิดหนึ่งคือ คำว่า German เป็นคำคุณศัพท์ หรือคำนามที่หมายถึง ภาษา หรือคนเยอรมัน  ถ้าจะพูดถึงประเทศเยอรมัน ต้องใช้คำว่า Germany -[เจอร]-มัน-นี-

คำที่สะกดด้วยตัว d บางคำก็ออกเสียงเป็น -จ- ได้เหมือนกัน   โดยมากก็มันเป็น d ที่ตามด้วย u แต่อย่าไปจำเป็นกฎตายตัวนะครับ จำเป็นคำ ๆ ไปที่ใช้บ่อย ๆ ดีกว่า เช่น

  • education -[เอ็ด]-จู-[[เค]]-ฉัน-   ไม่ใช่ เอ็ดยูเคชั่น ที่บางคนทับศัพท์เอา
  • module  -[มอ]-จูล-   ไม่ใช่ โมดูล  เคยได้ยินคนอินเดียบางคนใช้ตัว -ด- ก็คงอนุโลมได้ แต่คิดว่าเราออกเสียงตามฝรั่งโดยใช้ -จ- จะดีกว่า  คำที่มาจากรากศัพท์คำนี้ก็เช่นเดียวกัน เช่น  modular -[มอ]-จู-ล่า-, modulate -[มอ]-จู-เลท-, modulation -[มอ]-จู-[[เล]]-ฉัน- เป็นต้น
  • schedule   คำนี้คนอเมริกันอ่านว่า  -สะ-[เก็จ]-จูอล-  คนอังกฤษอ่านว่า  -[เฉด]-จูอล-
  • soldier  -[โซล]-เจอระ-
  • individual  -[อิน]-ดิ-[[ฯิจ]]-จูอล-
  • residual    -ริ-[ซี]-จูอล-

 

เสียง j ลงท้าย

เสียง -จ- ลงท้าย เช่น คำว่า page -เพจ- ก็ให้ออกเสียงเอื้อนตอนท้ายว่า เจอะ พอได้ยิน  เสียง -จ- เป็นเสียงคอ ที่ไม่มีเสียงลมที่เป็นคู่  จะใกล้เคียงที่สุดก็กับเสียง -ช-  หรือ ch เพราะฉะนั้น เป็นเสียงที่เด่นทั้งเสียงคอ และเสียงลม  เวลาพูด -เพจ- จะออกเสียงคล้ายกับพูดว่า -เพจ-เจอะ- ฟังเหมือนสองพยางค์ เป็นพยางค์เล็ก ๆ ตอนท้ายก็ได้   คำที่ลงท้ายด้วย  -จ- ส่วนใหญ่ก็สะกดด้วย ge แทบทั้งนั้นนะครับ ลองฝึกดูให้ช่ำชอง เช่น

  • page  -เพจ-
  • George  -จอรจ-
  • garage  -กา-[ราจ]-
  • salvage  -[เสาว]-เวจ-
  • charge  -ชารจ-
  • huge   -ฮยูจ-  หรือ  -ฮิวจ-
  • cage  -เคจ-

» ไปบทถัดไป 14. เสียง n, m, และ ng    » กลับไปที่ สารบัญ

Updated: 25 มีนาคม 2014

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *

19 + 7 =

Copyright © 2013-2024 betterenglishforthai.net